นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
สจิตตสูตร
(ว่าด้วยภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน)
จาก... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้า๑๖๘
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พ.ค. ๒๕๕๕)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และ คณะวิทยากรมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕- หน้า๑๖๘
สจิตตวรรคที่ ๑
๑. สจิตตสูตร
(ว่าด้วยภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน)
[๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหาร
เชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่
นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย หากว่าภิกษุไม่เป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของผู้อื่นไซร้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาว่า เธอทั้งหลายจักเป็นผู้ฉลาดใน
วาระจิตของตน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน
อย่างไร? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนสตรีหรือบุรุษที่เป็นหนุ่มสาว
มีปกติชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนในคันฉ่องอันบริสุทธิ์หมดจด
หรือในภาชนะน้ำอันใส ถ้าเห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็พยายามเพื่อ
ขจัดธุลีหรือจุดดำนั้นเสีย หากว่าเขาไม่เห็นธุลีหรือจุดดำที่หน้านั้น ก็ย่อม
ดีใจ มีความดำริอันบริบูรณ์ด้วยเหตุนั้นแลว่า เป็นลาภของเราหนอ
หน้าของเราบริสุทธิ์แล้วหนอ แม้ฉันใด ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การพิจารณา
ของภิกษุว่า เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราไม่เป็น
ผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่า
เราไม่เป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมาก เราเป็นผู้อันถีนมิทธะกลุ้มรุม
อยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะอยู่โดยมาก เรา
เป็นผู้ฟุ้งซ่านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก
เราเป็นผู้มีความสงสัยอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้พ้นความ
สงสัยได้โดยมาก เราเป็นผู้โกรธอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้
ไม่โกรธอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่า
เราเป็นผู้มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีกายอันปรารภแรงกล้าอยู่
โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้มีกายอันมิได้ปรารภแรงกล้าอยู่โดย
มาก เราเป็นผู้เกียจคร้านอยู่โดยมากหรือหนอ หรือว่าเราเป็นผู้
ปรารภความเพียรอยู่โดยมาก เราเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมากหรือหนอ
หรือว่าเราเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่มีอุปการะ
มากในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้ว่า
เราเป็นผู้มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตพยาบาทอยู่โดยมาก เป็นผู้อัน
ถีนมิทธะกลุ้มรุมอยู่โดยมาก เป็นผู้ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก เป็นผู้มีความ
สงสัยอยู่โดยมาก เป็นผู้มีความโกรธอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตเศร้าหมอง
อยู่โดยมาก เป็นผู้มีกายอันปรารภแรงกล้าอยู่โดยมาก เป็นผู้เกียจคร้าน
อยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่โดยมาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรทำความ
พอใจความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมทั้งหลาย ที่เป็น
บาปอกุศลเหล่านั้น
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าอันไฟไหม้ หรือ
มีศีรษะอันไฟไหม้ พึงทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ
ความ ขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณ
ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือไฟไหม้ศีรษะนั้น ฉันใด ภิกษุนั้น ก็พึง
ทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น
ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรม
ทั้งหลายที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าว่าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อมรู้อย่างนี้
ว่าเราเป็นผู้ไม่มีอภิชฌาอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตไม่พยาบาทอยู่โดยมาก
เป็นผู้ปราศจากถิ่นมิทธะอยู่โดยมาก เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านอยู่โดยมาก
เป็นผู้ข้ามพ้นความสงสัยอยู่โดยมาก เป็นผู้ไม่โกรธอยู่โดยมาก เป็นผู้
มีจิตไม่เศร้าหมองอยู่โดยมาก เป็นผู้มีกายอันมิได้ปรารภแรงกล้าอยู่โดย
มาก เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่โดยมาก เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นอยู่โดย
มาก ดังนี้ไซร้ ภิกษุนั้นควรตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้นแล้ว พึงทำความ
เพียร เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นไป.
จบสจิตตสูตรที่ ๑
ทุติยปัณณาสก์
สจิตตวรรคที่ ๑
อรรถกถาสจิตตสูตรที่ ๑
ในสจิตตสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.-
บทว่า สจิตฺตปริยายกุสลา แปลว่า ผู้ฉลาดในวาระจิตของตน.
บทว่า รช ได้แก่ อุปกิเลสที่จรมา. บทว่า องฺคณ ได้แก่ มีจุดดำตาม
ตัวเป็นต้นอันเกิดในที่นั้นๆ . ทว่า อาสวาน ขยาย ได้แก่ เพื่อ
ประโยชน์แก่พระอรหัตต์.
จบอรรถกถาสจิตตสูตรที่ ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
สจิตตสูตร *
(ว่าด้วยภิกษุพึงเป็นผู้ฉลาดในวาระจิตของตน)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ในการ
พิจารณาจิตของตน คือ พิจารณา ว่า ตนเองมีอภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ของ
ของผู้อื่น) มีความพยาบาท (ความปองร้ายผู้อื่น) มีถีนมิทธะ (ความง่วงเหงาหาวนอน
ท้อแท้ ท้อถอย) มีอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) มีวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม)
มีความโกรธ มีจิตเศร้าหมอง มีกายอันปรารภอย่างแรงกล้า (ความกระสับกระส่าย)
มีความเกียจคร้าน มีจิตไม่ตั้งมั่น บ้างหรือไม่? ซึ่งถ้าเห็นว่า มี ก็จะเป็นประโยชน์
ในการขัดเกลา ที่จะได้มีความพอใจ มีเพียรพยายามเพื่อละบาปธรรมเหล่านั้น
เหมือนกับผู้ที่มีผ้าถูกไฟไหม้หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ รีบที่จะดับไฟ แต่ถ้าเห็นว่า ไม่มี
ก็ควรที่จะตั้งอยู่ในกุศลธรรมเหล่านั้น แล้วก็มีความเพียรเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ
ทั้งหลายให้ยิ่งขึ้นต่อไป.
หมายเหตคำว่า สจิตต (สะ-จิด-ตะ) ซึ่งเป็นชื่อของพระสูตร แปลว่ จิตของตนเอง
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ นิวรณ์และตัณหา นิวรณธรรม นิวรณ์ คือ ปิดกั้นจิตไว้ การละนิวรณ์
ความโกรธ ย่อมย่ำยีคนลามก
ไม่เข้าไปผูกความโกรธ
บุคคลเริ่มตั้งความเพียรในกุศลธรรม ฯลฯ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ได้อ่าน จิตตสูตร (จิตของตนเอง) แล้วทำให้เห็นถึงความเป็นจิรงเป็นอย่างมากที่สภาพธรรมเครื่องเศร้าหมองยังมีอยู่อย่างมากครับ กราบขอบพระคุณขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณเช่นกัน และขออนุโมทนา
ทำให้เตือนสติเรา และรู้ว่าจิตใจยังสัดส่าย หวั่นไหวไปกับอกุศลธรรมครับ ว่าเรายังมีกิเลศหนาอยู่ ยังประมาทอยู่ แต่คิดว่ายังดีกว่าไม่รู้ตัวเสียเลย
ต้องฟังพระธรรมต่อไป จนกว่าปัญญาจะแกร่งกล้าขึ้นและทำหน้าที่ของปัญญาเอง
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณยิ่งค่ะ
และกราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
และทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในธรรมค่ะ