หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๑๖๕]
พระภิกษุ เป็นผู้ที่สงบ
คฤหัสถ์ จะไปที่ไหนก็ได้ ใช่ไหม? จะเดินอย่างไร ก็ได้ จะพูดอย่างไร ก็ได้ จะยิ้ม จะหัวเราะอย่างไร ก็ได้ แต่ว่า พระภิกษุ เป็นผู้ที่สงบ เพราะฉะนั้น แม้แต่อาการภายนอก คือ กาย วาจาก็ต่างกับบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น เพียงกาย วาจาที่ต่างกับบุคคลอื่นยังไม่พอ เพราะว่าคนที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ก็มีเยอะ ใช่ไหม? แต่คนที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยด้วยความสงบเสงี่ยมใจ มีไหม? ถ้าไม่มีการสนทนากันจะไม่รู้เลย กิริยาอาการภายนอก ไม่สามารถที่จะรู้ได้ คนที่สงบเสงี่ยมในเพศของบรรพชิต ส่วนใหญ่เพศบรรพชิต เสงี่ยมกันทั้งนั้นใช่ไหม? ไม่มีใครมีพฤติกรรมที่กระโดดโลดเต้นร้องเพลงหรือทำอะไรเลย แต่พอถึงคฤหัสถ์ทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าไม่สงบเสงี่ยมเรียบร้อยแม้เพียงกายวาจาก็แสดงแล้วใช่ไหมว่าเหมือนคฤหัสถ์ทุกอย่าง เพียงแต่ต่างกันที่เสื้อผ้าเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น การที่จะเป็นผู้ที่กาย วาจา ไม่สงบ เป็นบรรพชิตได้ไหม? เพียงแค่กายวาจาก่อน แล้วยิ่งเป็นภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่เพียงแต่ว่าให้สงบกายวาจา แต่ต้องมีปัญญาที่รู้ว่าบวชเพื่ออะไร? คำตอบ “เพื่อขัดเกลากิเลส” คำนี้คำเดียวลึกซึ้งมากเพราะเหตุว่ารู้ว่าชีวิตของคฤหัสถ์เต็มไปด้วยกิเลส เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นภิกษุในธรรมวินัย ต้องมีความมั่นคงที่จะรู้ว่าจะขัดเกลากิเลสได้ก็ต่อเมื่อได้เข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น จึงมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง เป็นศาสดา เป็นรัตนะ เพราะฉะนั้น ภิกษุในพระธรรมวินัยเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม เพื่อขัดเกลากิเลส จึงทำให้กาย วาจา สงบ ตามใจที่สงบ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ