๙. ทุติยโสเจยยสูตร ว่าด้วยความสะอาด ๓ อย่าง
โดย บ้านธัมมะ  22 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 38753

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 540

ตติยปัณณาสก์

อาปายิกวรรคที่ ๒

๙. ทุติยโสเจยยสูตร

ว่าด้วยความสะอาด ๓ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 540

๙. ทุติยโสเจยยสูตร

ว่าด้วยความสะอาด ๓ อย่าง

[๕๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โสไจยะ ๓ นี้ โสไจยะ ๓ คืออะไรบ้าง คือ กายโสไจยะ วจีโสไจยะ มโนโสไจยะ

กายโสไจยะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต เว้นจากอทินนาทาน เว้นจากอพรหมจรรย์ (เมถุน) นี่เรียกว่า กายโสไจยะ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 541

วจีโสไจยะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นจากมุสาวาท เว้นจากปิสุณาวาจา เว้นจากผรุสวาจา เว้นจากสัมผัปปลาป นี่เรียกว่า วจีโสไจยะ

มโนโสไจยะ เป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ (นิวรณ์ ๕ คือ) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม) ก็ดี พยาบาท (ความปองร้าย) ก็ดี ถีนมิทธะ (ความท้อแท้และความง่วง) ก็ดี อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ) ก็ดี วิจิกิจฉา (ความเคลือบแคลงลังเล) ก็ดี มีอยู่ในใจ ก็รู้ว่า กามฉันทะ ฯลฯ วิจิกิจฉา มีอยู่ในใจของตน กามฉันทะ ฯลฯ วิจิกิจฉา ไม่มีอยู่ในใจ ก็รู้ว่า กามฉันทะ ฯลฯ วิจิกิจฉา ไม่มีอยู่ในใจของตน ย่อมรู้ทางเกิดแห่งกามฉันทะ ฯลฯ วิจิกิจฉาที่ยังไม่เกิด รู้วิธีละกามฉันทะ ฯลฯ วิจิกิจฉาที่เกิดแล้ว และรู้อุบายทำกามฉันทะ ฯลฯ วิจิกิจฉาที่ละได้แล้วมิให้เกิดต่อไปด้วย นี่เรียกว่า มโนโสไจยะ.

เหล่านี้แล ภิกษุทั้งหลาย โสไจยะ คือ ความสะอาด ๓ อย่าง.

บุคคลผู้สะอาดทางกาย สะอาดทางวาจา สะอาดทางใจ ไม่มีอาสวะ เป็นคนสะอาดพร้อมด้วยคุณธรรมของคนสะอาด ปราชญ์ทั้งหลายกล่าวบุคคลนั้นว่า ผู้ล้างบาปแล้ว.

จบทุติยโสเจยยสูตรที่ ๙


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 542

อรรถกถาทุติยโสเจยยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในทุติยโสเจยยสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า อชฺฌตฺตํ ได้แก่ ที่เป็นไปในภายในแน่นอน. นิวรณ์ คือ กามฉันทะ ชื่อว่า กามฉันทะ. แม้ในนิวรณ์ มีพยาบาทเป็นต้น ก็มีนัยนี้เหมือนกัน. คำที่เหลือในพระสูตรนี้ มีนัยดังกล่าวแล้วในหนหลังนั่นแล. ส่วนในคาถา บทว่า กายสุจึ ได้แก่ ความสะอาดในกายทวาร หรือความสะอาดทางกาย. แม้ในบททั้งสองที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. บทว่า นินฺหาตปาปกํ ความว่า ล้าง คือ ชำระบาปทั้งหมดแล้วดำรงอยู่. ทั้งโดยพระสูตรนี้ ทั้งโดยพระคาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระขีณาสพอย่างเดียว ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาโสเจยยสูตรที่ ๙