เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ความอยากเป็นโลภะ และ "ไม่อยาก" เป็นอกุศลธรรมประเภทไหนครับ ขอความอนุเคราะห์อาจารย์ช่วยกรุณาให้ความละเอียดด้วยครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สภาพธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่มีลักษณะ ซึ่งแม้จะใช้ชื่อ แต่ความจริงสภาพธรรมไม่เปลี่ยน แม้ ความอยาก ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ ติดข้อง ยินดีพอใจที่เป็นโลภะ
ส่วนความไม่อยาก มีหลายนัยดังนี้
ความไม่อยากที่เป็นอกุศล
ความไม่อยากที่เป็นอกุศล เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่อยากทานอาหาร ไม่อยากไปเที่ยว คือก็ไม่พ้นจาก โลภะ ที่ไม่ต้องการทำอย่างนั้น ไม่ต้องการทำอย่างนี้ อยากที่จะไม่อยากทำ มีความต้องการที่ไม่อยากทำ ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่เป็นโลภะเช่นกัน ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ก็เป็นสภาพธรรมที่เป็น ริษยา หรือ อิสสา ครับ เป็นอกุศล
พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 427
ที่ชื่อว่า อิสฺสา (การริษยา) ด้วยอำนาจกิริยาที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี อาการที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ชื่อว่า อิสฺสายนา (กิริยาที่ริษยา) ภาวะที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ชื่อว่า อิสฺสายิตตฺต (ความริษยา) .
ส่วนความไม่อยากที่เป็นไปในธรรมฝ่ายดี ก็มี ครับ
ซึ่ง ความไม่อยากได้ของๆ ผู้อื่น คือ อโลภเจตสิก ชื่อว่า ความไม่อยาก เช่นกัน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้าที่ 443
สาธุอาสาธุสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สิ่งที่ดีเป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียด จากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ความไม่อยากได้ของผู้อื่น ความไม่ปองร้าย ความเห็นชอบ นี้เรียกว่าเป็นสิ่งที่ดี.
ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเป็นจริงของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้แม้แต่คำว่า "ไม่อยาก" ก็พิจารณาในหลายๆ อย่าง ได้ ตามความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น เช่น ไม่อยากให้ทรัพย์สมบัติของตนทั่วไปแก่ผู้อื่น ก็เป็นในลักษณะของความตระหนี่ ความหวงแหน สภาพของจิตใจในขณะนั้นเร่าร้อนรุ่มร้อน ด้วยความรู้สึกที่เป็นโทมนัส ไม่สบายใจ, ไม่อยากเกิดอีก ก็เป็นความต้องการที่จะไม่เกิด ก็เป็นความหวังความต้องการ เป็นโลภะ แต่ถ้ากล่าวถึง ความไม่อยาก ที่เป็นธรรมฝ่ายดีจริงๆ ก็ต้องมุ่งหมายถึง ปัญญาในระดับขั้นที่สามารถดับกิเลสได้หมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์ ซึ่งถ้าเป็นผู้ดับความติดข้องที่เป็นโลภะได้หมดสิ้น ก็ย่อมเป็นผู้ไม่มีความอยาก จริงๆ ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน ครับ.
ความอยากเป็นโลภะ ความไม่อยากเป็นโทสะ ปกติทุกวันถ้าไม่ได้ฟังธรรม พิจารณาธรรม จิตก็เป็นไปกับอกุศล เดี่๋ยวก็โลภะ เดี๋ยวก็โทสะ เดี๋ยวก็โมหะ ค่ะ
สาธุคะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ