การดูจิต
โดย oom  3 มี.ค. 2551
หัวข้อหมายเลข 7674

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๑ ได้ไปทำบุญที่ชลบุรี มีพระอาจารย์สอนเรื่องการดูจิต ให้ตามรู้อาการของจิตว่ามีลักษณะอาการอย่างไร เช่น จิตตอนนี้เกิดโลภะ เกิดโทสะ ก็ให้รู้ตามอาการที่เกิดขึ้น มีผู้ไปปฏิบัติค่อนข้างมาก ซึ่งดูแล้วการปฏิบัติเหมือนการเจริญสติที่อาจารย์สุจินต์สอน ไม่ทราบว่าดิฉันเข้าใจถูกหรือไม่ การดูจิตเป็นวิธีการปฏิบัติที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่



ความคิดเห็น 1    โดย ajarnkruo  วันที่ 3 มี.ค. 2551

การอบรมเจริญสติที่ท่าน อ. สุจินต์ได้เมตตาพร่ำสอน ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎกนั้น ท่านมีจุดประสงค์สำคัญคือเพื่อที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ฟังได้เกิดความเข้าใจในความเป็นธรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป และละเอียดขึ้นตามลำดับขั้น เมื่อมีความเข้าใจในธรรมมั่นคงมากยิ่งขึ้นแล้ว ปัญญาที่เจริญขึ้นก็จะค่อยๆ ถ่ายถอนความไม่รู้และความเห็นผิดว่ามีตัวตนที่สามารถไปเจริญสติได้ตามกำลังของปัญญาที่สะสม โดยมีความเห็นถูกต้องว่าถ้ามีปัจจัยพอ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหนก็ตาม สติก็เกิดได้ในขณะที่เป็นปกติ ซึ่งถ้าเราได้ฟังธรรมที่ท่านแสดงบ่อยๆ ลองสังเกตได้ครับว่าท่านกรุณาเตือนให้เราได้พิจารณาอยู่เสมอในสิ่งที่เราจะทำ ว่าคืออะไร แล้วเป็นเราที่ทำ จะทำได้ไหม แล้วที่ "เป็นเรา" ถูกไหม

คำถามเหล่านี้ได้ช่วยให้ผู้ฟังคิดและใคร่ครวญหาเหตุผลที่ถูกต้องตามได้ในที่สุด ซึ่งถ้าเราเป็นผู้ตรงและไม่เข้าข้างความคิดเห็นที่ตนยังไม่แน่ใจในคำตอบจนเกินไป ประโยชน์ที่ได้จากการคิดและพิจารณาตามนี้ ย่อมจะพัฒนาเป็นความเข้าใจที่ภายหลังจะเป็นเครื่องช่วยตัดปัญหาหรือข้อสงสัยเรื่องการไปปฏิบัติธรรมตามสถานที่หรือสำนักต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นครับ

คลิกฟังจากท่าน อ. สุจินต์ที่นี่ครับ -->

จรดกระดูกแม้ข้อความสั้นๆ


ความคิดเห็น 2    โดย pornpaon  วันที่ 3 มี.ค. 2551

ฟังท่าน อ. สุจินต์มาดีแล้ว ก็ขอให้ฟังอีกบ่อยๆ ฟังอีกมากๆ นะคะคุณอุ้ม เพิ่มเติมจากเรื่องที่อาจารย์ครูโอแนะนำให้ฟังแล้ว อยากแนะให้ลองเปิดฟังที่ ฟังธรรม (อยู่หน้าแรกของเว็บนี้) ด้วยค่ะ มีหลากหลายที่น่าสนใจ เช่น เริ่มด้วยความเข้าใจ รู้เรื่องปฏิบัติ สมถภาวนา สติปัฏฐาน


ความคิดเห็น 3    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 3 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

คำเดียวสั้นๆ แต่มีความหมายคนละแนวทาง ก็ไม่พ้นไปจากความต้องการอย่างละเอียด คือการจดจ้อง ซึ่งเราต้องมีความเข้าใจพื้นฐานแม้ขั้นฟังเสียก่อนว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เขาจะเกิด ที่พูดกันว่า ดูจิต เขาย่อมหมายถึงสติเจตสิก แต่เราไม่ควรลืมว่าไม่มีใครบังคับบัญชาให้สติเกิดตามใจชอบได้ ถ้าตามดูจิตได้ สติก็คงจะเกิดบ่อยมาก คงบรรลุได้เร็ว สุญญสูตรก็แสดงไว้แล้วว่า ว่างจากตน ตัวตน เป็นเพียงธรรม จึงไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับตามดูจิต แล้วใครจะไปตามดูจิตได้ ทุกอย่างเกิดจากเหตุปัจจัย ครับ

อีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดในการเจริญสติปัฏฐาน สติต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ของสติ มีลักษณะให้สติระลึก นั่นคือ นามธรรมและรูปธรรม แต่ขณะที่ดูจิต ที่กล่าวกันนั้น ขณะที่สภาพธรรมเกิดก็ตามดู แต่ไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วขณะนั้นคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ซึ่งขณะที่คิดนึก ขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ยกตัวอย่าง ขณะที่เห็นก็คิดนึกว่าขณะนี้เห็นเป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งขณะที่คิดอย่างนั้น เราก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ เป็นแต่เพียงคิดนึกถึงสภาพธรรมที่ดับไปแล้วครับ คิดนึกจึงไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐานครับ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าไม่ศึกษาอภิธรรมให้สอดคล้องกับสติปัฏฐานจะหลงทางได้ง่าย

อนุโมทนาครับ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่ ...

วิธีการดูจิตเป็นทางลัดรึเปล่าครับ

การดูจิต

ตามดูจิตหมายความว่าอย่างไร

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 3 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนาท่านกัลยาณมิตรทั้งสามท่านครับ


ความคิดเห็น 5    โดย wirat.k  วันที่ 4 มี.ค. 2551

เป็นเรื่องยากมากนะครับที่จะพอเข้าใจว่า ธรรมแต่ละชนิดปฏิบัติกิจของธรรมแต่ละหน้าที่ของเขาเอง โดยไม่มีตัวตน สัตว์ บุคคลที่ไหนจะเป็นผู้ไปปฏิบัติอะไร แต่ความจริงก็คือความจริง ธรรมหรือธาตุแต่ละชนิดต่างปฏิบัติกิจของตนตามเหตุปัจจัย เป็นเพียงรูปและนามเกิดดับสลับกันไป

ขออนุโมทนาทั้ง ๓ ท่านที่เกื้อกูลความเห็นถูก และขอให้กำลังใจท่านผู้ตั้งกระทู้ให้ค่อยๆ ศึกษา ปัญญาความเห็นถูกจะเจริญขึ้นก็ด้วยการฟัง การพิจารณา และการอบรม เริ่มจากเข้าใจขั้นการฟังให้เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยก่อนนะครับ ขออนุโมทนา

บุญเก่าปฏิบัติกิจชักพาท่านมาพบเจอผู้ที่นำพระธรรมคำสอนมาเผยแพร่ให้ท่านได้รับฟังแล้ว ต่อไปก็เป็นกิจของธรรมประเภทต่อไปที่จะพิจารณาไตร่ตรองว่าถูกผิด มีเหตุผลหรือไม่อย่างไร เป็นไปเพื่อการละหรือเพื่อการได้ ตรงตามหลักฐานคือพระไตรปิฎกหรือไม่ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างปฏิบัติกิจของสภาพธรรมนั้นๆ


ความคิดเห็น 6    โดย oom  วันที่ 4 มี.ค. 2551

ที่ได้ฟังการสอนของพระอาจารย์ ท่านสอนว่า ให้พิจารณาเห็นจิตในจิต คือ จิตมีราคะก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ จิตปราศจาราคะก็รู้ชัดว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะก็รู้ชัดว่าจิตมีโทสะ ไม่ให้ไปจดจ้องหรือบังคับ ให้ตามรู้ตามธรรมชาติที่เกิดขึ้น ซึ่งดิฉันฟังแล้วก็เข้าใจเพราะฟังธรรมจากท่าน อ. สุจินต์เป็นประจำ ดิฉันฟังการสอนของพระอาจารย์ท่านนี้ ท่านสอนเหมือนที่ อ. สุจินต์สอน ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะที่ไม่ได้เล่าให้ฟัง คือฟังแล้วเข้าใจในธรรมที่ท่านสอน ท่านก็เน้นให้เรามีชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวัน ให้รู้รูปนามตามความเป็นจริง


ความคิดเห็น 7    โดย Pararawee  วันที่ 4 มี.ค. 2551

แล้วการดูจิตนี่คือการบังคับหรือเปล่า ซึ่งถ้าไปบังคับนี่ก็ผิดเลยใช่ป่ะคะ


ความคิดเห็น 8    โดย oom  วันที่ 4 มี.ค. 2551

ไม่ได้บังคับหรือพยายามจะดู แต่รู้ตามความเป็นจริง คือไม่ได้ดูจิตตลอดเวลา แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้ากายเคลื่อนไหว ก็มารู้ที่อาการเคลื่อนไหวของกาย ไม่ได้ดูแต่จิตอย่างเดียว คือรับรู้ทั้งกายและจิต เพียงแต่ว่ารู้ชัดอะไรก่อน ถ้ารู้ที่จิตก่อนก็ดูจิตค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 4 มี.ค. 2551

ก็เป็นการคิดนึกนั่นแหละครับ ขณะที่ดูจิต รู้ลักษณะของสภาพธรรมอย่างไรและปัญญารู้อะไร เป็นเรื่องละเอียดครับ ซึ่งเราไม่เห็นโลภะอย่างละเอียดเลย ที่สำคัญปัญญารู้อะไรขณะนั้น ย้ำอีกครั้งไม่ใช่หนทางที่ถูก


ความคิดเห็น 10    โดย ajarnkruo  วันที่ 4 มี.ค. 2551

ที่นี่สหายธรรมทุกท่านหวังดีกับคุณ oom จริงๆ ครับ แต่ความเข้าใจก็คงจะต้องค่อยๆ เจริญขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ขอให้คุณ oom ได้ฟังพระธรรมที่ถูกต้องจากท่าน อ. สุจินต์ ต่อไปนะครับ

ขออนุโมทนาในกุศลของคุณ oom อีกครั้ง เพราะน้อยคนจริงๆ ที่มาจากการปฏิบัติธรรมตามสำนักต่างๆ แล้วจะอยู่สนทนาธรรมที่นี่ได้นาน ส่วนใหญ่ผู้ที่เข้ามา ต่างก็จะยึดถือในข้อปฏิบัติที่ตนไปฝึกมาอย่างเหนียวแน่น จนไม่ยอมเปิดใจรับเวลาที่บุคคลอื่นนำข้อความที่ถูกต้องจากพระไตรปิฎกมาให้ตรวจสอบ แต่คุณ oom ยังไม่หายไปไหน ยังคงแวะเวียนเข้ามาให้ทุกคนที่นี่ได้เกื้อกูลธรรมด้วยเมตตาจิตบ่อยๆ เชื่อว่าทุกคนจริงใจและปรารถนาดีต่อคุณ oom ครับ

อนุโมทนาอีกครั้งครับ


ความคิดเห็น 11    โดย shumporn.t  วันที่ 5 มี.ค. 2551

ถ้ากายเคลื่อนไหว ก็มารู้ที่อาการเคลื่อนไหวของกาย อยากเรียนถามคุณ oom ว่ารู้กายอย่างไรคะ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย oom  วันที่ 5 มี.ค. 2551

รู้ว่ากายกำลังทำอะไร เช่น ยกมือก็รู้ว่ายกมือ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ยังไม่สามารถแยกออกเป็นธาตุทั้ง ๔ ได้ว่าเวลาเคลื่อนไหวก็ให้รู้ว่าเป็นวาโยธาตุ เพราะยังไม่สามารถแยกออกแบบนั้นได้ เพราะยังมีความเป็นตัวตนอยู่อีกมากมาย คงต้องสะสมเจริญปัญญาไปอีกนาน


ความคิดเห็น 13    โดย shumporn.t  วันที่ 5 มี.ค. 2551

โดยทั่วไป คำว่า กาย ส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นรูปร่างกายที่มีสองมือ สองขา แต่กายที่เป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนานั้น คือ การรู้สภาวธรรมที่มีอยู่จริงๆ ที่เราสมมติเรียกว่ากายนี้ ลองจับดูซิคะว่า ความจริงที่กำลังปรากฏให้รู้นั้นคืออะไร มีความแข็ง ความอ่อน มีเย็นและร้อน ตึงและไหว สภาวะที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้นและมีอยู่จริงๆ ให้พิสูจน์เพราะเป็นสัจจธรรม ธาตุดินมีลักษณะที่อ่อนและแข็ง ธาตุไฟมีลักษณะเย็นและร้อน ธาตุลมมีลักษณะตึงและไหว ส่วนธาตุน้ำนั้นไม่สามารถรู้ได้ทางกาย รู้ได้ทางใจเท่านั้น ค่อยๆ รู้สภาวธรรมที่กำลังมีให้พิจารณาในขณะนี้ ธาตุกำลังปรากฏให้ศึกษา คงต้องค่อยๆ แล้วสนทนาแลกเปลี่ยนกันอีกนะคะ


ความคิดเห็น 14    โดย oom  วันที่ 5 มี.ค. 2551

ใช่ค่ะ ดิฉันก็ศึกษาพระอภิธรรมอยู่ ว่ากายประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้โดยสัญญา คือจำ ยังไม่สามารถรู้ด้วยปัญญา คิดว่ายังคงอีกนานมากๆ กว่าจะเห็นเป็นธาตุทั้ง ๔ ได้ คงต้องฟังธรรมและศึกษาข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้มีความเห็นถูกและเข้าใจ


ความคิดเห็น 15    โดย Pararawee  วันที่ 5 มี.ค. 2551

ก็คงต้องศึกษาต่อไปนะคะ ถ้าไม่ศึกษา ก็ต้องเป็นพระอรหันต์แล้วน่ะจิ อิอิ


ความคิดเห็น 16    โดย saifon.p  วันที่ 5 มี.ค. 2551

ธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง ถ้าไม่ขาดการฟังและพิจารณาตามจะค่อยๆ เข้าใจค่ะ ที่คุณoomเล่ามาทั้งหมดนี้เป็นการจดจ้องต้องการ โลภะละเอียดนะคะ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ดูเหมือนคำสอนเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ค่ะ. ระวัง!! จะเพี้ยนไปเรื่อยๆ จนไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด

ขออนุโมทนานะคะ ที่ยังสอบถามผู้รู้และขออนุโมทนาทุกท่านที่เมตตาเกื้อกูลค่ะ


ความคิดเห็น 17    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 5 มี.ค. 2551

คงต้องฟังธรรมและศึกษาข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้มีความเห็นถูกและเข้าใจ

อยากจะแนะนำครับว่า ไม่ควรนำมาผสม ฟังหลายๆ ที่แล้วเทียบเคียงเองแล้วจะหลงทางได้ ควรเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 18    โดย oom  วันที่ 6 มี.ค. 2551

ขอบพระคุณค่ะ

ต่อไปจะศึกษาและฟังธรรมจาก อ. สุจินต์อย่างเดียวแล้วค่ะ เพื่อความเห็นที่ถูกต้อง


ความคิดเห็น 19    โดย shumporn.t  วันที่ 6 มี.ค. 2551

ผู้ว่าง่าย (เชื่อโดยมีเหตุผล ไม่มีอคติ) เป็นบุคคลที่หาได้ยากจริงๆ

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 20    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 7 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนาคุณoom ครับ นับเป็นผู้หนึ่งที่มั่นคงในการฟังและเป็นผู้ว่าง่าย (เชื่อโดยมีเหตุผล ไม่มีอคติ)

ขอให้เจริญในธรรมนะครับ


ความคิดเห็น 21    โดย wirat.k  วันที่ 8 มี.ค. 2551

ขออนุโมทนาคุณ oom ด้วยเช่นกันครับ

การฟังเพื่อพิจารณาตรวจสอบกับพระไตรปิฎกว่าถูกต้อง มีเหตุผลหรือไม่อย่างไร และที่นี่ก็มีผู้นำคำสอนจากพระไตรปิฎกมาแสดงให้ผู้มีปัญญาน้อยอย่างผมได้พอเข้าใจ เพราะเหลือวิสัยที่จะอ่านแล้วเข้าใจได้เอง ยอมรับว่าการศึกษาธรรมเป็นเรื่องยากมาก และผู้ที่จะค่อยๆ รับฟังและพิจารณา แล้วทิ้งความเข้าใจผิดเดิมๆ ไปมียากมาก คุณ oom เป็นคนหนึ่งที่แสดงความจริงใจที่จะรับฟังความเห็นจากเพื่อนๆ ที่ปรารถนาดี เพราะส่วนมากจะฟังเพื่อไปปะติดปะต่อกับการปฏิบัติตามที่ตนเชื่อถือ (เหมือนผมเองในตอนแรก) แต่เมื่อความเข้าใจถูกค่อยๆ เพิ่มขึ้น ความมั่นคงในการที่จะศึกษาแนวทางที่ถูกต้องก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ขออนุโมทนาอีกครั้งครับ


ความคิดเห็น 22    โดย oom  วันที่ 10 มี.ค. 2551

ขอบพระคุณค่ะที่ช่วยให้กำลังใจ เพราะยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองเข้าใจนั้นถูกต้องหรือไม่ บางครั้งก็กลัวว่าท่านอาจารย์ทั้งหลายที่ให้คำชี้แนะจะรำคาญว่าถามอะไรก็ไม่รู้


ความคิดเห็น 23    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 10 มี.ค. 2551

ถามเถอะ ถ้าไม่ถามก็จะไม่เข้าใจขึ้น ...

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 24    โดย oom  วันที่ 11 มี.ค. 2551

มีข้อสงสัยว่า การที่เราต้องใส่บาตรทุกวัน แต่จิตใจของเราเป็นปกติคือไม่ปิติ ไม่อิ่มเอมใจ เหมือนครั้งในอดีต ที่พอเราใส่บาตรตอนแรกๆ จะรู้สึกเป็นสุขใจ จิตใจเบิกบาน แต่มาปัจจุบันก็ทำเหมือนกัน คือใส่บาตรทุกวัน ยกเว้นเสาร์-อาทิตย์ ทำจนเป็นกิจวัตร ซึ่งการทำบุญหรือทำทานทุกครั้งดิฉันจะพิจารณาว่าทำเพื่อขัดเกลาตัวเองและเพื่อการละอกุศลต่างๆ เพราะสาเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำใจเราเป็นปกติ คือไม่สุข ไม่ทุกข์ หรือเป็นเพราะทำจนเป็นนิสัย เป็นอาจิณณกรรม ดิฉันเข้าใจถูกต้องหรือไม่


ความคิดเห็น 25    โดย แล้วเจอกัน  วันที่ 11 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

โสมนัสเวทนาอาศัยเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้น โสมนัสเวทนาเกิดได้ทั้งกุศลและอกุศล ในครั้งแรก อาจเกิดโสมนัสเวทนาได้ แต่เมื่อทำบ่อยๆ ในสิ่งนั้นก็เป็นเพียงอุเบกขาเวทนาก็ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย พิจารณาง่ายๆ เมื่อเรายังไม่เคยทานอาหารประเภทนี้เลย เมื่อทานครั้งแรก ชอบมาก โสมนัสเวทนาเกิด แต่เมื่อทานอาหารนั้นบ่อยๆ ก็เฉยๆ (อุเบกขาเวทนา) ดังนั้น เพราะความเคยชินก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ต่างกับทำครั้งแรกๆ ส่วนทำเพื่อขัดเกลานั้นหรือเพื่อละอกุศล เป็นปัญญาซึ่งกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดกับโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาก็ได้ แม้จะไม่ปิติแต่ประกอบด้วยปัญญาจึงประเสริฐกว่ากุศลที่ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา (ครั้งแรกๆ) แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญาครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 26    โดย oom  วันที่ 12 มี.ค. 2551

ดิฉันต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งหลายมากเลยที่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิบัติ ทำให้มีความเห็นถูก ซึ่งเมื่อได้อ่านข้อคิดเห็นต่างๆ จากเว็บธรรม ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจมากขึ้น ดีกว่าตอนก่อนที่ยังไม่ได้เข้ามาอ่านค่ะ


ความคิดเห็น 27    โดย วิริยะ  วันที่ 15 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ กระทู้นี้มีประโยชน์มากๆ ๆ


ความคิดเห็น 28    โดย คุณ  วันที่ 22 ม.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 29    โดย dhammanath  วันที่ 13 เม.ย. 2553

ได้อ่านความเห็นต่างๆ แล้ว ทำให้คิดว่าเรายึดติดคำที่ใช้มากไปหรือเปล่า ยิ่งไปกว่านั้น บางท่านก็ยกคำอธิบายเพิ่มเติมโดยใช้คำเพิ่มจากเดิม เป็นการทำให้เกิดมีคำถามที่ซ้อนคำถามขึ้นไปอีก กลับไปอ่านคำถามของคุณอุ้มอีกทีนะครับ "มีพระอาจารย์สอนเรื่องการดูจิต ให้ตามรู้อาการของจิตว่ามีลักษณะอาการอย่างไร เช่น จิตตอนนี้เกิดโลภะ เกิดโทสะ ก็ให้รู้ตามอาการที่เกิดขึ้น" จะเห็นว่าผู้ถาม ใช้คำว่า "การดูจิต" "มีลักษณะอาการอย่างไร" และ "ให้รู้ตามอาการที่เกิดขึ้น" เป็นไปได้ไหมท่านผู้สอนหมายถึง ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอย่างที่หลายท่านใช้ในเว็บนี้ น่าจะเปิดใจรับฟังไม่น้อย มีคำต่อมาว่า "จิตเกิดโลภะ เกิดโทสะ ก็ให้รู้ตามอาการที่เกิดขึ้น" ท่านผู้สอนหมายถึงว่าอย่างไรไม่ทราบ อยากให้พิจารณาดูให้ดี ก่อนจะตัดสินความเห็นที่ 3 (คุณแล้วเจอกัน) กล่าวว่า "ถ้าตามดูจิตได้ สติก็คงเกิดบ่อยมาก" ก่อนที่ผมจะถามคุณแล้วเจอกัน จะขอยกเอาพระพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานที่ว่าด้วยจิตตานุปัสสนา (เล่ม ๙ ข้อ ๒๘๙) มาแสดงดังต่อไปนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ ... "

คำถามของผมมีอยู่ว่า จากข้อความนี้ ท่านให้พิจารณา "จิต" (ท่านผู้สอนอาจจะใช้คำว่าดูจิต และก็แน่นอน คงไม่มีใครจะใช้ตาดู) และก็บอกว่า "ก็รู้ว่าจิตมี" และตามมาด้วยคำว่า "จิตปราศจาก ... " แสดงว่า ท่านให้พิจารณาจิตนั่นเอง (หรือดูจิตตามความหมายของท่านผู้สอนที่ใช้คำต่างออกไป) คำอธิบายของผมมีอยู่ว่า เพราะจิตอย่างเดียวโดยไม่มีองค์ประกอบคือเจตสิก จิตก็จะเหมือนกันหมด ดูไม่ออก และก็เป็นไปไม่ได้ ที่จิตจะเกิดขึ้นโดยไม่มีเจตสิกเกิดขึ้นร่วมด้วย เมื่อท่านให้พิจารณาจิต (หรือดูจิต) แต่เห็นความต่างของจิตที่องค์ประกอบหรือที่ลักษณะของจิต เพราะเหตุนี้เอง ท่านจึงใช้คำว่า "พิจารณาจิต" แต่ให้รู้ว่า "จิตมีราคะ ... จิตปราศจากราคะ" แล้วทำไมถึงว่า พิจารณาจิต (หรือตามดูจิตที่ท่านผู้สอนใช้) ไม่ได้? เพราะฉะนั้น ถ้าใช้คำว่าพิจารณาก็ควรคู่กับคำว่า รู้ ถ้าใช้คำว่าดู ก็ควรคู่กับคำว่า เห็น ถ้าจะไม่ให้ผิดนี่ ก็คงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง และก็ทำได้ยากสำหรับการพูดสดๆ

ขอเรียนให้ทราบว่า ผมไม่ได้เรียนพระอภิธรรม เพียงแต่ได้ฟังและได้อ่านมาบ้างเท่านั้นเอง ถ้าผมอยู่เมืองไทยคงได้มีโอกาสเรียนกับเขาบ้าง แต่ก็คงหมดหวังแล้วล่ะครับ เพราะเหตุปัจจัยของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อายุคงทำให้เรียนไม่ได้แล้ว ส่วนคำที่เราใช้กันเป็นประจำว่า "ระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ" นี้ อยากจะให้ท่านที่อ่านพระไตรปิฎกช่วยเอาบาลีมาลงไว้ด้วยก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นเพียงคำที่เราพยายามคิดใช้เพื่ออธิบายสื่อให้ได้ความหมายดีสุดเท่านั้นเอง นอกเหนือไปจากนี้ ผมอยากจะยกคำบาลีว่า "ปสฺส" มาให้เห็น ภาษาที่ท่านแปลออกมานะครับ คำๆ นี้ ท่านแปลว่า "เห็น" เสียเป็นส่วนมาก เช่น โย ธมฺมํ ปสฺสติ, โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา แต่บางที่ท่านกลับแปลว่า "ดู" ก็มี เช่นคำว่า เอหิปสฺสิโก แยกศัพท์ออกเป็น เอหิ แปลว่า (ท่าน) จงมา กับ ปสฺสิโก แปลว่า ดู เป็นคุณบทของพระธรรม รวมแล้วแปลว่า (พระธรรม) เป็นพระธรรมที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าจงมาดูเถิด ที่ยกมานี้ต้องการให้เห็นความต่างของคำแปลเท่านั้นเอง ในภาษาไทย คำว่า "ดู" กับคำว่า "เห็น" ก็ต่างกันแน่นอน

ขออนุโมทนาทุกๆ ความเห็นครับ


ความคิดเห็น 30    โดย เซจาน้อย  วันที่ 20 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 31    โดย one_someone  วันที่ 6 ก.ย. 2555

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 32    โดย thilda  วันที่ 22 ก.ค. 2556

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 33    โดย chatchai.k  วันที่ 6 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ