เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน
ปกตูปนิสสยปัจจัยมีผลต่ออินทรีย์อ่อนหรือกล้าหรือไม่อย่างไรครับ ขอรายละเอียดด้วยครับ ขออนุโมทนาครับ
ปกตูปนิสสยปัจจัย เป็นปัจจัยที่กว้างขวางอันเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ก่อนอื่นขอให้เรียนให้ทราบในเรื่องของความหมายของอินทรีย์ซึ่งมีหลายนัยก่อนครับ
อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่ในสภาพธรรมนั้น
อินทรีย์ หมายถึง ครอบงำซึ่งสภาพธรรมอื่น
อินทรีย์ หมายถึง ความเป็นใหญ่อันทำให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยคล้อยตามไป
อินทรีย์ หมายถึง อันผู้เป็นใหญ่คือพระพุทธเจ้าเสพแล้วด้วยความเป็นอารมณ์
อินทรีย์ หมายถึง อันผู้เป็นใหญ่คือพระพุทธเจ้ารู้แจ้งแล้ว
อินทรีย์ หมายถึง อันผู้เป็นใหญ่คือพระพุทธเจ้าทำให้เจริญแล้ว
ถ้าพูดถึง หนทางการเจริญอบรมปัญญา เพื่อดับกิเลส อันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ คือ อินทรีย์ 5 ที่เป็น ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และ ปัญญา ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณธรรม และเป็นธรรมที่จะถึงการตรัสรู้ได้ แต่ในความละเอียดของธรรมแล้ว การจะถึงความเป็นอินทรีย์ ในอินทรีย์ 5 แต่ละสภาพธรรม เช่น สัทธินทรีย์ ก็จะต้องมีปัญญาด้วย และเป็นศรัทธาที่เกิดพร้อมกับปัญญา ที่ไม่ใช่เพียงศรัทธา ขั้นนึกคิด เช่น ศรัทธาเชื่อพระรัตนตรัย ศรัทธาในพระธรรม เป็นต้น แต่ที่สำคัญศรัทธา จะต้องเป็นศรัทธา ที่เกิดพร้อมปัญญา ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ความจริงของสภาพธรรม ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้นมีศรัทธา ที่ถึงพร้อมกับปัญญา จึงเป็นอินทรีย์ เป็นสัทธินทรีย์ในขณะนั้น ครับ โดยนัยเดียวกัน วิริยะ ความเพียร ไม่ใช่เพียร เดิน เพียรนั่งสมาธิ แต่เป็นความเพียร วิริยเจตสิกที่เกิดพร้อมกับปัญญา ขณะที่สติปัฏฐานเกิด กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นอินทรีย์ ที่เป็น วิริยินทรีย์ ในขณะนั้นครับ สติ ที่เป็นสตินทรีย์ ก็คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริง สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้น สติเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์ เพราะ มีปัญญาระดับสูงเกิดร่วมด้วย ส่วนสมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก ที่มีลักษณะของความตั้งมั่นในอารมณ์ ซึ่งความตั้งมั่น สมาธิ ไม่ได้หมายถึง การนั่งสมาธิ จะเป็นการอบรม สมาธินทรีย์ แต่เอกัคคตาเจตสิก ที่เกิดในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้น มีความตั้งมั่นชั่วขณะแล้ว ที่เป็น ขณิกสมาธิ แต่ สมาธินี้ เป็นสมาธินทรีย์เพราะ มีปัญญาเกิดร่วมด้วย ที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม ส่วนปัญญา ที่จะเป็นปัญญินทรีย์ ไม่ใช่เพียงปัญญาขั้นการฟัง ปัญญาที่เชื่อกรรมและผลของกรรม แต่ จะต้องเป็นปัญญาที่กำลังรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่มีในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา จึงจะเป็นใหญ่ ที่กำลังรู้ความจริง เพราะเป็นปัญญาที่เป็นหนทางการละกิเลสได้จริงๆ ครับ ซึ่งปกตูปนิสสยปัจจัยเกี่ยวข้องกับอินทรีย์ห้าคือ เพราะสะสมอินทรีย์มาก็เป็นปัจจัยที่อาศัยที่มีกำลังทำให้สามารถบรรลุธรรมได้ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตกว่าท่านจะมีอินทรีย์แก่กล้า ควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้น ก็ล้วนแล้วแต่สะสมอุปนิสัย แห่งการฟังพระธรรม จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ ก่อนๆ มาแล้วทั้งนั้น เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมก็ทำให้ได้ฟัง ได้ศึกษาพระธรรมต่อไป จนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมได้ในที่สุดเพราะเหตุที่ปัญญาจะเจริญขึ้นนั้นขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม ไม่มีทางอื่นเลย เพราะฉะนั้นการสะสมอุปนิสัยที่ดี คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาย่อมเกื้อกูลต่อการที่ ทำให้มีอินทรีย์แก่กล้าสามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ที่สุด ครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
กราบอนุโมทนาค่ะ
อินทรีย์อ่อน อินทรียกล้า ก็อยู่ที่การสะสมกุศลเป็นปกติ โดยเฉพาะปัญญาที่อบรมบ่อยๆ เนื่องๆ ทำให้มีกำลังที่จะเป็นที่อาศัยเป็นใหญ่ในแต่ละอินทรีย์ในขณะนั้น ค่ะ
มตฺถุ พุทฺธสฺส
สวัสดี ครับ, ทุกๆ ท่าน. ผมขออนุญาตอัญเชิญพระพุทธพจน์จากปัฏฐานปกรณ์นะครับ
ข้อความต่อไปนี้ จะแสดงให้เห็นว่า ปกตูปนิสสยปัจจัย ทำให้ถึงอภิญญาญาณที่เป็นปัญญินทรีย์ที่กล้าที่สุดของรูปฌาน และทำให้ถึงมรรคญาณซึ่งเป็นอินทรีย์ที่กล้าที่สุดของปหานกิจ จึงกล่าวได้ว่า ปกตูปนิสสยปัจจัยมีผลต่อกำลังของอินทรีย์ ครับ
อย่างไรก็ตาม เรียนท่านเจ้าของกระทู้ครับว่า, ปัจจัยทุกปัจจัยล้วนมีผลต่อกำลังของปัจจยุปบัน มีอินทรีย์เป็นต้นทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ปกตูปนิสสยปัจจัยเท่านั้น ครับ
พระพุทธพจน์จากปัฏฐานปกรณ์
ที่เป็น ปกตูปนิสสยะ ได้แก่บุคคลอาศัยศรัทธา แล้วให้ทาน สมาทานศีล กระทำอุโบสถกรรม ยังฌานให้เกิดขึ้น ยังวิปัสสนาให้เกิดขึ้น ยังมรรคให้ เกิดขึ้นยังอภิญญาให้เกิดขึ้น ยังสมาบัติให้เกิดขึ้น บุคคลอาศัยศีล สุตะ จาคะ ปัญญา แล้วให้ทาน สมาทานศีล กระทำอุโบสถกรรม ยังฌานให้เกิดขึ้น ยังวิปัสสนาให้เกิดขึ้น ยังมรรคให้เกิดขึ้น ยังอภิญญาให้เกิดขึ้น ยังสมาบัติให้เกิดขึ้น ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นปัจจัยแก่ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญาโดยอุปนิสสยปัจจัย