[คำที่ ๓oo] ทุกฺขเวทนา
โดย Sudhipong.U  25 พ.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 32420

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทุกฺขเวทนา

คำว่า ทุกฺขเวทนา เป็นคำบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงนามภาษาบาลีว่า ทุก - ขะ - เว - ทะ – นา] มาจากคำว่า ทุกฺข (ทนได้ยาก,ทุกข์,ไม่สบาย) กับคำว่า เวทนา (ความรู้สึก) รวมกันเป็น ทุกฺขเวทนา แปลว่า ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ โดยแสดงถึงความเป็นไปของความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย อันเป็นผลของอกุศลกรรม และ ทุกข์ทางใจ คือ โทมนัสเวทนา เป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ เป็นอกุศล ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เพราะเคยสะสมอกุศลมา เมื่อได้เหตุปัจจัย ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจจึงเกิดขึ้น เป็นโทมนัสเวทนาที่เป็นไปกับอกุศลจิตประเภทที่เป็นโทสมูลจิต

ข้อความจาก สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก พระวิภังคปกรณ์ แสดงความหมายของทุกขเวทนาไว้ว่า

“ทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและจิต ชื่อว่า ทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ทั้งโดยสภาวะ ทั้งโดยชื่อ”

ข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ แสดงลักษณะของทุกขเวทนา ไว้ว่า

“ทุกขเวทนา มีการเสวยอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ”


สิ่งที่มีจริง เป็นธรรม และมีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงก็จะไม่มีทางเข้าใจความจริงได้เลย มืดมิดด้วยความไม่รู้มานานแสนนาน จนกว่าจะได้ฟังคำจริงที่พระองค์ทรงแสดง แต่ละคำล้วนเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรมไม่ใช่เรา แม้ทุกข์กาย กับ ทุกข์ใจ ก็เป็นธรรม มีจริงๆ และมีความแตกต่างกัน ผู้ศึกษาพระธรรมต้องทราบว่า ทุกข์ทางกาย เป็นทุกขเวทนา ทุกขเวทนาทางกายเป็นผลของกรรมในอดีต ไม่มีใครทำให้ และควรจะได้พิจารณาว่า ทุกขเวทนาทางกาย เกิดขึ้นได้ เพราะมีรูปร่างกาย กล่าวคือ เมื่อมีรูปร่างกายแล้ว ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บไข้ได้ป่วยได้ เนื่องจากว่าร่างกายเป็นรังของโรค เมื่อมีรูปตา ก็มีโรคตา มีหู ก็มีโรคหู มีจมูก ก็มีโรคจมูก เป็นต้น ร่างกายจึงเป็นรังของโรค เมื่อมีกาย ต้องมีทุกข์เป็นของธรรมดา จะผิดธรรมดาไม่ได้ เพียงแต่ว่าทุกข์นั้นจะมากหรือจะน้อย จะเกิดขึ้นช้า ยังไม่เกิดขณะนี้ แต่ต่อไปก็เกิดได้ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่าทุกข์ระดับไหนจะเกิดเมื่อไหร่ เพราะเป็นธรรมที่ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้

บุคคลผู้ที่มีร่างกายสบายดี แต่ใจเป็นทุกข์ ก็มี นี่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาเช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่า ทุกข์ใจ เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของกุศลธรรม ต้องแยกด้วยความเข้าใจถึงความละเอียดของสภาพธรรม ทุกข์กายเกิดขึ้น เพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุดในโลก และ พระอริยบุคคลทั้งหลาย ก็ไม่พ้นจากทุกข์กายอันเกิดขึ้นเพราะกรรมในอดีตเป็นปัจจัย แต่ใจไม่เป็นทุกข์เดือดร้อนเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีทุกข์กาย แต่ไม่ทุกข์ใจนั้น มีอยู่ แต่ในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญา มีทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ หรือแม้ไม่มีทุกข์กายเลย แต่ก็มีทุกข์ใจได้

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกาย หรือ ทุกข์ใจ (ความไม่สบายใจ) ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกข์ทางกาย เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นทุกขเวทนาที่เกิดร่วมกับอกุศลวิบากทางกาย เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครทำให้เลย ความเจ็บปวด ความไม่สบายทางกาย ต้องเป็นเฉพาะทางกายเท่านั้น แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ อกุศลจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้รับทุกข์ทางกายแล้ว สภาพจิตที่เกิดต่อนั้น เป็นอกุศลจิตประเภทที่เป็นโทสมูลจิต ซึ่งเวทนาที่เกิดร่วมกับโทสมูลจิต มีเพียงเวทนาเดียวเท่านั้น คือ โทมนัสสเวทนา อันเป็นเวทนาที่ทำให้เกิดความไม่สบายแก่จิต ขณะที่เกิดความไม่ชอบ ไม่พอใจ แม้จะเล็กน้อย ก็เป็นโทสมูลจิต ที่มีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย เสมอ ความจริงเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ สำคัญที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เป็นธรรมที่มีจริง ทุกขเวทนาที่เกิดทางกาย ก็เป็นธรรมที่มีจริง ความไม่สบายใจ อันเป็นโทมนัสสเวทนา ก็เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา และจะเข้าใจความจริงนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับจริงๆ

การที่จะพ้นทุกข์ในสังสารวัฏฏ์นั้น ก็จะต้องพ้นทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ โดยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนถึงขั้นที่จะไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย มิฉะนั้นแล้ว ถ้ายังมีการเกิดขึ้น ที่จะพ้นจากทุกข์กาย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกข์กายเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ส่วนที่จะพ้นจากทุกข์ใจนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนกระทั่งถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงสามารถที่จะไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกได้เลย และที่จะหมดสิ้นจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง ก็ต้องบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์

การที่จะไม่มีทุกข์ใจ นั้น ก็ต้องมีปัญญา เพราะปัญญาทำหน้าที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงและเป็นสภาพธรรมที่ดับกิเลส ปัญญาของคนอื่น จะไปดับทุกข์ให้คนอื่น นั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาของผู้นั้นเอง โดยเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ ที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะรู้ว่าสิ่งที่มีจริงเป็นสิ่งที่รู้ยาก จึงต้องอาศัยความอดทน ไม่ย่อท้อในการฟังในการศึกษาพระธรรมเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ