ถ. ที่อาจารย์บรรยายมานี้ ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ และเป็นพุทธประสงค์ด้วยที่จะให้พุทธบริษัททั้งหลายเจริญสติอย่างที่อาจารย์บรรยาย มิใช่ให้ไปจำกัดอย่างโน้น อย่างนี้ หรือว่าเลือกเอาอย่างโน้น อย่างนี้ มีอีกเรื่องหนึ่ง ได้ฟังจากทางวิทยุที่ท่านสอบถามกัน ท่านผู้สอบถามบอกว่า ขณะที่นั่ง กำหนดรูปนั่ง เกิดเมื่อย เกิดปวดขึ้นมา จะให้กำหนดที่เวทนาหรืออย่างไร ท่านผู้ตอบก็ตอบว่า ไม่ต้องกำหนดที่เวทนา ให้กำหนดที่รูปนั่งนั่น ก็ท่านเองบอกว่า ให้รู้ปัจจุบันอารมณ์ แต่เวทนาเกิดขึ้นกลับบอกว่า เวทนานี่ไม่ต้องกำหนดหรอก ให้กำหนดที่รูปนั่งผมก็ไม่เข้าใจอีกเหมือนกันว่า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น
สุ. เรื่องที่ไม่เข้าใจคงจะมีมาก เพราะว่าขาดเหตุผลที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ธรรมจะต้องตรวจสอบ และถ้าท่านตรวจสอบกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว ท่านจะไม่เข้าใจสภาพธรรมคลาดเคลื่อนเลย และที่กล่าวว่า เวลาที่เกิดทุกขเวทนา เมื่อยเกิดขึ้น จะไม่พิจารณาเวทนา แต่ให้ไปดูที่รูปนั่ง อย่างนั้นจะทำให้ท่านรู้อะไร เพราะเหตุว่าการที่จะรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงจนละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ จะต้องมีลักษณะของนามธรรมปรากฏ มีลักษณะที่เป็นรูปธรรมปรากฏว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมนั้น ลักษณะที่เป็นรูปธรรมนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ เป็นแต่เพียงลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะเท่านั้นเอง การเจริญปัญญาต้องสมบูรณ์พร้อมด้วยเหตุผลทุกประการ
บางท่านอาจจะพิจารณาก่อนที่จะเปลี่ยนอิริยาบถว่า ที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะว่าที่นั่งนี้เป็นทุกข์มากเหลือเกิน กำลังปวด กำลังเมื่อย เพราะฉะนั้น ที่จะเปลี่ยนไปนี้เพื่อแก้ทุกข์ ท่านคิดว่า เป็นปัญญาถ้าพิจารณาอย่างนั้น แต่ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นรู้อะไร รู้ลักษณะของนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรม ไม่ใช่ให้คิดโดยความเป็นตัวตนว่า ที่กำลังเปลี่ยนนี้เพราะเหตุว่านั่งเป็นทุกข์ เมื่อยมาก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ และการเปลี่ยนอิริยาบถนั้นเพื่อเป็นการแก้ทุกข์
นี่เป็นตัวตนที่กำลังคิด สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ของรูปธรรมชนิดใดๆ ในขณะนั้น เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแล้ว ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ถ้าเกิดระลึกที่นึกคิด สติก็จะต้องระลึกว่า แม้ที่คิดอย่างนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ไม่ใช่มีกฎมีเกณฑ์ให้คิดอย่างนั้นทุกๆ ครั้ง และก็เข้าใจว่า เป็นปัญญาที่ละกิเลส แต่ปัญญาที่จะละกิเลสได้ ก็เพราะรู้ว่า ลักษณะที่ปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดนั้นเป็นนามธรรมแต่ละชนิด เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด จึงจะละการยึดถือนามและรูปว่าเป็นตัวตนได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดปวดเมื่อยขึ้นมา และไม่รู้ว่า สภาพนั้นเกิดขึ้นปรากฏเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับนามธรรมชนิดอื่น ไม่เหมือนกับนามเห็น นามได้ยิน นามรู้กลิ่น นามรู้รส ลักษณะของความปวดความเมื่อยนั้นเป็นสภาพความรู้สึก เป็นนามธรรมที่รู้สึกชนิดหนึ่ง
เมื่อยเป็นรูป หรือเป็นนาม เป็นนาม เป็นความรู้สึก รูปเมื่อยได้ไหม
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 180