ทำผิดสังฆาทิเสส แต่ไม่บอกภิกษุองค์อื่นเป็นอะไรไหมครับ
โดย Spandom  4 ส.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25217

ผมได้ทำผิดสังฆาทิเสสแต่ไม่ได้บอกภิกษุองค์อื่น จะมีผลอะไรมั้ย ครับ?



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 4 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เคารพ ครับ

อาบัติสังฆาทิเสส แม้จะเป็นอาบัติหนัก แต่ก็เป็นอาบัติที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระวินัย ซึ่งการประพฤติที่จะทำให้พ้นจากอาบัติดังกล่าวได้เรียกตามพระวินัยว่า "ประพฤติวุฏฐานวิธี" หรือ การอยู่กรรม (หรือ ที่คุ้นกันในคำว่า อยู่ปริวาสกรรม) ซึ่งจะต้องอาศัยสงฆ์เป็นหลัก เมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ไม่ควรปกปิดไว้ ต้องบอกแก่พระภิกษุด้วยกันว่าตนเองต้องอาบัติสังฆาทิเสส เพราะถ้าปกปิดไว้กี่วัน หรือเป็นเดือน เป็นปี ก็ต้องอยู่ปริวาสตามวันที่ตนเองได้ปกปิดอาบัติไว้ อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังปฏิญาณตนว่าเป็นพระภิกษุ เมื่อต้องอาบัติแล้ว ก็จะต้องกระทำคืนแก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระวินัย เห็นโทษ พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะไม่ล่วงละเมิดอีก เพื่อให้ตนเองพ้นจากอาบัตินั้นๆ เพราะถ้าไม่แก้ไข ยังเป็นผู้มีอาบัติอยู่ย่อมเป็นเครื่องกั้นสวรรค์ กั้นการบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ถ้ามรณภาพลงในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า [แต่ถ้าได้ลาสิกขา (คือ สึกไป) เป็นคฤหัสถ์ โดยที่ยังไม่ได้อยู่ปริวาสกรรม ก็ไม่มีอาบัติติดตัวอีกต่อไป เพราะไม่ได้เป็นพระภิกษุแล้ว]


ความคิดเห็น 2    โดย Spandom  วันที่ 4 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 4 ส.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยบัญญัติแต่ละสิกขาบทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติด้วยพระองค์เองเพื่อให้พระภิกษุได้สำรวมระวัง ไม่ล่วงละเมิด ในสิกขาบทนั้นๆ อันจะเป็นไปเพื่อฝึกหัดกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว โอกาสที่จะล่วงละเมิดสิกขาบท ก็ย่อมจะมีได้มาก รวมถึงต้องอาบัติสังฆาทิเสสด้วย ซึ่งเมื่อต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้ว ต้องแก้ไขด้วยการประพฤติวุฏฐานวิธี (อยู่กรรม) ตามพระวินัย จึงจะพ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสได้ ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ถ้าไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยแล้ว ย่อมมีโทษแก่ภิกษุรูปนั้น เป็นเครื่องกั้นในการบรรลุมรรคผล นิพพาน และถ้ามรณภาพในขณะที่ยังมีอาบัติอยู่ ก็เป็นผู้มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า แต่ถ้าได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เป็นเครื่องกั้น ถ้าหากยังไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัยแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความไม่สบายใจอยู่ร่ำไป ไม่ใช่เฉพาะอาบัติสังฆาทิเสสเท่านั้น หมายรวมถึงอาบัติทุกกองด้วย ดังนั้นที่ดีที่สุดที่จะไม่เดือดร้อนใจและไม่เป็นเครื่องกั้นสวรรค์ มรรคผลนิพพาพ ตราบใดที่ยังปฏิญญาว่าเป็นพระภิกษุอยู่ เมื่อต้องอาบัติแล้วก็จะต้องกระทำคืน แก้ไขให้ถูกต้อง ตามพระธรรมวินัย พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะสำรวมตามพระวินัย ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองต่อไป ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย wannee.s  วันที่ 4 ส.ค. 2557

อาบัติสังฆาทิเสสแก้ไขได้ ถ้าไม่แก้ไข ตายในเพศพระภิกษุไปอบาย ค่ะ