พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๕๕๐ แก้มุสาวาท
กายประโยคหรือวจีประโยค ที่หักรานประโยชน์ (ผู้อื่น) ของผู้มุ่งจะพูดให้ผิด ชื่อว่า มุสา เจตนาของผู้พูดให้ผิดต่อผู้อื่น ด้วยประสงค์จะให้เข้าใจผิด มีกายประโยคและวจีประโยค เป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า มุสาวาท
อีกนัยหนึ่ง เรื่องไม่จริง ไม่แท้ ชื่อว่า มุสา (เรื่องเท็จ) การให้ (ผู้อื่น) เข้าใจเรื่องเท็จนั้น ว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องแท้ ชื่อว่า วาทะ (การพูด) แต่โดยลักษณะ เจตนาของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่จริงว่าเป็นเรื่องจริง อันเป็นสมุฏฐานแห่งวิญญัติ (การเคลื่อนไหว) อย่างนั้น ชื่อว่า มุสาวาท (การพูดเท็จ)
มุสาวาทนั้น มีองค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ
เรื่องไม่จริง ๑ ตั้งใจพูดให้ผิด ๑ พยายามพูด ๑ ผู้อื่นเข้าใจเนื้อความนั้น ๑
มุสาวาทนั้น ชื่อว่า มีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่ตนหักรานมีจำนวนน้อย ชื่อว่ามีโทษมาก เพราะประโยชน์ที่ตนหักรานมีจำนวนมาก
อีกอย่างหนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เป็นไปแล้ว โดยนัยมีอาทิว่าไม่มี เพราะไม่ประสงค์จะให้ของๆ ตน (แก่คนอื่น) มีโทษน้อย ที่กล่าวเบิกพยานเพื่อหักล้างประโยชน์ (ของคู่ความ) มีโทษมาก
สำหรับบรรพชิต มุสาวาทที่เป็นไปแล้วโดยนัยแห่งบูรณากถา (พูดให้เต็มความหรือเล่นสำนวน) ว่าวันนี้น้ำมันในบ้านเห็นจะไหลเป็นแม่น้ำนะ ด้วยความประสงค์จะให้หัวเราะ เพราะได้น้ำมันหรือเนยใสน้อยไป มีโทษน้อย แต่ของผู้พูดโดยนัยมีอาทิว่า สิ่งที่ไม่ได้เห็นเลย ว่าได้เห็น มีโทษมาก