๘. ปฐมสักกนมัสนสูตร ท้าวสักกะทรงไหว้ผู้มีศีลธรรม
โดย บ้านธัมมะ  30 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36464

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 507

๘. ปฐมสักกนมัสนสูตร

ท้าวสักกะทรงไหว้ผู้มีศีลธรรม


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 507

๘. ปฐมสักกนมัสนสูตร

ท้าวสักกะทรงไหว้ผู้มีศีลธรรม

[๙๒๘] สาวัตถีนิทาน.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพตรัสกะมาตลีสังคาหกเทพบุตรว่า ดูก่อนสหายมาตลี ท่านจงเตรียมจัดรถม้าอาชาไนยซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัว เราจะไปยังพื้นที่อุทยานเพื่อชมภูมิภาคอันงดงาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มาตลีสังคาหกเทพบุตรทูลรับพระดำรัสท้าวสักกะจอมเทพว่า ขอเดชะ ขอความเจริญจงมีแด่พระองค์ ดังนี้แล้ว เตรียมจัดรถม้าอาชาไนยซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัวเสร็จแล้ว กราบทูลแด่ท้าวสักกะจอมเทพว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ รถม้าอาชาไนยซึ่งเทียมด้วยม้าพันตัวสำหรับพระองค์เตรียมจัดไว้เสร็จแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด ดูก่อนภิกษุ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 508

ทั้งหลาย ครั้งนั้นแล ได้ทราบว่า ท้าวสักกะจอมเทพขณะเสด็จลงจากเวชยันตปราสาท ทรงประนมอัญชลีนมัสการทิศเป็นอันมาก.

[๙๒๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นแล มาตลีสังคาหกเทพบุตรได้ทูลถามท้าวสักกะจอมเทพด้วยคาถาว่า

พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้งหลาย ๔ และทวยเทพชาวไตรทศผู้มียศ ย่อมนอบน้อมพระองค์ ข้าแต่ท้าวสักกะ เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด ท่านผู้ควรบูชาคนนั้นชื่อไรเล่า ขอเดชะ.

[๙๓๐] ท้าวสักกะตรัสตอบว่า

พราหมณ์ทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา กษัตริย์ทั้งหลาย ณ ภูมิภาคทั้งหมด ท้าวมหาราชทั้ง ๔ และทวยเทพชาวไตรทศผู้มียศ นอบน้อมท่านผู้ใดซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยศีล มีจิตตั้งมั่นตลอดกาลนาน ผู้บวชแล้วโดยชอบ มีพรหมจรรย์เป็นเบื้องหน้า คฤหัสถ์เหล่าใดเป็นผู้ทำบุญ มีศีล เป็นอุบาสกเลี้ยงดูภรรยาโดยชอบธรรม ดูก่อนมาตลี เรานอบน้อมคฤหัสห์เหล่านั้น.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 509

[๙๓๑] มาตลีเทพบุตรทูลว่า

ข้าแต่ท้าวสักกะ ได้ยินว่าพระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลกเทียว ข้าแต่ท้าววาสวะ พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด ถึงข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้น.

[๙๓๒] ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราชผู้เป็นประมุขของเทวดาทั้งหลาย ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงน้อมนมัสการทิศเป็นอันมากแล้วเสด็จขึ้นรถ.

อรรถกถาปฐมสักกนมัสสนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมสักกนมัสสนสูตรที่ ๘ ต่อไปนี้ :-

บทว่า ปุถุทฺทิสา ได้แก่ ทิศใหญ่ ๔ และทิศน้อย ๔. บทว่า ภุมฺมา ได้แก่ ผู้อยู่บนพื้นดิน. บทว่า จิรรตฺตํ สมาหิเต ได้แก่ ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วด้วยอุปจาระและอัปปนา ตลอดราตรีนาน. บทว่า วนฺเท ได้แก่ข้าพเจ้าขอไหว้. บทว่า พรหฺมจริยปรายเน อธิบายว่า อยู่ประพฤติ-พรหมจรรย์ อันเป็นความประพฤติประเสริฐสุด เป็นต้นว่า นอนหนเดียว ฉันหนเดียว ในที่สุดชีวิตตลอด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ฯลฯ ๖๐ ปีบ้าง. บทว่า ปุญฺกรา ได้แก่ ผู้ทำบุญมีอาทิอย่างนี้ว่า ถวายปัจจัย ๔ บูชาด้วยดอกมะลิตูม


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 510

จุดประทีปพันดวง. บทว่า สีลวนฺโต ความว่า ตั้งอยู่ในความเป็นอุบาสก ประกอบด้วยศีล ๕ บ้าง ศีล ๑๐ บ้าง. บทว่า ธมฺเมน ทารํ โปเสนฺติ ได้แก่ ไม่กระทำโจรกรรมมีการทำลายอุโมงค์เป็นต้นแล้ว เลี้ยงดูบุตรภรรยาด้วยกสิกรรม โครักขกรรมและวานิชกรรมเป็นต้น. บทว่า ปมุโข รถมารุหิ ได้แก่ เป็นประมุขคือเป็นผู้ประเสริฐ ของเทพทั้งหลาย เสด็จขึ้นรถ.

จบอรรถกถาปฐมสักกนมัสสนสูตรที่ ๘