นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
พระสูตรที่จะนำมาสนทนาออนไลน์
วันเสาร์ที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๔
คือ
นวสูตร
... จาก ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๘๙
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๔๘๙
นวสูตร
ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ และผ้ากาสี ๓ ชนิด
[๕๓๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้าเปลือกไม้ แม้ใหม่ก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้กลางใหม่กลางเก่าก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก แม้เก่าแล้วก็สีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก ผ้าเปลือกไม้ที่คร่ำคร่าแล้ว เขาก็ทำเป็นผ้าเช็ดหม้อข้าวบ้าง ทิ้งเสียที่กองขยะบ้าง ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว เรากล่าวความทุศีล มีธรรมเลวนี้ ในความมีสีทรามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเหมือนผ้าเปลือกไม้ มีสีทราม ฉะนั้น
อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคม ทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งอันไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่ชนเหล่านั้น ตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคมทำตามเยี่ยงอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งอันไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ นี้ ในความมีสัมผัสหยาบของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า ดุจผ้าเปลือกไม้ มีสัมผัสหยาบ ฉะนั้น
อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของชนเหล่าใด ข้อนั้น ย่อมไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันไม่เป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาถูกของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเป็นดังผ้าเปลือกไม้มีราคาถูก ฉะนั้น
อนึ่ง ภิกษุเถระชนิดนั้น กล่าวอะไรในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็กล่าวเอาว่า “ประโยชน์อะไรด้วยถ้อยคำของท่านผู้โง่เขลา ตัวท่านก็ควรจักรู้ว่าคำใดที่ตนเองควรกล่าว” ภิกษุเถระนั้น โกรธน้อยใจ ก็จะใช้ถ้อยคำชนิดที่เป็นเหตุให้สงฆ์ลงอุกเขปนียกรรม เหมือนเขาทิ้งผ้าเปลือกไม้เก่าเสียที่กองขยะ ฉะนั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผ้ากาสี แม้ใหม่ก็สีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง แม้กลางใหม่กลางเก่า ก็สีงาม สัมผัสนิ่มและราคาแพง แม้เก่าแล้วก็สีงามสัมผัสนิ่มและราคาแพง ผ้ากาสี ถึงคร่ำคร่าแล้ว เขายังใช้เป็นผ้าห่อสิ่งที่มีค่า บ้าง เก็บไว้ในหีบ อบของหอมบ้าง ฉันใด
ฉันนั้นนั่นแหละ ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนวกะก็ดี ภิกษุมัชฌิมะก็ดี ภิกษุเถระก็ดี ถ้าเป็นผู้มีศีลมีธรรมอันดี เรากล่าวความมีศีลมีธรรมดีนี้ ในความมีสีงามของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่าเหมือนผ้ากาสีมีสีงาม ฉะนั้น
อนึ่ง ชนเหล่าใดคบหาสมาคมทำตามเยี่ยงอย่างภิกษุนั้น ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของชนเหล่านั้นตลอดกาลนาน เรากล่าวการคบหาสมาคมทำตามอย่างที่เป็นเหตุให้เกิดประโยชน์สุขนี้ ในความมีสัมผัสนิ่มของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า ดุจผ้ากาสีมีสัมผัสนิ่ม ฉะนั้น
อนึ่ง ภิกษุนั้นรับจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยเภสัชบริขารของชนเหล่าใด ข้อนั้นย่อมเป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ชนเหล่านั้น เรากล่าวการรับปัจจัยอันเป็นการมีผลานิสงส์มากแก่ทายกนี้ ในความมีราคาแพงของภิกษุ กล่าวบุคคลนี้ว่า เสมือนผ้ากาสีมีราคาแพง ฉะนั้น
อนึ่ง ภิกษุเถระ ผู้มีคุณธรรมอย่างนี้ กล่าวอะไรขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายก็พากันกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงสงบเสียงเถิด ภิกษุผู้ใหญ่จะกล่าวธรรมกล่าววินัยนี้ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกในข้อนี้ว่า เราทั้งหลาย จักเป็นอย่างผ้ากาสี ไม่เป็นอย่างผ้าเปลือกไม้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกอย่างนี้แล
จบนวสูตรที่ ๘
อรรถกถานวสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในนวสูตรที่ ๘ ดังต่อไปนี้ : ผ้าที่ตรัสว่า ใหม่ เพราะอาศัยการกระทำ. ผ้าที่ทำจากปอ ชื่อว่า โปตถกะ ผ้าที่ชื่อว่า ปานกลาง ได้แก่ ผ้ากลางเก่ากลางใหม่ เพราะใช้ ผ้าที่ชื่อว่า เก่า ได้แก่ ผ้าเก่า เพราะใช้
บทว่า อุกฺขลิปริมชฺชนํ ได้แก่ เป็นผ้าเช็ดหม้อข้าว
บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ไม่มีศีล
บทว่า ทุพฺพณฺณตายได้แก่ เพราะเป็นผู้มีผิวพรรณทราม เนื่องจากไม่มีสี คือ คุณ
บทว่า ทิฏฺฐานุคตึ อาปชฺชนฺติ ได้แก่ ภิกษุทั้งหลาย พากันทำตามอย่างที่ภิกษุนั้นทำไว้แล้ว
บทว่า น มหปฺผลํ โหติ ความว่า ไม่มีผลมาก โดยผลคือวิบาก
บทว่า น มหานิสํสํ ความว่า ไม่มีอานิสงส์มาก โดยอานิสงส์ คือ วิบาก
บทว่า อปฺปคฺฆตาย ได้แก่ เพราะการรับนั้นมีค่าน้อย โดยค่า คือ วิบาก
บทว่า กาสิกํ วตฺถํ ได้แก่ ผ้าที่ทอโดยปั่นด้ายจากฝ้าย. ก็แลผ้าชนิดนั้นเกิดขึ้นเฉพาะในแคว้นกาสี
บทที่เหลือง่ายทั้งนั้น ส่วนศีลในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้คละกันแล
จบอรรถกถานวสูตรที่ ๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
นวสูตร
(ว่าด้วยบุคคลที่เปรียบได้กับผ้าเปลือกไม้ และ ผ้ากาสี ๓ ชนิด)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง ว่า ผ้าเปลือกไม้ ไม่ว่าจะใหม่ กลางใหม่กลางเก่า หรือ เก่าแล้ว ก็ตาม ก็มีสีทราม สัมผัสหยาบ และราคาถูก เปรียบได้กับภิกษุผู้ทุศีล มีธรรมอันเลว ไม่ว่าจะเป็นพระนวกะ (อายุพรรษาต่ำกว่า ๕ พรรษา) พระมัชฌิมะ (อายุพรรษามากกว่า ๕ แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา) หรือ พระเถระ (อายุพรรษาตั้งแต่ ๑๐ พรรษา ขึ้นไป) ก็ไม่งาม ไม่ควรคบหาสมาคม ไม่มีค่า ซึ่งจะต่างจากพระภิกษุผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้งดงาม ควรคบหาสมาคมด้วย และ มีค่ามาก เปรียบเหมือนกับผ้ากาสี ไม่ว่าจะใหม่ กลางใหม่กลางเก่า หรือ เก่าแล้ว ก็ตาม ก็มีสีงาม สัมผัสนิ่ม และราคาแพง
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ภิกษุคือใคร
พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย
ความหมายของคำว่า บวช
ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะทำให้เกิดโทษ
ภิกษุต้องอาบัติ ถ้าไม่ปลงต้องตกนรกหรือไม่
พระทำผิดวินัยสงฆ์รับโทษอย่างไร
พระภิกษุก็ตกนรกได้
กรรมฐานกับสติปัฏฐาน
มหาโจร
บรรพชิต คือ ผู้สละ
ภิกษุ คือ ผู้ทำความดีในเพราะการขอ
พุทธบริษัทกับการดำรงพระธรรมวินัย
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบอนุโมทนาคับ