ในพระอภิธัมมัตถสังคหะ มีกล่าวไว้ว่า
รสะ หมายถึง กิจการงาน หรือหน้าที่การงานของธรรมนั้นๆ พึงกระทำตามลักษณะของตนรสะนี้ยังจำแนกออกได้เป็น ๒ คือ กิจจรส และ สัมปัตติรส กิจจรส เช่น ความร้อนของไฟมีหน้าที่การงานทำให้สิ่งของต่างๆ สุก สัมปัตติรส เช่น แสงของไฟ มีหน้าที่การงานทำให้สว่าง
อยากเรียนถามว่า
เราจะทราบได้อย่างไร หรือมีเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร ว่าสภาพธรรมใด มีกิจจรสและสัมปัตติรสอย่างไรบ้าง เพราะเท่าที่ดูลักขณาทิจตุกะของสภาพธรรมแต่ละอย่างจะมีบอกเพียง รสะ แต่ไม่ได้แยกให้เห็น กิจจรส และสัมปัตติรสดังที่จำแนกไว้ในตอนต้น เช่น
ปฐวีธาตุ กกฺขฬ ลกฺขณา มีความแข็ง เป็นลักษณะ
ปติฏฺฐาน รสา มีการทรงอยู่ เป็นกิจ
สมฺปฏิจฺฉน ปจฺจุปฏฺฐานา มีการรับไว้ เป็นผล
อวเสสธาตุตฺตย ปทฏฺฐานา มีธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือ เป็นเหตุใกล้
หรือ จิต
วิชานน ลกฺขณํ มีการรู้อารมณ์ เป็นลักษณะ
ปุพฺพงฺคม รสํ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
สนฺธาน ปจฺจุปฏฺฐานํ มีการเกิดต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฎ
นามรูป ปทฺฏฐานํ มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
หรืออีกตัวอย่าง สติเจตสิก
อปิลาปนลกฺขณา มีความระลึกได้ในอารมณ์เนืองๆ คือมีความไม่ประมาทเป็นลักษณะ
อสมฺโมหรสา มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ
อารกฺขปจฺจุปฏฺฐานา มีการรักษาอารมณ์ เป็นผล
ถิรสญฺญาปทฏฺฐานา มีการจำได้แม่นยำ เป็นเหตุใกล้
กิจจรส และ สัมปัตติรสของ ปฐวีฐาตุ จิต สติเจตสิก คืออย่างไรครับ
ขอบพระคุณครับ
ในลักขณาทิจตุกะ รสะ (กิจ) หมายถึง กิจรส
กิจรสของปฐวี คือ ปติฏฺฐาน รสา มีการทรงอยู่ เป็นกิจ
กิจรสของจิต คือ ปุพฺพงฺคม รสํ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ
กิจรสของสติ คือ อสมฺโมหรสา มีการไม่หลงลืม เป็นกิจ
ส่วนคำอธิบายเรื่อง สัมปัตติรส ในบางแห่งอธิบายเหมือนกิจรสเช่นกัน
โปรดดูตัวอย่างตัวอย่างในอรรถกถา ธัมมสังคณีที่ยกมา
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 309
จริงอยู่ ผัสสะนี้ แม้มิใช่รูปธรรมแต่ก็เป็นไปโดยอาการการถูกต้อง อารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ ผัสสะนี้ แม้ไม่ติดกับอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ก็ประสานจิตกับอารมณ์เหมือนรูปกับจักษุและเสียงกับโสต เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า มีการประสานเป็นกิจรส อีกอย่างหนึ่งพึงทราบว่า มีการประสานเป็นสัมปัตติรส เพราะการเกิดประสานวัตถุกับอารมณ์ สมดังคำอรรถกถากล่าวไว้ว่า ผัสสะที่เป็นไปในภูมิ ๔ ชื่อว่ามีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะไม่มีก็หามิได้ แต่ผัสสะที่เป็นไปทางปัญจทวารเท่านั้น มีการประสานเป็นรส จริงอยู่ คำว่า มีการกระทบอารมณ์เป็นลักษณะ
ฯลฯ
อนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ