ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรับ
สนทนาปัญหาธรรม 15 ส.ค. 66
อ. ธนากร : การตักเตือนผู้อื่นไม่ใช่ง่ายเลย เพราะผู้ที่ถูกตักเตือนต้องพร้อมที่จะรับฟังจริงๆ และผู้เตือนต้องมีความปรารถนาดีจริงๆ เป็นมิตรเป็นเพื่อนที่หวังดีจริงๆ ตัวเองก็มีข้อไม่ดีมากมายมหาศาล บางครั้งที่เห็นคนอื่นที่จะถูกเตือนแต่เราก็มีเหมือนกัน ก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะไปสอนหรือไปว่ากล่าวให้ผู้นั้นรู้ ทั้งๆ ที่เราก็เป็น แต่ด้วยความเป็นมิตรที่หวังดี เราก็สามารถพูดเตือนได้ว่า ลักษณะนี้ไม่ดีเลย แม้แต่ตัวเราก็มีและเป็นสิ่งที่พวกเราสามารถขัดเกลาไปด้วยกันได้ เพราะเราต่างก็มีข้อเสียเหมือนกัน
เป็นเรื่องธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันบางทีเราเองก็มีข้อเสียมากมายและผู้อื่นรอบข้างเราต่างก็มีข้อเสียคนละนิดละหน่อย บางทีก็ขึ้นอยู่กับกาลเทศะว่า อยู่ในฐานะที่เราจะกล่าวได้หรือเปล่า ถ้ายังไม่ใช่โอกาสที่สามารถกล่าวได้ เราก็สามารถรอเวลาเหมาะสมที่ผู้นั้นจะฟัง เพราะการพูดในสิ่งที่ผู้อื่นรับฟังก็เป็นการดี แต่ถ้าพูดไปแล้วยังไม่ถึงเวลาที่จะฟัง เราก็จะยังไม่พูด เป็นสิ่งที่ดีถ้าพูดแล้วฟัง และมีความอ่อนน้อมและช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน เพื่อจะเป็นคนที่ดีขึ้น
การตักเตือนมีหลายรูปแบบ คือ บางครั้งก็พูดด้วยความหวังดี รอพูดขณะที่เขาพร้อม ไม่ใช่ขณะที่เขากำลังขุ่นเคือง ท่านอาจารย์ได้อนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างมาก เพราะได้เห็นโทษของตนเองจริงๆ และมีข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดง ก็ทำให้เห็นได้เลยว่าอกุศลของเรามากมายมหาศาลจริงๆ
การจะขัดเกลากิเลสของตน ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย แม้แต่ตัวเราเองอยากเป็นคนดี แต่ก็ยังเป็นไม่ได้ เพราะไม่มีเรา แต่มีธรรมะที่ต้องเป็นไปตามปัจจัย แม้ความอยากก็เป็นสิ่งที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ จะดีหรือไม่ดีต้องเป็นไปตามคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา
เห็นได้ว่าแม้แต่ตัวเราที่จะเตือนตนก็เป็นสิ่งที่แสนยาก การเตือนผู้อื่นยิ่งยากใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดได้ตามเหตุปัจจัย เมื่อมีความปรารถนาดีจริงๆ เมื่อถึงเวลา ความปรารถนาดีก็สามารถทำกิจหน้าที่ได้
คำของท่านอาจารย์ไพเราะลึกซึ้งมากๆ ที่จะเก็บไว้ในหทัย รวมทั้งเมื่อวานที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า "ดิฉันปรารถนาที่จะให้ทุกคนได้ทำความดี" พร้อมจะทำประโยชน์อย่างเงียบๆ โดยไม่ต้องให้ใครรู้ก็ได้ ... ไพเราะจับใจมาก
ท่านอาจารย์ยังคิดถึงคนอื่นที่หวังดีต่อท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์กล่าวว่า "ดิฉันปรารถนาดีที่จะให้ผู้อื่นมีแต่ความเจริญในกุศล"
แม้แต่การที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า "ไม่กั้นกุศลของผู้อื่น" ก็เห็นได้ว่าท่านอาจารย์คิดถึงแต่คนอื่น ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ตนเลย
เรื่องต่างๆ คำเล็กคำน้อยก็ยังมีในวันอื่นๆ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า "คำพูดที่ไม่มีประโยชน์ก็ตัดเสียไม่ควรพูด" หรือ "ถ้าคำพูดคนอื่นไม่มีสาระก็ไม่ควรใส่ใจ"
เหมือนเป็นคำธรรมดาแต่เป็นการแสดงถึงความเข้าใจธรรมะของท่านอาจารย์ ที่ปรารถนาดีให้พวกเราได้คิดและอนุเคราะห์เกื้อกูลมาก
ทำให้ตัวเองเริ่มเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากขึ้น ถึงแม้ว่ากิเลสยังมากมายมหาศาล แต่ยังดีกว่าที่ไม่เคยได้ฟังเลย เพราะคำเหล่านี้เป็นคำที่เตือนให้ระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ... จริงๆ
อาจารย์อรรณพกล่าวสรุป " ประโยชน์ ... คุณ ... อยู่ที่ขณะที่เข้าใจถูกแต่ละขณะเป็นประโยชน์จริงๆ เป็นคุณจริงๆ จึงจะเริ่มมีคุณและรู้คุณในทุกระดับเพิ่มขึ้น กราบเท้าขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างยิ่ง ที่ท่านได้เกื้อกูลทุกอย่าง ชี้โทษใหญ่น้อย ประโยชน์โดยธรรมด้วยดี ผู้ฟังที่เริ่มรู้คุณ คือ เริ่มมีความเข้าใจ ปัญญาก็จะค่อยๆ รับเอาซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่รับเอา ... แต่เป็นความเข้าใจจากการเห็นประโยชน์ ... ปัญญารับเอาในคำเตือนตามพระธรรมที่จะค่อยๆ เจริญขึ้นในคุณ คือปัญญาและกุศลประการต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการประพฤติ ปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสอกุศลที่มีอยู่มากมายไปทีละเล็กทีละน้อย กราบเท้าขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงยิ่ง กราบยินดีในคุณ คือปัญญาและคุณความดีของอาจารย์ทุกท่าน ตลอดจนทุกท่านที่ฟังพระธรรมแล้วไม่ประมาท ค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมคุณความดี ... เข้าใจยิ่งขึ้นไป "
เชิญคลิกชมสนทนาปัญหาธรรม 15 ส.ค. 66
https://www.Youtube.com/live/5ZOjalAFSJU?feature=share
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนา อ.ธนากร นรวชิรโยธินค่ะ
ยินดีในความดีของทุกท่านค่ะ
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง
ขอบคุณและยินดีในความดีคุณณัฐวรรณด้วยค่ะ
ยินดีในกุศลจิตครับ