[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 218
๕. ทุติยผลสูตร
ผลานิสงส์การเจริญอานาปานสติ ๗ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 31]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 218
๕. ทุติยผลสูตร
ผลานิสงส์การเจริญอานาปานสติ ๗ ประการ
[๑๓๑๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
[๑๓๑๕] ก็อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า (พึงขยายเนื้อความให้พิสดารตลอดถึง ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก.
[๑๓๑๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ พึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการ ผลานิสงส์ ๗ ประการ เป็นไฉน คือ จะได้ชมอรหัตตผลในปัจจุบันก่อน ๑ ถ้าไม่ได้ชมอรหัตตผลในปัจจุบันก่อน จะได้ชมในเวลาใกล้ตาย ๑ ถ้าในปัจจุบันก็ไม่ได้ชม ในเวลาใกล้ตายก็ไม่ได้ชมไซร้ เพราะสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ สิ้นไป จะได้เป็นพระอนาคามีผู้อันตราปรินิพพายี ๑ ผู้อุปหัจจปรินิพพายี ๑ ผู้อสังขารปรินิพพายี ๑ ผู้สสังขารปรินิพพายี ๑ ผู้อุทธังโสโตอกนิฏฐคามี ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล พึงหวังได้ผลานิสงส์ ๗ ประการเหล่านี้.
จบทุติยผลสูตรที่ ๕