นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺสพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๖ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ทวยตานุปัสสนาสูตร *
(ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเนืองๆ )
...จาก...
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ หน้า ๖๖๒
(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันมาฆบูชา
วันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖)
...นำสนทนาโดย...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๖๖๒
ทวยตานุปัสสนาสูตร
(ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเนืองๆ )
[นำมาเพียงบางส่วน]
[๓๙๐] ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของ
นางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล เมื่อคืนเพ็ญพระ-
จันทร์เต็มดวงในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าอันภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ประทับนั่งอยู่กลางแจ้ง ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์สงบนิ่ง จึงตรัสกะภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า จะมีประโยชน์อะไร
เพื่อการฟังกุศลธรรมอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึงปัญญาเป็น
เครื่องตรัสรู้ แก่ท่านทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงตอบเขาอย่างนี้ว่า มีประโยชน์
เพื่อรู้ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างตามความเป็นจริง ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า ท่าน
ทั้งหลายกล่าวอะไรว่า เป็นธรรม ๒ อย่าง พึงตอบเขาอย่างนี้ว่า การพิจารณา
เห็นเนืองๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า
นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้พิจารณาเห็นธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ อย่างนี้ เป็นผู้
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็น
พระอนาคามี
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๓๙๑] ชนเหล่าใด ไม่รู้ทุกข์ เหตุ
เกิดแห่งทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มี
ส่วนเหลือ โดยประการทั้งปวง และไม่รู้
มรรคอันให้ถึงความเข้าไประงับทุกข์ ชน
เหล่านั้น เสื่อมแล้วจากเจโตวิมุตติและปัญญา-
วิมุตติ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อจะทำที่สุดแห่งทุกข์
ได้ เป็นผู้เข้าถึงชาติและชราแท้
ส่วนชนเหล่าใดรู้ทุกข์ เหตุเกิดแห่ง
ทุกข์ ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์ไม่มีส่วนเหลือ
โดยประการทั้งปวง และรู้มรรคอันให้ถึง
ความเข้าไประงับทุกข์ ชนเหล่านั้นถึงพร้อม
แล้วด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ เป็นผู้
ควรที่จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ และเป็นผู้ไม่
เข้าถึงชาติและชรา
[๓๙๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็น
ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนื่องๆ จนพึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม
พึงตอบเขาว่าพึงมี ถ้าเขาพึงถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบว่า การพิจารณา
เห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอุปธิเป็นปัจจัย
นี้เป็นข้อ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอุปธิทั้งหลายนี้เองดับไป
เพราะสำรอกโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ เป็นผู้
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็น
พระอนาคามี
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ทุกข์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเป็นอันมาก
ในโลก ย่อมเกิดเพราะอุปธิเป็นเหตุ ผู้ใดแล
ไม่มีปัญญา ย่อมกระทำอุปธิ ผู้นั้นเป็นผู้เขลา
ย่อมเข้าถึงทุกข์บ่อยๆ เพราะเหตุนั้น ผู้พิจารณา
เห็นเหตุเกิดแห่งชาติเนืองๆ ทราบชัดอยู่
ไม่พึงทำอุปธิ
[๓๙๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็น
ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม
ควรตอบเขาว่า พึงมี ถ้าเขาถามว่า พึงมีอย่างไรเล่า พึงตอบเขาว่า การพิจารณา
เห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อมเกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็น
ปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า เพราะอวิชชานั่นเองดับไป
เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบอย่างนี้ เป็นผู้
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใด
อย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็น
พระอนาคามี
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
อวิชชานั้นเอง เป็นคติของสัตว์
ทั้งหลายผู้เข้าถึงชาติ มรณะและสงสาร อัน
มีความเป็นอย่างนี้ และความเป็นอย่างอื่น
บ่อยๆ อวิชชา คือ ความหลงใหญ่นี้ เป็น
เหตุให้สัตว์จมปลักอยู่สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายผู้ไป
ด้วยวิชชาเท่านั้น ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่
[๓๙๔] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าจะพึงมีผู้ถามว่า การพิจารณาเห็น
ธรรมเป็นธรรม ๒ อย่างโดยชอบเนืองๆ พึงมีโดยปริยายอย่างอื่นบ้างไหม
พึงตอบเขาว่า การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด
ย่อมเกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย นี้เป็นข้อที่ ๑ การพิจารณาเห็นเนืองๆ ว่า
เพราะสังขารทั้งหลายนั่นเองดับไป เพราะสำรอกโดยไม่มีเหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด
นี้เป็นข้อที่ ๒ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้พิจารณาเห็นเนืองๆ ซึ่งธรรมเป็นธรรม
๒ อย่าง โดยชอบอย่างนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่
พึงหวังผล ๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อรหัตตผลในปัจจุบันนี้ หรือเมื่อ
ยังมีความถือมั่นเหลืออยู่ เป็นพระอนาคามี
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
ทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด ย่อม
เกิดขึ้นเพราะสังขารเป็นปัจจัย เพราะสังขาร
ทั้งหลายดับโดยไม่เหลือ ทุกข์จึงไม่เกิด
ภิกษุ รู้โทษนี้ว่า เพราะสังขารเป็น
ปัจจัย ทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะความสงบแห่ง
สังขารทั้งมวล สัญญาทั้งหลายจึงดับ ความ
สิ้นไปแห่งทุกข์ ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้
ภิกษุ รู้ความสิ้นไปแห่งทุกข์นี้โดย
ถ่องแท้ บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นชอบ ผู้ถึงเวท
รู้โดยชอบแล้ว ครอบงำกิเลสเป็นเครื่อง
ประกอบของมารได้แล้ว ย่อมไม่ไปสู่ภพใหม่
...ฯลฯ...
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความจากอรรถกถาได้ที่นี่
อรรถกถาทวยตานุปัสสนาสูตร [ขุททกนิกาย สุตตนิบาต]
[หมายเหตุ เนื่องจากการสนทนาพระสูตรวันเสาร์ที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา
ยังมีเนื้อหาอีกมากที่จะต้องสนทนาเพิ่มเติม มูลนิธิฯจึงขอนำพระสูตรนี้ มาสนทนา
ต่อในวันเสาร์ที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๖]
...ขอความเจริญมั่นคงในกุศลธรรมจงมีแด่ทุกๆ ท่าน...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ทวยตานุปัสสนาสูตร *
(ว่าด้วยการพิจารณาเห็นธรรมเนืองๆ )
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา
มิคารมารดา ทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยพระองค์ตรัสว่า ถ้ามีผู้มาถามว่า
จะมีประโยชน์อะไรเพื่อการฟังกุศลธรรมอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออกไป อันให้ถึง
ปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ ก็ควรตอบว่า เพื่อรู้ธรรม ๒ อย่าง เมื่อถูกถามอีกว่า
ธรรม ๒ อย่างคืออะไร ก็ควรที่จะได้ตอบว่า ธรรม ๒ อย่าง ได้แก่ การพิจารณาธรรม
เป็นธรรม ๒ อย่าง ดังต่อไปนี้ (โดยการสนทนาที่มูลนิธิฯ ครั้งนี้ นำมาเพียง ๔ คู่) คือ
คู่ที่ ๑ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ และ ความดับทุกข์ หนทางที่เป็นไป
เพื่อความดับทุกข์
คู่ที่ ๒ -ทุกข์เกิดเพราะอุปธิเป็นปัจจัย
-เพราะอุปธิดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๓ -ทุกข์ ย่อมเกิดเพราะอวิชชา
-เพราะอวิชชาดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
คู่ที่ ๔ -ทุกข์ย่อมเกิดเพราะสังขาร
-เพราะสังขารดับไป ทุกข์จึงไม่เกิด
(ตามข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)
หมายเหตุ คำว่า ทวยตา (ทะ -วะ -ยะ- ตา) แปลว่า ๒ อย่าง
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่
นี้ทุกข์ ท่านมีความเห็นอย่างไร?
อริยสัจจ์ที่ ๒ คือเหตุให้เกิดทุกข์
อภิสังขาร
เจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุติ
อุปธิ
มีกิเลส อวิชชา ตัณหา ก็ต้องเกิด
โมหะ และ อวิชชา
กระผมสนใจ เกี่ยวกับ อริยสัจ 4 ครับผม
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนา
กราบอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ พร้อมคณะผู้ให้ความรู้ถูก ความเข้าใจถูก ยังตั้งมั่นว่าชีวิตนี้ต้องได้กราบ อาจารย์ผู้มีคุณท่านนี้ พร้อมคณะ (จ.เลย)
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ