ประทับใจคำถามของท่านอาจารย์สุจินต์ ซึ่งนำมาถ่ายทอดโดยคุณคำปั่นว่า จะเดือดร้อนมั๊ย ถ้าฟังพระธรรมให้เข้าใจตามกำลังปัญญาของตน? จึงนำความมาเพื่อให้พวกเราช่วยกันแสดงความคิดเห็น
ขออนุโมทนาล่วงหน้าสำหรับทุกความคิดเห็นค่ะ
ควรเริ่มต้นฟังด้วยความตั้งใจ สั่งสมไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่รีบร้อน ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ไม่ใช่ฟังแค่วันเดียวแล้วเข้าใจหมดทุกอย่าง เพราะธรรมเป็นเรื่องยาก และความเข้าใจก็ขึ้นอยู่กับการสั่งสมของแต่ละบุคคลด้วยค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ไม่เคยเดือดร้อนเลยครับ, ผมพยายามทำความเข้าใจในคำพูดของท่านอาจารย์ขณะที่กำลังฟัง เข้าใจบ้างก็ใจเบาและรู้สึกสว่างขึ้น ไม่เข้าใจก็เรียนถามท่านวิทยากรบ้าง ลืมไปบ้าง จึงไม่มีความรู้สึกท้อถอยเลยแม้แต่น้อย ก็พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้นทุกท่านก็ทราบดีมิใช่หรือว่ายากแสนยาก ศึกษาและฟังพระธรรมแล้วจิตใจควรผ่องใสเบาสบาย นะครับ ไม่ควรมีความ "ดิ้นรน ตะเกียกตะกาย มุ่งมั่น จะต้องเข้าใจรู้ประจักษแจ้งให้ได้"
พระธรรมเป็นของยาก ละเอียดและลึกซึ้งมากจึงควรฟังให้เข้าใจในสิ่งซึ่งกำลังฟัง พิจารณาไตร่ตรองตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นของสภาพธรรม ไม่ต้องเร่งรีบให้เข้าใจโดยเร็วหรือหวังผลว่าจะได้บรรลุธรรมโดยเร็วเช่นกันเพราะการเร่งรีบและการหวังผลนั้นเป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้นควรฟังพระธรรมด้วยความตั้งใจฟังค่อยๆ สะสมความเข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง ขณะนั้นจิตเป็นกุศลเบาสบายค่ะไม่เดือดร้อนค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๕๔
๕. สัตติสตสูตร
ว่าด้วยการตรัสรู้อริยสัจ ๔
[๑๗๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีอายุร้อยปีพึงกล่าวอย่างนี้ กะผู้มีชีวิตอยู่ร้อยปีว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ชนทั้งหลายจักเอาหอกร้อยเล่ม ทิ่มแทงท่าน ในเวลาเช้า ในเวลาเที่ยง ในเวลาเย็น ท่านนั้นถูกเขาเอาหอกสามร้อยเล่มทิ่มแทงอยู่ทุกวันๆ มีอายุร้อยปี มีชีวิตอยู่ร้อยปี จักตรัสรู้อริยสัจที่ยังไม่ได้ตรัสรู้โดยล่วงร้อยปีไป กุลบุตรผู้เป็นไปในอำนาจแห่งประโยชน์ควรจะรับเอา ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าสงสารนี้มีเบื้องต้นที่สุดอันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดแห่งการประหารด้วยหอก ดาบ หลาวและขวานย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด ก็ข้อนี้พึงมีได้ฉันนั้น แต่ว่า ก็เราไม่กล่าวการตรัสรู้อริยสัจ ๔ พร้อมด้วยทุกข์ โทมนัส แต่เรากล่าวการตรัสรู้อริยสัจ ๔ พร้อมด้วยสุข โสมนัส
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ หน้าที่ ๑๔๙
๙. ปฐมสุกกาสูตร
มนุษย์ทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ ไม่เข้าไปนั่งใกล้ สุกกาภิกษุณี ผู้แสดงอมตบทอยู่ มัวทำอะไรกัน เป็นผู้ประดุจดื่มน้ำผึ้งหอมแล้วก็นอน ก็แลอมตบทนั้น ใครจะคัดค้านไม่ได้ เป็นของไม่ได้เจือปรุง แต่มีโอชา ผู้มีปัญญาคงได้ดื่มอมตธรรม เหมือนคนเดินทางได้ดื่มน้ำฝนฉะนั้น
ในการศึกษาพระธรรมวินัย ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระมหากรุณาคุณแสดงไว้ โดยละเอียดมาก ตลอด ๔๕ พรรษา สืบต่อมาจนถึงยุคสมัยที่พวกเราอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป เพราะการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยพระอรหันต์ทั้งหลายมีท่านพระมหากัสสปะ เป็นประธาน เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงเพิ่งดับขันธปรินิพพานไปได้ไม่นานเพื่อการดำรงพระสัทธรรมไว้
หากจุดประสงค์ ในการศึกษาพระธรรม ที่แท้จริงเบื้องแรก คือ ความเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจเพื่อความเข้าใจ ให้ถูก ให้มั่นคงเสียก่อน ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น ขณะที่เข้าใจจริงๆ ขณะนั้น ไม่เดือดร้อน และความเข้าใจ มีหลายระดับเมื่อเข้าใจได้ระดับไหน ก็ทราบตามความเป็นจริง ว่า เข้าใจระดับนั้นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น ตามลำดับ เพราะเหตุปัจจัยคือ กุศลธรรมทุกประการ เช่น การคบบัณฑิต การฟังพระธรรม เป็นต้น. อกุศลธรรม เช่น "ความติดข้อง" ไม่ใช่เหตุปัจจัยให้เกิด ความเข้าใจแต่เมื่อยังเป็นปุถุชน ความติดข้องเกิดได้เสมอ เมื่อมีเหตุปัจจัยไม่เว้นแม้แต่การศึกษาพระธรรม. สติเท่านั้นที่ช่วยได้เพราะขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของจิต ที่กำลังติดข้อง หรือ สติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังเดือดร้อนขณะนั้นเป็น สภาพธรรม ที่เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยจึงไม่มีเราที่เดือดร้อน
ขออนุโมทนาค่ะ
ถ้ากุศลจิตเกิดในขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจถูก ขณะนั้นประกอบด้วยปัญญา จะไม่เดือดร้อนค่ะ
ถ้าเป็นปัญญาก็จะรู้ว่า "เดือดร้อน" ก็เป็นธรรมะ เมื่อยังไม่ใช่พระอรหันต์ มีเหตุปัจจัยให้เดือดร้อน ก็ต้องเดือดร้อน หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ระลึกรู้ตามเป็นจริงได้ว่าไม่ใช่เรา ความจริงแล้ว อกุศลทุกประการนั้น เป็นธรรมะที่ทำให้เดือดร้อนในตัวอยู่แล้ว แต่ปุถุชนก็ยังเห็นผิด หลงไปยึดอกุศลที่เกิดแล้วดับไปว่าเป็นเรา เป็นของเราอีก ก็เลยยิ่งเดือดร้อนกันไปใหญ่ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ก็เดือดร้อนกันไปตามประสาของผู้ไม่รู้ หลังจากได้ฟังพระธรรมก็ยังไม่วายเดือดร้อนตามประสาของผู้รู้น้อยอีก เพราะลืมว่าเป็นธรรมะ ลืมว่าไม่ใช่เรา ลืมว่ากิเลสยังมี ยังไม่ได้ดับ แต่ถ้าคิดว่า การที่เราได้เริ่มฟังพระธรรมในชาตินี้ ก็เป็นสิ่งที่ประเสริฐมหาศาลแล้ว
กุศลวิบากที่ดี ให้ผลให้ได้ยินเสียงพระสัทธรรม ที่เป็นเหตุให้ได้รู้จักความจริง ที่เกี่ยวกับชีวิตของตนเอง และได้อบรมเจริญปัญญา จนได้รู้กำลังปัญญาของตนเองว่ายังต้องอบรมต่อไป ก็อบรมต่อไป เพียงเท่านี้ ก็ไม่มีอะไรที่จะน่ากังวลใจ ถ้ามีโอกาสที่ได้ฟังอยู่ ก็ฟังต่อ พิจารณาต่อ ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่ถูกต้องกันต่อ เมื่อปัญญาเจริญมากขึ้น ก็ย่อมจะเดือดร้อนน้อยลงเอง ไม่ว่าจะต้องเดือดร้อนเพราะโลภะที่ชวนให้ติด ให้หวังผล เดือดร้อนเพราะโทสะที่ขุ่นใจเวลาประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือ เวลาที่ไม่ได้ตามผล เดือดร้อนเพราะโมหะที่มีมากจนปิดบังไม่ให้รู้ธรรมะตามเป็นจริงทั้งขณะที่เป็นกุศลและอกุศล ถ้าปัญญาเกิด ก็ย่อมจะไม่เดือดร้อนกับอกุศลเหล่านี้
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ปัญญารู้แค่ไหนก็แค่นั้น เท่าไหร่ก็เท่านั้น เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น จึงควรอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังพระสัทธรรมให้เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เหมือนการจับด้ามมีด กว่าจะเห็นการสึกย่อมนานมากๆ เป็นจิรกาลภาวนา
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย บุพการีชน ครูบาอาจารย์
ทุกข์มีอยู่ แต่ว่าผู้เป็นทุกข์ไม่มี การกระทำมีอยู่ แต่ผู้ที่กระทำไม่มี ความดับมีอยู่ แต่ผู้ดับไม่มี หนทางมีอยู่ แต่ผู้เดินทางไม่มี
อนุโมทนาค่ะ
เมื่อไรคิดถึงความตาย แล้วไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร ก็อยากมีปัญญามากๆ กลัวไปอบาย เมื่อไรได้ฟังธรรมก็ค่อยคลายใจ ฟังธรรมบ่อยๆ ดีค่ะ
นับตั้งแต่ได้ฟัง รู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่ายาก แต่ก็ยังอยากฟังอยู่ จึงฟังมาแบบเรื่อยๆ ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ คิดพิจารณาตาม เข้าใจบ้าง กับ ไม่เข้าใจมาก ตามประสาผู้ได้ฟังมาน้อย แต่ไม่เดือดร้อนว่า ทำไมจึงไม่รู้ ทำไมจึงไม่เข้าใจ ความเข้าใจ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น จิรกาลภาวนา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
จะเดือดร้อนมั๊ย ถ้าฟังพระธรรมให้เข้าใจตามกำลังปัญญาของตน?
ทุกอย่างเป็นธรรมและเป็นอนัตตา หากเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็จะรู้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นเพราะเป็นธรรม ไม่ใช่เราและเป็นอนัตตาด้วย แม้แต่ความเข้าใจ (ปัญญา) ก็เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เพราะมีเหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นสะสมปัญญามาน้อยและฟังไม่นาน ความเข้าใจก็เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย เหมือนจับด้ามมีดก็ต้องค่อยๆ สึกไปทีละเล็กละน้อย ไม่มีใครจัดการ บังคับให้ปัญญาเกิดเร็วหรือช้าเพราะเป็นหน้าที่ของธรรม หากไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตาแล้ว ก็จะเดือดร้อนกับปัญญาที่เกิดน้อยกับความไม่รู้ในเรื่องที่ฟัง ทำไมฟังไม่เข้าใจ แต่เมื่อเข้าใจถูกก็จะรู้ว่า เมื่อปัญญาไม่เกิดจะทำให้เกิดก็ไม่ได้ เพียงแต่สะสมเหตุ คือ การฟังธรรมต่อไปเหตุของการเกิดปัญญาไม่ใช่เพราะความเดือดร้อน ไม่ใช่เพราะความหวัง แต่การฟังเท่านั้นเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญขึ้นทีละน้อยครับ
เดือดร้อนเพราะไม่เข้าใจว่าเป็นธรรมและเป็นอนัตตา
ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
การได้มีโอกาสได้ฟังพระธรรมถือว่าประเสริฐสุด การได้ยินได้ฟังแม้ไม่เข้าใจเลยแต่น้อมนำและเห็นประโยชน์ก็เป็นกุศลแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์กว่าการไม่ได้ยินได้ฟัง
หากการได้ยินได้ฟังพระธรรม จากที่ไม่เคยได้ยิน เป็นได้ยิน เมื่อพิจารณาตามก็เริ่มเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง ก็ยังมีความรู้ความเข้าใจขึ้นมาบ้าง ขณะรู้นั่นคือปัญญา เป็นปัญญาในระดับการฟัง ก็นับว่าเป็นกุศลเช่นกัน
แน่นอนพระสัทธรรมเป็นของยาก แต่รู้ตามได้ มิฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่ทรงแสดง เพราะฉะนั้นการเริ่มต้นที่ถูกต้องจึงสำคัญมาก นั่นคือการฟังพระธรรม เมื่อฟังแล้วตรึกตรองพิจารณา เกิดความเข้าใจทีละเล็กละน้อย ตามกำลังปัญญาของแต่ละคน เป็นการสะสมเหตุและปัจจัยที่ดี ที่จะมีโอกาสได้สะสมอบรมปัญญาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
ขออนุโมทนาครับ