ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เนื่องในวันมาฆบูชา ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้จัดให้มีการสนทนาธรรม
เนื่องในโอกาสวันสำคัญนี้ เช่นกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา
มีการจัดดอกไม้บูชาพระบรมสารีริกธาตุ อย่างสวยสด งดงาม ตระการตา
ทราบว่าเป็นกุศลศรัทธา ของท่านเจ้าภาพ คือ คุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์
กลุ่มสนทนาธรรมวันพฤหัสบดี กับ คุณอนุทิน คุณจิราภรณ์ และ ครอบครัว
กราบอนุโมทนาครับ
และเช่นเคยเหมือนทุกครั้ง ที่มีการตั้งเต้นท์หน้ามูลนิธิฯ เพื่อเลี้ยงอาหารกลางวัน
สำหรับผู้เข้าร่วมฟังการสนทนา จากการเป็นเจ้าภาพอาหารของสหายธรรมหลายท่าน
ซึ่งล้วนแต่เป็นท่านเดิมๆ ที่เคยเป็นเจ้าภาพอาหารมาแล้ว และ ท่านผู้ใหม่ด้วย
ดังจะขออนุญาตบันทึกไว้ สักครั้งหนึ่ง เพื่อที่ทุกท่านจะได้ร่วมอนุโมทนา ดังนี้ครับ
๑. อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา
๒. คุณรัชนีวรรณ บุญชู ปลาทูต้มเค็ม,น้ำพริกกะปิ,ปลาทูทอด,ผักเคียงต่างๆ
๓. คุณมะลิวัลย์ รัตนประสิทธิ์ และ เพื่อน ห่อหมก ๓๐๐ ห่อ
๔. คุณสุภาวรรณ ชูสวัสดิชัย และ คุณนวลใจ ธนานุรักษากุล ข้าวต้มปลา ๒๕๐ ชาม
๕. คุณวีณา พจน์ประสาท คุณอรวรรณ เชิญรุ่งโรจน์ และ คณะฯ หมูสะเต๊ะ
๖. คุณประทีป-คุณอุไรวรรณ เนาวรุจิ สาคูปากหม้อ
๗. คุณเรือนแก้ว คุณสุจิตต์ คุณกระเช้ารัตน์ ขนมจีบกุ้ง
๘. รศ.สงบ-พลอากาศตรีหญิงกาญจนา เชื้อทอง กระเพาะปลา
๙. คุณจักรกฤษณ์ เจนเจษฎา และครอบครัว หอยทอด
๑๐. คุณหมอวิภากร พงศ์วรานนท์ กุยช่าย ๓๐๐ ชิ้น,ส้มตำ ไก่ย่าง และชา ๒ กระติก
๑๑. คุณแม่ประไพ สุรภาพเสนีย์ ไก่ย่าง ๒๐๐ ชิ้น
๑๒. คุณสดศรี สมพันธ์ ขนมจีน-แกงเขียวหวานไก่
๑๓. คุณสินีณัฐ แก้วกนก คุณภัทราภรณ์ และคุณเล็ก (ตลาดบางเขน)
ต้มแซบกระดูกหมู,ลาบหมู
๑๔. คุณบรรพต คุณนิภาภรณ์ คุณนิตยา และ เพื่อน ขนมเบื้อง
๑๕. คุณชัยยา พ.ต.ท.รักษ์ คุณโสตถิ ธัญพืชถั่ว
๑๖. คุณนภา จันทรางศุ ลอดช่องสิงค์โปร์ ๒๐๐ ขวด
๑๗. คุณแม่ออย แซ่เหล่า คุณนพรัตน์ ฤทัยรัตนาภรณ์ และคุณอรสา ยกย่อง ผลไม้
๑๘. คุณวรรณี แซ่โง้ว ไอติมแท่ง ๒๐๐ แท่ง
๑๙. คุณย่าสงวน สุจริตกุล ไอศครีม ๒ ถัง
๒๐. คุณวันชัย ปกรณ์ธนภัทร และครอบครัวยี่สมบุญ กะหรี่พัฟ ๒๐๐ ชิ้น
๒๑. คุณพัชรินทร์ สอนโกศล ขนมบ้าบิ่น ๔๐๐ ชิ้น
๒๒. คุณอนุทิน-คุณจิราภรณ์ ขนมต้ม
๒๓. คุณชุติมันต์ พานิชศักดิ์พัฒนา และครอบครัว น้ำเสาวรส,น้ำมัลเบอรี่
๒๔. คุณสิริมา จารุพาณิชย์กุล น้ำเตยหอม,น้ำอัญชัน
๒๕. คุณวันชัย ปกรณ์ธนภัทร น้ำเต้าหู้
๒๖. ชมรมพุทธศาสน์วังพญาไท ร.พ.พระมงกุฏเกล้าฯ สตรอเบอรี่โยเกิร์ต ๒ ถัง
กราบอนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ
อันดับต่อไปข้าพเจ้าขออนุญาต นำความสนทนาธรรมบางตอนมาฝากให้ทุกท่าน
ได้พิจารณานะครับ เป็นความเมตตา เกื้อกูลของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ที่ได้กล่าวถึงธรรมเพื่อเป็นเบื้องต้นของความเข้าใจจริงๆ โดยละเอียดไพเราะอย่างยิ่งดังนี้
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
อ.กุลวิไล คำถามแรก ดิฉันก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ เป็นประเด็นสนทนา
เพื่อความเข้าใจความเป็นธรรมะ ที่ชาวพุทธควรทราบ
แม้แต่คำว่า "บาป" ขณะนี้ "บาป" เมื่อไหร่? และ จะละบาป ได้เมื่อไหร่?
ก็จะกราบเรียนท่านอาจารย์ แม้แต่คำสอนว่า ไม่ทำบาปทั้งปวง
แต่ชาวพุทธทั้งหลาย รู้จักบาปแค่ไหน? กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ
ท่านอาจารย์ ค่ะ รู้จัก "ชื่อ" ได้ยิน "ชื่อ"
แต่ก็ไม่รู้จักเลย ว่า "บาป" คือ อะไร?
เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ไม่ประมาท แล้วก็ไม่ข้าม แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดด้วย
ได้ยินอย่างนี้ เมื่อเช้านี้ เราก็พูดเรื่อง "จิต" ก็ได้ยินมาแล้ว
ตอนนี้ จะมาเรื่อง "บาป" หมายความว่า เรารู้จัก "จิต" ดีหรือยัง?
หรือว่า ขณะนี้ ก็มี "จิต" แต่หยุดไว้ เรื่องจิต
ไปหาเรื่อง "บาป" ที่จะรู้
ก็ยังไม่สามารถเข้าใจ "จิต" ได้
ทุกอย่าง ไม่พ้นจาก "ธาตุรู้" ซึ่งเกิดขึ้น จึงมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ
แม้แต่คำว่า "บาป"
ปา-ปะ ในภาษาบาลี ก็เป็นคำว่า "บาป" ในภาษาไทย
ก็ได้ยิน แล้วก็ "คิดนึก" กันไปต่างๆ
แต่ว่า "รู้จัก" "เข้าใจ" คำที่ได้ยิน แค่ไหน?
นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะฉะนั้น เราก็คงจะไม่ข้ามเรื่อง "จิต"
เพราะเหตุว่า เมื่อเข้าใจจิต ก็จะมีคำว่า "บาป" ด้วย
แต่ว่า ต้องเข้าใจก่อน ว่าเราพูดเรื่องจิต ซึ่งขณะนี้ก็มีจิต
ถ้าเข้าใจจิตมากขึ้นๆ
ก็คือ เข้าใจข้อความในพระไตรปิฎกทั้งหมดได้
เมื่อกี้นี้พูดถึงความหลากหลายของจิต เตือนให้รู้ว่า เมื่อกี้นี้ เราฟังเรื่องจิต
แล้วเราก็บอกว่าลืมไป เมื่อกี้นี้ เราสนทนากันเรื่องนั้นเรื่องนี้ ตั้งหลายเรื่อง
ถ้าไม่มีจิต พูดได้ไหม? คิดได้ไหม? สนทนาเรื่องต่างๆ กันได้ไหม?
แล้วจิตที่สนทนา คุยกัน เรื่องอะไร?
"จิต" ขณะนั้น เป็นอะไร?
จึงได้คิดถึงเรื่องนั้นๆ
เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ก็แสดงให้เห็นว่า เราจะข้ามความจริง
คือ สิ่งซึ่งมี แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจอย่างถูกต้อง ชัดเจน
แต่จะเริ่มเข้าใจ เมื่อเข้าใจขึ้น
"จิต" หลากหลาย เป็นความจริง เพราะอะไร?
จิตที่จะเกิดขึ้นมาได้ โดยมีคนนั้นคนนี้ หรือ ผู้หนึ่งผู้ใดบันดาล ไม่ได้เลย
แต่ต้องมีเฉพาะสิ่งที่อาศัยกัน ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น
ก่อนที่จะเป็นเรื่อง "คิด"
ถ้า "ไม่เห็น" เลย เราจะ "คิด" ถึงสิ่งที่เห็น เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้ไหม?
ก็ไม่ได้
ถ้าไม่มี "ได้ยิน" เลย ลองคิดดู เราจะ "คิด" เรื่องอะไร?
ทั้งหมด มาจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง จำบ้าง แล้วก็รู้สิ่งที่ ได้ยิน ได้ฟัง
จนเป็น "เรื่อง"
"เป็นเรื่อง" ทุกวัน ไม่เรื่องนั้น ก็เรื่องนี้
แต่ทั้งหมด เพราะ "จิต"
ด้วยเหตุนี้ ต้องไม่ลืมว่า จิตหลากหลาย เพราะอะไร?
เพราะว่าจิตแต่ละหนึ่ง หลากหลายตามปัจจัย ที่ทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น
ยกตัวอย่างง่ายๆ ซึ่งกำลังมี ในขณะนี้
"เห็น" เพียงไม่มี ตา จักขุปสาท "รูป" พิเศษรูปหนึ่ง อยู่กลางตา
ไม่ได้อยู่ข้างหลัง ไม่ได้อยู่ที่หู แต่อยู่ตรงนี้ ที่กำลังเห็น
ถ้าไม่มี "รูป" นี้ แล้วก็ไม่มี สิ่งที่สามารถกระทบ "รูป" นี้
"จิต" จะเกิดขึ้น "เห็น" ไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น การที่สภาพธรรมะหนึ่ง สภาพธรรมะใด ซึ่งมีเดี๋ยวนี้ เพราะเกิดขึ้น
พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสรู้ ถึงปัจจัย ที่ทำให้จิตนั้นๆ หรือ สภาพนั้นๆ เกิดขึ้น เป็นไป
อย่างง่ายๆ เราก็มองเห็น ทางตาต้องมีตา สิ่งต่างๆ จึงปรากฏได้ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้
แล้วมีเรื่องของ สิ่งที่ปรากฏทางตา มากไหม?
พอ "เห็น" รูปร่าง สีสัน ต่างๆ กัน
ก็ยังไม่รู้ว่า
ถ้าไม่มีสภาพธรรมะ ที่สามารถกระทบจิต แล้วดับ แล้วดับไป ตลอดเวลา
จะไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย ทั้งสิ้น
แต่เพราะเหตุว่า มีสิ่งที่สามารถกระทบตา แล้วก็สืบต่อหลากหลาย
จึงปรากฏ เป็นสีสันต่างๆ
ถ้าจะพูดถึงเรื่อง สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้ ว่าอยู่ที่ไหน?
ก็คงจะพอเข้าใจคร่าวๆ ให้เห็นถึงความลึกซึ้งว่า
เราไม่เคยคิดเลย
เราเห็น เป็นคนนั้น คนนี้ เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้
แต่...อยู่ที่ไหน?
หาที่อยู่ได้ไหม? ในขณะที่กำลังเห็น
มีทางที่จะรู้ "ที่อยู่" ของสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ไหม? ว่าอยู่ไหน?
ไม่มีทางเลย
เพราะ "เห็น" เกิดขึ้น "เห็น" สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ อยู่ที่ไหน?
ถ้าไม่มีการฟัง การไตร่ตรอง ก็จะไม่รู้เลย
ที่ใดก็ตาม ที่ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึมซาบหรือว่าเกาะกุม
ซึ่งหมายความถึง ธาตุ ๔ ธาตุ ใช้คำว่า มหาภูตะ
"ภูตะ" คือ สิ่งที่มีจริง "มหา" นี้ ใหญ่ กว้างขวาง ทั่วไปหมด
ปราศจากรูปนี้ไม่ได้เลย รูปที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ซึมซาบเกาะกุม
๔ รูปนี้ รวมกัน ภาษาบาลีใช้คำว่า มหาภูตรูป
"รูป" คือ สภาพธรรมะที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย
ตอนต้น เรากล่าวถึงธรรมะสองอย่าง
คือ ธรรมะอย่างหนึ่ง มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้
พระผู้มีพระภาคฯ ทรงบัญญัติเรียกสิ่งนั้นว่า "รูป" (บาลีอ่านว่า รู-ปะ) หรือ "รูปธรรม"
หมายความถึง สิ่งที่มีจริงๆ นั้น รู้อะไรไม่ได้เลย
แต่ว่า มีธาตุอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากธาตุซึ่งไม่รู้
เป็น "ธาตุ" ที่เกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้
ทรงบัญญัติคำ เรียก "ธาตุ" ซึ่งเกิดขึ้น "รู้" สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ ว่า "นามธาตุ"
หมายความถึงธาตุที่เกิดขึ้น ต้องรู้ และ กำลังรู้
ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย
เรารู้ว่ามี "จิต" เพราะกำลังเห็น
แต่ "เห็น" เป็นรูปร่างอย่างไร?
ขณะที่กำลัง "ได้ยิน"
"เสียง" ปรากฏ มีธาตุ ที่กำลัง "รู้" คือ ได้ยิน เสียงนั้น
แต่ตัว "ได้ยิน" ธาตุที่ได้ยิน อาการที่ได้ยิน มีรูปร่างอย่างไร?
ก็ไม่มีเลย
เพราะฉะนั้น ก็เข้าใจความต่างกัน ของธรรมะ ตั้งแต่ต้น
คือ ธรรมะ มีมากมาย หลากหลายก็จริง แต่ถ้าประมวลแล้ว ก็เป็น ๒ ประเภท ใหญ่ๆ
คือ ประเภทหนึ่ง เกิดแล้วไม่รู้อะไรเลย อีกประเภทหนึ่ง เกิดแล้วต้องรู้
เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่ง สิ่งใดที่ปรากฏ เพราะมีธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งนั้น
เช่น "เห็น" กำลังเห็น ไม่ต้องพูดอะไรเลย ทั้งสิ้น ว่าเห็นอะไร
แต่ "สิ่งที่ปรากฏให้เห็น" ถูก "เห็น" แล้ว
เพราะ "เห็น" เกิดขึ้น "เห็น" สิ่งนั้น
ด้วยเหตุนี้ ในภาษาบาลี เราจะไม่ข้าม แต่ละคำ
เพราะว่า ต่อไป ก็คงจะมีคำภาษาบาลี เข้ามาเกี่ยวข้อง
แต่ถ้าเราเข้าใจภาษาไทย ถึงสิ่งที่มีจริงก่อน พอได้ยินภาษาบาลี เราก็เข้าใจได้
เช่น ธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ เป็น "นามธาตุ" หรือว่า เป็น "นามธรรม"
เกิดแล้ว "ต้องรู้" อย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น "คิด" เป็น "เห็น" เป็น "ได้ยิน" เป็น "จำ"
เป็น "โกรธ" เป็น "ริษยา" เป็นอะไรทั้งหมด
ไม่มีรูปร่าง แต่มีจริง
เป็นสิ่งที่เป็น "นามธรรม" หรือ "นามธาตุ"
ที่เกิดขึ้น แล้วต้องเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป
ไม่ใช่ใครเลย
แต่สามารถที่จะกล่าวถึง คนที่กำลัง "ริษยา" ว่าเป็นคน "ไม่ดี"
เพราะเหตุว่า ธาตุนั้น เกิดขึ้นเป็นธาตุไม่ดี
จะบอกว่าดี ได้อย่างไร?
แต่เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ใครเลย
แต่เป็น "ลักษณะ" ของ "สิ่งที่มีจริง" ซึ่งแกิดขึ้น เป็นอย่างนั้น
ก็เรียกบุคคล ที่มีสภาพนั้นเกิด ในขณะนั้น ว่าเป็นคนอย่างนั้น
นี่ก็คือ "ธรรมะ" ซึ่งจะต้องเข้าใจ ตามลำดับขั้น
ด้วยเหตุนี้
เมื่อมี "ธาตุรู้" ต้องมีสิ่งที่ "ถูกรู้"
มีแต่ธาตุรู้ ไม่มีสิ่งที่ถูกธาตุนั้นรู้ ได้ไหม?
เมื่อ "จิต" เป็น "ธาตุรู้" ต้องมี สิ่งที่จิตนั้นรู้ เฉพาะจิตนั้น ขณะนั้น
เช่น ขณะที่ "ได้ยิน" จิตได้ยิน ต้องมี "เสียง" ถูก "จิตได้ยิน" รู้
คือ ได้ยิน เสียงนั้น
เวลาที่มี "กลิ่น" ปรากฏ กลิ่นปรากฏไม่ได้ ว่ามีกลิ่นนั้น เป็นอย่างนั้น
ต่อเมื่อใด "จิต" เกิดขึ้น "รู้" กลิ่นนั้น
ขณะนั้น "กลิ่น" ที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมณะ หรือ อารัมภณะ
แต่คนไทยจะตัดสั้นๆ เป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้น เมื่อมีธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เมื่อธาตุรู้ คือ จิต เกิดขึ้นรู้
ก็ต้องมี "อารมณ์" คือ "สิ่งที่จิตรู้"
นี่คือ "เบื้องต้น"
ก่อนจะไปถึง บาป หรืออะไรต่างๆ อีกมากมาย ในพระไตรปิฎก
แต่ต้องมีพื้นฐาน ของการที่จะรู้ความจริง ว่า
เวลาที่มี สิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็เข้าใจคำนั้น
พระผู้มีพระภาคฯ ทรงตรัสเรียกคำนั้น ว่าอย่างไร?
ภาษาไทย ใช้คำภาษาบาลีมาก
แต่ว่า ไม่ได้เข้าใจความหมายที่แท้จริง ที่ใช้ในทางพระพุทธศาสนาเลย
คิดเอาเอง
เช่น วันนี้ อารมณดีไม๊คะ? คนไทยตอบได้เลย ใช่ไม๊คะ?
โดยไม่รู้ว่า "อารมณ์" คือ อะไร? แต่ตอบได้
ถ้าถามว่า วันนี้ อารมณ์ดีไหม?
ตอบเลย ดี หรือ ไม่ดี คะ?
แต่ไม่รู้ว่า อารมณ์ คือ อะไร?
แต่ว่า ตามความเป็นจริง
อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้
ถ้าจิตเห็นสิ่งที่ดีๆ จะโกรธไหม? จะไม่ชอบไหม?
ถ้าได้ยินเสียงเพราะๆ หรือ คำชมเชย ได้กลิ่นหอม ได้รสอร่อย
กระทบสัมผัส สิ่งซึ่งสบายดี ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เดือดร้อน
ขณะนั้น คนไทยก็บอกว่า วันนี้ อารมณ์ดี
เพราะ เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี
ก็เลยบอกว่า วันนี้อารมณ์ดี
ลองไม่ดีสิคะ อารมณ์วันนั้น จิตจะเป็นอย่างไร?
ขุ่นเคือง ไม่สบาย แล้วก็บอกว่า วันนี้ อารมณ์ไม่ดี
แต่ต้องรู้ว่า อารมณ์ หมายความถึง สิ่งที่จิตรู้ เฉพาะ สิ่งที่จิตรู้เท่านั้น
สิ่งอื่น แม้มี แต่ถ้าจิตไม่รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้น ไม่ใช่อารมณ์
เพราะฉะนั้น เมื่อมีธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้
ซึ่งภาษาบาลี ใช้คำว่า อารัมณะ หรือ อารัมภณะ
ต่อไปนี้ วันไหนรู้สึกอารมณ์ดี รู้เลย ทำไมอารมณ์ดี เพราะอะไร?
ถ้าไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่ได้กลิ่นอะไร ไม่ลิ้มรสอะไร ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
ไม่คิดนึก ไม่ปรากฏเลย ดีหรือไม่ดี ก็ไม่ปรากฏ
แต่พอมี สิ่งที่น่าพอใจเกิดขึ้น ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง
ขณะนั้น เพราะ จิตรู้สิ่งที่ดี
คนไทยก็บอกว่า อารมณ์ดี
แต่อารมณ์ ต้องหมายความถึง สิ่งที่จิตรู้
เฉพาะสิ่งนั้น สิ่งเดียวด้วย
ถ้าขณะนี้ "แข็ง" กำลังปรากฏ
มีจริงๆ หรือเปล่าคะ? "แข็ง" หรือต้องไปนึกว่า แข็ง
ไม่ต้องนึกก็ "แข็ง" ไม่ต้องเรียกก็ "แข็ง"
"แข็ง" มีจริงๆ
ปรากฏ กับ "จิต" ที่กำลังรู้ แข็ง
เพราะฉะนั้น "จิต" รู้ "อารมณ์" ที่เป็น "แข็ง"
"แข็ง" เป็น "อารมณ์" ของจิต ที่กำลัง "รู้แข็ง"
ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ได้ยิน
แต่
"รู้แข็ง"
เพราะฉะนั้น จิตหลากหลาย เพราะสภาพธรรมะที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เป็นปัจจัย
ถ้าที่ตัว ไม่มีกายปสาท กระทบอะไร ก็ไม่อ่อน ไม่แข็ง
จะเกิดความทุกข์ ความสุข ได้ไหม?
ก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ทั้งหมด ก็คือ ธรรมะ จริงๆ
จนกว่าจะเข้าใจละเอียดขึ้น ว่า
ไม่มีใคร สามารถที่จะบันดาล หรือ ทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เกิดขึ้น
แต่ สามารถเข้าใจถูกต้อง ว่าสิ่งนั้น มีจริง
เกิดแล้ว หมดแล้ว
ไม่ใช่ของใคร และ ไม่ใช่ของเรา
ตั้งแต่เกิด จนถึงเดี๋ยวนี้ เราเกิดมา เป็นเด็ก
หายไปไหน? เด็กคนนั้น
เมื่อวานนี้ ก็หายไปหมดแล้ว
วันนี้ ก็กำลังจะค่อยๆ หมดไป จนกว่าจะถึงวันพรุ่งนี้
ซึ่งพรุ่งนี้ ก็ไม่ใช่วันนี้เลย
เพราะฉะนั้น ใครจะหยุดยั้ง การเกิดดับ สืบต่อของจิต ไม่ได้เลย
จิตจะต้องเป็นอย่างนี้ คือ
เมื่อจิตขณะหนึ่งดับไป เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไป เกิดสืบต่อ ทันที
ไม่มีระหว่างคั่นเลย
เพราะฉะนั้น จึงเหมือนว่า ไม่มีการเกิดดับ
ตั้งแต่เด็กมา เกิดมา ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จนถึงวันนี้ แล้วก็ ต่อๆ ไป
แต่ก็ เพราะว่า มีสภาพสิ่งที่มีจริง ซึ่งเกิดดับสืบต่อ
เพราะฉะนั้น เกิดมา ด้วยความไม่รู้ จากโลกนี้ไป ด้วยความไม่รู้
แล้วก็ชาติต่อไป ก็ไม่รู้
แล้วก็จากชาติต่อไป ก็ไม่รู้ เหมือนที่แล้วมา
แต่ว่า เมื่อไหร่ ชาติไหน ที่มีโอกาสจะได้เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีจริง
ก็จะค่อยๆ สะสม
เหมือนพระสาวกทั้งหลายในอดีต ท่านก็มาจาก ไม่เคยเข้าใจสิ่งที่มี
จนกระทั่ง ได้ฟังพระธรรม จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง พระองค์ใด
เข้าใจขึ้น ค่อยๆ สะสม
แม้แต่ สุเมธดาบส ซึ่งต่อมา หลังจากสี่อสงไขย แสนกัปป์
ก็ได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้
ก็ได้เคยฟังพระธรรมมาแล้ว จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์
ไม่ต้องคำนึงถึงกาลเวลาเลย
ขอให้เป็นผู้ที่ตรงว่า
ขณะนี้ "ฟัง" ให้เข้าใจความจริง ของสิ่งที่มีจริง
เพราะว่า เป็นโอกาสที่หายาก ที่จะมีโอกาสได้ฟัง สิ่งที่มีจริง
ถ้าเป็นคนที่ บ้า ใบ้ บอด หนวก หรือว่า เป็นจิ้งจก ตุ๊กแก
ก็ได้ยินแสียงเหมือนกัน
แต่ไม่มีทางที่จะได้ "เข้าใจ" คำที่ได้ยินเลย
เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า เป็นขณะที่หายาก ที่สามารถที่จะ สะสมอริยทรัพย์
เพราะว่า ทรัพย์อื่น แม้มากเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถจะติดตามไปได้เลย
แม้ร่างกาย ที่เคยเข้าใจว่า "เป็นเรา"
เพียงจิตขณะสุดท้าย เกิดแล้วดับไป ร่างกายนี้ก็ทำอะไรไม่ได้เลย
ที่เคยพูด เคยคิด เคยทำ ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เลยทั้งสิ้น
เพราะ ไม่มีจิต
เพราะฉะนั้น "เริ่มเข้าใจจิต" แล้วใช่ไม๊คะ?
ไม่ใช่รูป แต่ว่า ในภูมิที่มีรูป จิตจะเกิดนอกรูป ไม่ได้เลย
จิต แต่ละจิต จะต้องอาศัยเกิดที่รูป
นี่ก็คือ ความละเอียดยิ่งขึ้น ที่จะทำให้เข้าใจ ความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน
เป็นแต่เพียง สิ่งที่ต้องเกิด เมื่อมีปัจจัย ก็ทำให้เกิดขึ้น
เช่น เดี๋ยวนี้ ต้องเกิดแล้ว ไม่เกิดไม่ได้ ต้องเห็นแล้ว ไม่เห็นไม่ได้
ต้องคิดแล้ว ไม่คิดไม่ได้ ตามเหตุตามปัจจัย
เพราะฉะนั้น แม้แต่การคิด ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา
คิดถูก คิดผิด หรือว่า เข้าใจ ไม่เข้าใจ
ก็เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ สภาพธรรมะใดๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์
ทั้งหมด เป็น "บาป"
แต่สภาพธรรมะใด ที่เป็นประโยชน์ มีประโยชน์
เช่น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก
ไม่ใช่บาป แน่นอน
ด้วยเหตุนี้ แต่ละคำ กว่าเราจะเข้าใจ ว่าที่จิตหลากหลาย
เพราะเหตุว่า มีสภาพธรรมะ อีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นปัจจัย ให้จิตเกิดขึ้น
อาศัยกันและกัน เกิดขึ้น
แต่สภาพธรรมะ ที่เป็นปัจจัยให้จิตเกิด มีต่างกันถึง ๕๒ ประเภท
ใช้คำว่า เจตสิกกะ ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทย จะเรียกสั้นๆ ว่า "เจตสิก"
ที่ได้ยินทั้งหมด "โกรธ" มีไหม? ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต ไม่ได้เกิดที่อื่นเลย
สภาพธรรมะใด ที่ไม่ใช่รูปธรรม ที่เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต
จิตรู้อะไร มีอารมณ์อะไร สภาพนั้น ก็รู้อารมณ์นั้นด้วย
เพราะฉะนั้น ลักษณะของสภาพธรรมะ อีกประการหนึ่ง ซึ่งอาศัยจิตเกิดขึ้น
และ จิตก็ต้องอาศัยสภาพนั้นเกิดขึ้นด้วย ถ้าไม่มีสภาพนั้น จิตก็เกิดไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ ธรรมะทั้งหมด ที่เกิด ต้องอาศัยปัจจัย ทำให้เกิดขึ้น
จิตต้องเกิดพร้อม "นามธาตุ" อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้คำว่า "เจตสิก"
เป็นสภาพธรรมะที่เกิดกับจิต เกิดในจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต
และในภูมิที่มีรูปด้วย จิตเกิดที่รูปไหน เจตสิกที่เกิดกับจิต อยู่ในจิตเลย เกิดที่นั่นด้วย
ทั้งหมดนี้ คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน
อาศัยที่เดียวกันเกิดขึ้น เป็น "เจตสิก"
ค่อยๆ เข้าใจ "จิต" อีก
ทั้งหมด คือเรื่อง จิต
แต่จะเพิ่ม "ทีละคำๆ " ให้เข้าใจจิตขึ้น เช่น อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้
และ เจตสิก ที่เกิดกับจิต ก็หลากหลาย
ทำให้จิต หลากหลาย เป็นประเภทต่างๆ ก็เพราะ เจตสิก ที่เกิดร่วมด้วย
หรือ เพราะอารมณ์ที่จิตรู้ ก็แล้วแต่ ก็มีหลายเหตุ ที่ทำให้จิต หลากหลายต่างกันไป
แต่จิตหนึ่งขณะ ที่มีปัจจัยเกิดขึ้น ดับแล้ว ไม่กลับมาอีกเลย
เมื่อมีเหตุให้เกิด ก็เกิด
แล้วจะเป็นคนโน้น ไม่เป็นคนนี้ ก็ไม่ได้
ตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมา ที่จะเป็น แต่ละหนึ่ง
แล้วก็มีการกระทำ
เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง คิดบ้าง อะไรบ้าง ทั้งหมด ที่เป็นชีวิตประจำวัน
สะสม ทำให้เป็น ฝ่ายบุญ และ ฝ่ายบาป
ถ้า ปาป (อ่านว่า ปา-ปะ = บาป) ก็หมายถึง เจตสิกที่ไม่ดี
และ ถ้าเป็นปุญญ (อ่านว่า ปุน-ยะ = บุญ) ก็หมายความถึง เจตสิกที่ไม่เป็นโทษ
แล้วก็ ขัดเกลาอกุศลด้วย
เพราะฉะนั้น ก็จะมี "คำ" ที่เพิ่มขึ้น ทีละคำๆ ไปเรื่อยๆ
แต่ว่า อย่าเพียง "จำ"
แต่ต้อง "เข้าใจ"
พอพูดคำไหน ต้องเข้าใจด้วย
ถ้าพูดถึงโกรธ มีจริง ไม่ใช่จิต
เพราะว่าจิตล้วนๆ ไม่กล่าวถึงเจตสิกใดๆ เลยทั้งสิ้น
เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้น แล้วรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ที่กำลังปรากฏ
เช่น ขณะนี้กำลังเห็น
ตัวเห็น ธาตุที่กำลังเห็น
เป็น "จิต"
แต่ว่า "เห็น" ขณะใด "จำ" สิ่งที่เห็นนั้นด้วย
มิฉะนั้น จะไม่รู้เลย ว่าใคร กำลังนั่งอยู่ที่นี่ หรือว่า เสียงอะไร
แต่ "ธาตุจำ" ก็มีจริง
ธาตุนั้น ไม่ใช่จิต
แต่เป็น "เจตสิก" หนึ่งประเภท ใน ๕๒ ประเภท
ใครรู้? คะ?
แต่ "เข้าใจ" ได้
ไม่ใช่ให้ไปรู้
ข้อสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือว่า
พอได้ฟังธรรมะ
บางคนคิดว่า จะต้องไปรู้ อย่างที่ได้ฟัง
เป็นไปไม่ได้เลย
เพียงเข้าใจให้ถูกต้อง ตามความเป็นจริง
ว่าจิต กับ เจตสิก เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน แต่ จิต ไม่ใช่ เจตสิก
และ เจตสิก ก็ไม่ใช่จิต เจตสิก มีถึง ๕๒ ประเภท
แต่จิตมีหลากหลายไปตามประเภทของเจตสิก ที่เกิดกับจิตนั้น
ทำให้จิตนั้น ต่างๆ กันไป เป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีงามก็มี
เป็นอกุศลจิต จิตที่ไม่ดีงามก็มี เป็นจิตที่เป็นผลของกรรม ที่ได้กระทำแล้ว ก็มี
จิต ซึ่งขณะนั้น ประกอบด้วยเหตุ ที่จะทำให้เกิดผลภายหลัง ก็มี
นี่คือ ชีวิตจริงๆ
ไม่มีใครเลย
แต่เป็น "ธรรมะ"
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้า ๕๕
ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ [๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาค
อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ทรงสวดพระปาติโมกข์
ในที่ประชุม พระภิกษุสงฆ์ ดังนี้ ขันติ คือ ความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าทั้ง หลายตรัสว่า พระนิพพานเป็นธรรมอย่างยิ่ง ผู้ทำร้ายผู้อื่น ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย. การไม่ทำบาปทั้งสิ้น การยังกุศลให้ถึงพร้อมการทำจิต ของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย. การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมใน พระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑ หกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขอกราบอนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย และของทุกๆ ท่านครับ
"ไม่มีโอวาทใดที่ยิ่งใหญ่กว่าโอวาทของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกแล้ว"
แต่ก็สำคัญที่ผู้ฟัง ฟังแล้วเข้าใจ และประพฤติปฏิบัติตามด้วย ตามระดับสติปัญญา
แต่ละบุคคล ใช่ไหมครับ
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรมะใดๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์
ทั้งหมด เป็น "บาป"
แต่สภาพธรรมะใด ที่เป็นประโยชน์ มีประโยชน์
เช่น ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก
ไม่ใช่บาป แน่นอน
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของพี่วันชัย ภู่งามและทุกๆ ท่านด้วยครับ
ขออนุโมทนา
ชอบมากเลยค่ะที่คุณพี่วันชัย ถ่ายทอดเรื่องราว (การบรรยายธรรมของท่านอาจารย์
สุจินต์) พร้อมมีภาพประกอบได้ save เก็บไว้อ่านเกือบทุกเรื่อง
กราบอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งามและทุกๆ ท่านด้วยค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณวันชัย ภู่งามและทุกๆ ท่านด้วยค่ะ
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ