ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๖๐๓-๖๐๔บรรยาย โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ถอดเทป โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล.ท่านผู้ฟังยังสงสัย ในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน
ประการแรก คือ สงสัยว่า การพิจารณา กายในกาย ซึ่งจะป็นเหตุให้เกิด "นิพพิทา" ความเบื่อหน่าย ในความลวงของสังขาร และ ความไม่ยึดถือในอัตตา นั้นจะต้องพิจารณาถึงขั้นไหน?
ประการที่สอง การพิจารณา ธรรมในธรรม จิตในจิต เวทนาในเวทนาจะต้องพิจารณาถึงขั้นไหน?
และท่านผู้ฟัง กล่าวว่า สมมติว่า ท่านผู้ฟังเอง ไม่ใช่นักวิปัสสนา คือสมมติว่าเคยฝึกสมถะ นั่งสมาธิ แล้วเห็นว่าจิตมันรวมไป เป็นภวังคจลนะ หรือ ภวังคุปัจเฉทะแล้วมองเห็นไส้ ของตนเองในกาย เป็นขดๆ อย่างนี้แล้วจะต้องพิจารณาแบบไหน จึงจะไม่ยึดถืออัตตา เป็นที่ตั้งคือสมมติว่านั่งสมาธิ แล้วจิตมันรวมลงไป เห็นข้างในกายสว่างไสวเห็นไส้ทุกขด บางทีก็อธิษฐานด้วยใจ สาวไส้ออกมา.แล้วจะพิจารณาอย่างไร?จึงจะเรียกว่า เกิดนิพพิทา เบื่อหน่าย คือ ไม่ยึดถืออัตตา เป็นที่ตั้ง
ท่านอาจารย์สุจินต์ ตอบว่า จุดประสงค์ของท่านผู้ฟัง ก็เพื่อให้ถึงความหน่าย ความคลายการติดใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ.ที่ใช้คำว่า "นิพพิทา" คือ การหน่าย การคลายจากการติดใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือ การคลายความยึดมั่น ถือมั่น ในตัวตน.แต่ว่า ไม่ใช่ด้วยการเจริญความสงบแล้วเห็นสิ่งที่ไม่จริง คือ เห็นไส้พุง แล้วก็จะสาวออกมาได้ที่กล่าวเมื่อกี้นี้ อันนี้ ไม่ใช่ "หนทาง" ที่จะทำให้เกิดความหน่าย ความคลาย การยึดมั่น ถือมั่นว่า เป็นตัวตน หรือ เป็นเรา เป็นของเรา ได้
ถ้า ปัญญา ไม่เกิดขึ้น รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงแม้ว่า ท่านผู้ฟัง มีจุดประสงค์ที่จะให้ถึง ความหน่าย ความคลายจากการติด และ การยึดถือในตัวตน สักเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญาเพื่อให้รู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงก็ไม่สามารถที่จะหน่ายการติดใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือ ละคลายการยึดมั่น ถือมั่น ในตัวตน ได้เลย.เพราะฉะนั้น อย่างเพิ่งรีบร้อนที่จะไปถึงความหน่าย หรือ ความคลายจากการยึดมั่น ถือมั่นในตัวตน ในร่างกาย นะคะ.แต่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อน ว่า "ปัญญา" ที่จะ รู้ชัดในสภาพธรรม ตามความเป็นจริงปัญญา ที่ทำกิจละคลายการติด และการยึดมั่น ถือมั่นในตัวตนได้จริงๆ นั้นต้องเป็น ปัญญา ที่รู้อะไร? และจะอบรมเจริญ ปัญญา นั้นอย่างไร? ปัญญา นั้นจึงจะเกิดขึ้นได้
ถ้าไม่เข้าใจในเหตุ ในผล ให้ตรงตามความเป็นจริง อย่างนี้ต่อให้ท่านไปทำสมาธิ แล้วเห็นตับ ไต ไส้ พุง ม้าม ปอด ฯ แล้วเกิดความรู้สึก เหมือนกับว่า ละคลาย ไม่ติด ไม่ยึดมั่น อย่างไรก็ตาม แต่ว่า ความจริงแล้ว มีอกุศล ที่ละเอียดมาก ที่ยังไม่สามารถดับลงไปได้ เพราะว่า ไม่ใช่ "ปัญญาที่รู้ชัด" ใน "ลักษณะของสภาพธรรม" ที่กำลังปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง.ที่ท่านผู้ฟังกล่าวมานั้น เป็นแต่เพียงภาพ ซึ่งเกิดจาก "ความคิด"ความคิดที่จะให้เห็นความเป็นปฏิกูล แต่ตามปกติ ในเวลานี้ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อปกติ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แล้วจะเอาปัญญาอะไร มาหน่าย มาคลาย การยึดถือสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ร่างกายของเรา ได้ เพราะฉะนั้น ปัญญา ที่จะละคลายได้จริงต้องเป็น ปัญญา ที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงไม่ใช่ ผิดปกติ เพราะเกิดการนึกเห็นขึ้นมา เป็นภาพที่ปฏิกูลต่างๆ
สมาธิ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เลย เพราะว่าไม่ใช่ ปัญญา ที่รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ปัญญา สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ สามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอด ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน ได้
ในชีวิตประจำวัน แต่ละขณะ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัยและจะเห็นได้ว่า กิเลส ที่มีมากมายเหลือเกินนั้นย่อมเป็นการยากเหลือเกิน ที่จะดับให้หมด เป็นสมุจเฉทได้
ขออนุโมทนา
สาธุ ... _/||\_ คำบรรยาย โดย อาจารย์สุจินต์ ตอบข้อสงสัยที่มีอยู่ในตอนนี้ (เป็นคนละเรื่อง ... เดียวกันค่ะ) ได้อย่างหมดจดเลยค่ะ
ขออนุโมทนาสำหรับ post ค่ะ :-) &_/||\_
สาธุ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
สาธุ สาธุ ขออนุโมทนา ฯ
ขออนุโมทนาครับ