ผลของสังฆาทิเลส
โดย ปิดเฟส  24 ม.ค. 2563
หัวข้อหมายเลข 31487

พอดีผมผิดสังฆาทิเลสครับ ไปอยู่ปริวาสแล้ว แต่ผมจำวันปกผิดไม่ได้ ไม่รู้ครบวันที่ปกปิดไหม สึกออกมา มีผลอะไรไหมครับ จะเกิดอันตราย ทำกินไม่ขึ้น หรือผลอะไรไหมครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 24 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
จะเห็นได้เลยว่า เมื่อไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ไม่มีอัธยาศัยน้อมไปในเพศที่สูงยิ่ง ก็จะทำในสิ่งที่ผิด เป็นโทษเป็นภัย ล่วงละเมิดสิกขาบทมากมาย ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย
แต่เมื่อลาสิกขาแล้ว ย่อมไม่มีอาบัติอีกต่อไป สามารถเป็นคนดี ในเพศคฤหัสถ์ได้โดยไม่ต้องวิตกกังวล ในเรื่องอาบัติ เพราะเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีอาบัติ ไม่ใช่เพศบรรพชิตอีกต่อไป ก็ควรที่จะเป็นคนดี และ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ และที่สำคัญ ไม่ควรกลับไปบวชใหม่ เพราะจากการบวชที่ผ่านมาก็เห็นชัดแล้วว่าเป็นอย่างไร ขัดเกลากิเลสหรือไม่ ศึกษาพระธรรมวินัยหรือไม่? แต่ถ้ากลับเข้ามาบวชใหม่ อาบัติที่เคยต้องไว้ยังไม่ได้แก้ไขเมื่อตอนบวชครั้งก่อน กลับมาทั้งหมด ก็จะต้องแก้ไขให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ต่อไป

ความเจริญจริงๆ คือ ความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อลาสิกขาแล้วก็ขอให้เป็นคฤหัสถ์ที่ดี ประกอบอาชีพสุจริต ดำเนินชีวิตไปตามครรลองของพระธรรม เราไม่สามารถจะรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ควรลืมกิจที่ควรทำ คือ ทำดีและฟัพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย ปิดเฟส  วันที่ 25 ม.ค. 2563

แล้วเมื่อสึกไปแล้วควรกลับไปบวชเพื่อแก้ไขไหมครับ ถ้าสึกไปแล้วผลของอาบัติจะทำให้ตกนรกไหมครับในเพศคฤหัสถ์


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 27 ม.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 ครับ
สำหรับ อาบัติ (การล่วงละเมิดพระวินัย มีโทษ) นั้น ใช้เฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น เมื่อภิกษุลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์แล้ว คำว่าอาบัติหรือกิจที่ต้องปลงอาบัติ ย่อมไม่มี แต่อกุศลจิต หรือ อกุศลกรรม มีอยู่ กล่าวคือ การก้าวล่วงสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ด้วยอกุศลเจตนา เป็นการกระทำที่มีโทษ บางครั้งเป็นถึงอกุศลกรรมบถ ก็มี เช่น การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ พูดเท็จ เป็นต้น ซึ่งเป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อลาสิกขาแล้ว ไม่มีอาบัติก็จริง แต่อกุศลกรรมที่กระทำไว้ไม่หายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต คือ ย่อมสามารถเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในภายหน้าได้

เมื่อลาสิกขาบทไปแล้ว ไม่ควรกลับไปบวชใหม่เพื่อแก้ไขหรือกระทำคืนอาบัติ เพราะเป็นคฤหัสถ์แล้ว ไม่มีอาบัติ ก็ขอให้ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามในเพศคฤหัสถ์ต่อไป อะไรจะเกิด แม้แต่ในขณะต่อไป ก็ไม่มีใครสามารถทราบได้ ก็ทำดี นั่นแหละ ดีที่สุด ครับ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย ปิดเฟส  วันที่ 28 ม.ค. 2563

อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ 4 โดย khampan.a

ขออนุญาตเรียนถามผู้มีความรู้ครับ

ถ้าเราคุยกับผู้หญิงแล้วเราได้พูดจีบแต่ไม่ได้พูดถึงทวารหนักทวารเบาหรือเมถุนครับ แบบคุยๆ ไปแล้วบอกว่าจีบได้ไหมเป็นแฟนกันไหม สังฆาทิเลสไหมครับ


ความคิดเห็น 7    โดย khampan.a  วันที่ 1 ก.พ. 2563

เรียนความคิดเห็นที่ 6 ครับ
ได้แสดงความคิดเห็นแล้วในกระทู้ด้านล่างนี้ครับ
พระจีบผู้หญิงอาบัติสังฆาทิเลสไหมครับ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 29 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 5 ธ.ค. 2563

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมจากหนังสือ...

ทำไมบวช

จะบวชหรือจะบาป

ภิกษุลามก อุบาสกจัณฑาล บริษัทดื้อด้าน วิกฤติพระพุทธศาสนา

ข้อความบางตอนจากหนังสือ... ทำไมบวช

คนที่ไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นกิเลสของตัวเองและไม่ได้สะสมอุปนิสัยในการสละเพศคฤหัสถ์ แล้วบวช นั้น ไม่ใช่ผู้ที่จริงใจและไม่ใช่ผู้ตรง เพราะถามว่าบวชทำไม ถ้าตอบว่าเพราะเหตุนั้นๆ แต่ไม่ใช่เพราะได้เข้าใจพระธรรมและรู้อัธยาศัยของตนเองว่าเพื่อศึกษาพระธรรมและขัดเกลากิเลสในเพศภิกษุตามพระธรรมวินัยแล้ว สมควรบวชไหม การบวชเป็นภิกษุไม่ใช่เป็นอยู่อย่างสบายให้ผู้คนกราบไหว้ แต่เพราะเป็นผู้ที่เห็นกิเลสและเห็นโทษของกิเลส และรู้ว่าหนทางเดียวที่จะขัดเกลากิเลสก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมจึงบวชเพื่อศึกษาธรรมและขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ฉะนั้น การดำรงชีวิตของคฤหัสถ์และบรรพชิตจึงต่างกันอย่างสิ้นเชิง