ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล [สีลวึมังสชาดก]
โดย เมตตา  23 ธ.ค. 2557
หัวข้อหมายเลข 25946

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ 316

๑๐. สีลวึมังสชาดก

ว่าด้วยอานิสงส์ของศีล

[๔๖๙] ได้ทราบมาว่า ศีลเป็นความงาม ศีลเป็นเยี่ยมในโลก ท่านจงดูซี งูใหญ่มีพิษอันร้ายแรงย่อมไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วย รู้สึกตัวว่า เป็นผู้มีศีล.

[๔๗๐] เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองแล้วว่าเป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติเครื่องให้บัณฑิตเรียกบุคคลผู้ประพฤติตามข้อปฏิบัติของพระอริยะ ว่าเป็นผู้มีศีล.

[๔๗๑] อนึ่ง บุคคลผู้มีศีลย่อมเป็นที่รักของญาติทั้งหลาย และรุ่งเรืองในหมู่มิตร เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ.

จบสีลวีมังสชาดกที่๑๐

อรรถกถาสีลวีมังสชาดกที่ ๑๐

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพราหมณ์ผู้ทดลองศีลคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า สีลํ กิเรวกลฺยาณํ ดังนี้.

ก็เรื่องทั้งที่เป็นปัจจุบันและเป็นอดีต ได้ให้พิสดารแล้วในสีลวีมังสชาดก เอกนิบาต ในหนหลัง. แต่ในที่นี้ มีเรื่องว่า เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในพระนครพาราณสี ปุโรหิตของพระองค์คิดว่า จักทดลองศีลของตน จึงหยิบเอากหาปณะหนึ่งๆ ไป ๒ วัน จากแผ่นกระดานสำหรับนับเงิน ครั้นในวันที่สาม พวกราชบุรุษจับพราหมณ์นั้น โดยหาว่าเป็นโจร นำไปยังสำนักของพระพระราชา. ในระหว่างทางได้เห็นหมองูกำลังเล่นงูอยู่. ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามพราหมณ์นั้นว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงได้กระทำอย่างนี้? พราหมณ์กราบทูลว่า ขอเดชะ เพราะข้าพระพุทธเจ้าประสงค์จะทดลองศีลของตน พระเจ้าข้า แล้วจึงกล่าวคาถานี้ว่า :- ได้ทราบว่า ศีลเท่านั้นงดงาม ศีลยอดเยี่ยมในโลก ท่านจงดูซี งูใหญ่มีพิษอันร้ายแรงยังไม่เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยรู้สึกตัวว่าเป็นผู้มีศีล.

เราจักสมาทานศีลที่บัณฑิตรับรองแล้วว่า เป็นความปลอดภัยในโลก เป็นคุณชาติเครื่องให้บัณฑิตเรียกบุคคลผู้ประพฤติตามข้อปฏิบัติของพระอริยะ ว่าเป็นผู้มีศีล.

อนึ่ง บุคคลผู้มีศีล ย่อมเป็นที่รักของญาติทั้งหลาย ทั้งย่อมรุ่งเรื่องในหมู่มิตร เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติ.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สีลํ ได้แก่ อาจารมารยาท.

ศัพท์ว่า กิร เป็นนิบาตลงในอรรถว่าได้ยินได้ฟัง. บทว่า กลฺยาณํ แปลว่า งาม. อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวอย่างนี้ว่า ได้ยินว่า ศีลเท่านั้นงดงาม. พราหมณ์กล่าวถึงตนเอง ด้วยบทว่า ปสฺส เอาเถิด.

บทว่า น หญฺญติ ความว่า ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยตนเอง ทั้งไม่ใช่ให้คนอื่นเบียดเบียน.

บทว่า สมาทิสฺสํ แปลว่า จักสมาทาน.

บทว่า อนุมตํ สิวํ ความว่า อันบัณฑิตทั้งหลายรับรองแล้วว่าเป็นแดนเกษม คือ ปลอดภัย.

บทว่า เยน วุจฺจติ ความว่า เราจักสมาทานศีลอันเป็นเหตุให้บุคคลผู้มีศีลผู้ประพฤติโดยเอื้อเฟื้อต่อข้อปฏิบัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ซึ่งได้รับการขนานนามว่า อริยวุตติสมาจาร ผู้มีสมาจารอันเป็นเครื่องประพฤติอย่างประเสริฐ.

บทว่า วิโรจติ ความว่า ย่อมรุ่งโรจน์ ประดุจกองไฟบนยอดเขา.

พระโพธิสัตว์เมื่อประกาศคุณของศีลด้วยคาถา ๓ คาถา อย่างนี้แล้ว จึงแสดงธรรมแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราชเจ้าในเรือนของข้าพระพุทธเจ้า มีทรัพย์จำนวนมาก ทั้งที่เป็นของบิดา มารดาทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง และทั้งที่พระองค์พระราชทาน ที่สุดรอบคือความเสร็จสิ้นไม่ปรากฏ ก็ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองศีล จึงหยิบเอากหาปณะจากแผ่นกระดานสำหรับนับเงินไป บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าทราบเกล้าแล้วว่า ในโลกนี้ ชาติ โคตร ตระกูล และประเทศเป็นภาวะต่ำทราม และศีลเท่านั้นประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าจักบวชขอจงอนุญาตให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด แล้วทูลขอให้ทรงอนุญาตการบวช แม้พระราชาจะทรงขอร้องแล้วๆ เล่าๆ ก็ออกจากเรือนเข้าป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤๅษี ยังอภิญญาและสมาบัติให้บังเกิดแล้ว ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า พราหมณ์ปุโรหิตผู้ทดลองศีลในครั้งนั้น คือเราตถาคต ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาสีลวีมังสชาดกที่ ๑๐



ความคิดเห็น 1    โดย pichet  วันที่ 7 ก.ค. 2558

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 13 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น