ชื่อว่ารักตน - ชื่อว่าไม่รักตน [ปิยสูตรที่ ๔]
โดย พุทธรักษา  18 ต.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 13996

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรคเล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 426-428

ปิยสูตรที่ ๔

[๓๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (วันนี้) ข้าพระองค์เข้าห้องส่วนตัว พักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนเหล่าไหนหนอแล ชื่อว่า รักตน ชนเหล่าไหน ชื่อว่า ไม่รักตน ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติทุจริต ด้วยกาย วาจา ใจชนเหล่านั้นชื่อว่า ไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหาย ให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใดชนเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเองได้ โดยประการนั้น ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า ไม่รักตน

ส่วนว่าชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติสุจริตด้วย กาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้นชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า รักตน.

[๓๓๕] พระผู้มีพระเจ้าตรัสว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่าชนบางพวก ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจชนเหล่านั้น ไม่ชื่อว่า รักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายมีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ชื่อว่า ไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กัน ย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักได้ โดยประการใดพวกเขาเหล่านั้น ย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้ โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่า ไม่รักตน.

ส่วนว่าชนบางพวก ย่อมประพฤติสุจริต ด้วยกาย วาจา ใจพวกเหล่านั้นชื่อว่า รักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้นก็ชื่อว่า รักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้รักใคร่กัน ย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้ โดยประการใด พวกเหล่านั้น ย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้นพวกเหล่านั้นจึงชื่อว่า รักตน.

[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า ถ้าบุคคล รู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ ก็ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะว่า ความสุขนั้นเป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะไม่ได้โดยง่ายเลย. เมื่อความตายเข้าถึงตัวแล้ว บุคคลย่อมละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น. มัจจา ผู้ที่มาเกิดแล้ว จำจะต้องตายในโลกนี้ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือ บุญและบาป ทั้งสองประการ ฯ อนึ่ง บุญและบาปนั้น ย่อมเป็นของติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น. เพราะฉะนั้น บุคคล พึงทำกัลยาณกรรม สะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลกด้วยว่า บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก.

อรรถกถาปิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปิยสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

บทว่า รโคตสฺส แปลว่า ไป [อยู่] ในที่ลับ.

บทว่า ปฏิสลฺลีนสฺส ได้แก่เร้นอยู่ผู้เดียว พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงนำสูตรนี้ ให้เป็นคำตรัสของพระสัพพัญญู จึงตรัสในสูตรนี้ว่า เอวเมตํ มหาราช ดังนี้.

บทว่า อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส แปลว่าผู้ถูกความตายครอบงำแล้ว

จบ อรรถกถาปิยสูตรที่ ๔

ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์.



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 19 ต.ค. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 2    โดย orawan.c  วันที่ 28 ก.พ. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 23 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น