[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 441
[๗๕๑] ถีนมิทธนิวรณ์ เป็นไฉน
ถีนมิทธะนั้น แยกเป็น ถีนะ อย่างหนึ่ง มิทธะ อย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น
ถีนะ เป็นไฉน
ความไม่สมประกอบแห่งจิต ความไม่ควรแก่การงานแห่งจิต ความท้อแท้ ความถดถอย ความหดหู่ อาการที่หดหู่ ภาวะที่หดหู่ ความซบเซา อาการที่ซบเซา ภาวะที่ซบเซาแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า ถีนะ
มิทธะ เป็นไฉน
ความไม่สมประกอบแห่งนามกาย ความไม่ควรแก่งานแห่งนามกาย ความปกคลุม ความหุ้มห่อ ความปิดบังไว้ภายใน ความง่วงเหงา ความหาวนอน ความโงกง่วง ความหาวนอน อาการที่หาวนอน ภาวะที่หาวนอน อันใดนี้เรียกว่า มิทธะ
ถีนะและมิทธะ ดังว่านี้ รวมเรียกว่า ถีนมิทธนิวรณ์
บทว่า อิทํ วุจฺจติ ถีนมิทฺธนิวรณํ ถีนะ และ มิทธะนี้ เรียกว่า ถีนมิทธนิวรณ์ คือ รวมถีนะและมิทธะนี้เข้าด้วยกัน เรียกว่า ถีนมิทธนิวรณ์ ด้วยอรรถว่า กางกั้น ถีนมิทธนิวรณ์ใด ย่อมเกิดขึ้นในเวลาก่อนหรือหลังความหลับแก่พระเสกขะและปุถุชนทั้งหลายโดยมาก ถีนมิทธนิวรณ์นั้น อรหัตตมรรคตัดขาดแล้ว แต่การก้าวลงสู่ภวังค์ของพระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมมีด้วยความทุรพลแห่งกรชกาย (กายเกิดแต่ธุลี) เมื่อภวังค์นั้นไม่ระคนด้วยอารมณ์อื่นเป็นไปอยู่
พระขีณาสพเหล่านั้นย่อมหลับ นั้นชื่อว่า ความหลับย่อมมีแก่พระขีณาสพเหล่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนอัคคิเวสสนะ ก็เราแลย่อมรู้เฉพาะ ในท้ายเดือนฤดูร้อน เรากลับจากบิณฑบาตภายในกาล ภายหลังภัต ปูผ้าสังฆาฏิ ๔ ชั้น แล้วเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่ความหลับโดยปรัศว์เบื้องขวา ดังนี้
ขออนุโมทนาบุญ
สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ยินดีในกุศลจิตค่ะ
กราบอนุโมทนายินดีในกุศลค่ะ