เมื่อถูกแม่ถามซ้ำๆ หลายครั้งๆ ซึ่งก็ตอบแล้วตอบอีก จากตอบดี เริ่มหงุดหงิด บางครั้งมีสติ ก็ชวนเปลี่ยนหัวข้อ แต่บางครั้งหลงลืมสติ ก็เริ่มเสียงดุ แต่หลังๆ เมื่อเริ่มรู้สึกหงุดหงิด หรือไม่อยู่ในอารมณ์จะตอบ ก็จะตอบเท่าที่จำเป็นและใช้วิธีเงียบ ไม่ทราบว่าทำถูกหรือเปล่าค่ะ ถ้าไม่ถูก ควรทำอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อุปนิสัยของสัตว์โลก ต่างก็สะสมมาไม่เหมือนกัน ที่เป็นนานาจิตตัง อันแสดงถึง ความวิจิตรของจิต ครับ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่จะมีการสะสมที่มีอุปนิสัย ชอบถาม ถามบ่อยๆ หรือ ลืมว่าได้ถามไปแล้วก็ถามอีก ก็มีครับ ดังนั้น มีโอกาสเราก็อธิบาย ครั้งที่ หนึ่ง ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม หากลืม ถามอีก เราก็สามารถบอกได้ว่า ได้ถามคำถามนี้ไปแล้ว และอธิบายคำถามนั้นให้ท่านฟังอีก การพูดว่า ได้ถามไปแล้ว ก็จะเป็นการเตือนความจำของผู้ถามเองด้วยครับ ว่าได้ถามไปแล้ว ก็จะทำให้ท่านไม่ถามบ่อยๆ พราะส่วนมากที่ถามบ่อยๆ เพราะลืมว่าได้ถามไปแล้วนั่เนเองครับ การเตือนความจำ ว่าได้ถามไปแล้ว ก็จะทำให้คุณแม่ หรือ ใครก็ตามที่จะถามอีกได้คิดก่อน เพราะถูกย้ำว่าได้ถามไปแล้ว ก็จะไม่ถามบ่อยๆ แต่ต้องอาศัยระยะเวลานะครับ อดทนเพื่อท่าน ก็คือ เหมือนเป็นการรักษาโรคขี้ลืมของท่านด้วย อยู่ด้วยความเข้าใจว่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน และเป็นธรรมดาที่ลืมกันได้เป็นธรรมดา เป็นอุปนิสัย การแก้ก็ต้องอดทน เริ่มจาก อดทนที่เราเอง ค่อยๆ อธิบาย อย่าใช้ความเงียบ เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา และ ไม่ได้แก้โรคขี้ลืมของท่านด้วยครับ วิธีตามที่กระผมกล่าวมา ย่อมเป็นวิธีหนึ่งที่สมควร และรักษาน้ำใจคุณแม่ และการพูดว่า ได้ถามไปแล้ว ก็พูดด้วยความหวังอนุเคราะห์ แต่ไม่ใช่ด้วยความรำคาญ แต่ด้วยคิดอนุเคราะห์ว่า เพื่อให้คุณแม่นึกได้ในครั้งต่อไป
การกระทำทางกาย วาจาเหมือนกัน แต่จิตต่างกันก็ได้ ดังนั้น ความเป็นผู้คิดแยบคาย อันเกิดจากการฟังพระธรรม ก็จะทำให้เป็นผู้ละเอียดขึ้น ที่จะทำอะไรต่อบุคคลใด ด้วยการถนอมน้ำใจ แต่ถนอมน้ำใจในสิ่งที่ถูกต้อง และแนะนำ ตักเตือนได้ ด้วยเมตตา เพื่ออนุเคราะห์ รักษา ก็จะเป็นไปด้วยดี และ ประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ครับ ถ้าท่านถาม ก็ต้องตอบท่าน อย่าเงียบ แต่ถ้าท่านถามบ่อยๆ บอกท่านได้ว่าถามไปแล้ว และ อธิบายซ้ำให้ท่านฟังอีก ด้วยจิตหวังดี ครับ แต่ไม่ควรเงียบเฉยนะครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เมตตา เป็นบารมี ๑ ในบารมี ๑๐ อย่าง และการอบรมเจริญบารมี ทำให้ถึงฝั่ง คือพระนิพพาน ขณะใดที่เราหงุดหงิด ขณะนั้นเราขาดเมตตา ถ้าเราไม่อยากเป็นคนขี้โกรธ เราต้องอบรมเมตตา ฟังธรรมะชุดแนวทางเจริญวิปัสสนา เรื่อง เมตตา จะช่วยให้เราค่อยๆ เข้าใจธรรมะ และ ขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นไม่โกรธ มีเมตตา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บุคคล ผู้ควรแก่การโกรธ ควรแก่การไม่พอใจ ควรแก่การหงุดหงิด นั้น ไม่มี ไม่ว่าจะพบใคร อยู่กับใคร ก็ไม่ควรโกรธ ไม่ควรไม่พอใจ ไม่ควรที่จะหงุดหงิด แต่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะธรรมเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยจริงๆ ควรที่จะได้พิจารณาว่า คำพูดที่ควรพูด ควรปล่อยออกไปนั้น ควรเป็นเฉพาะคำพูดที่ดีงาม ทำให้คนฟังอบอุ่นใจเท่านั้น ไม่ควรพูดคำที่ไม่น่าฟัง อันเป็นคำพูดที่ทำให้ผู้อื่นเจ็บช้ำน้ำใจ เพราะเหตุว่า แม้แต่ตัวเราเองก็ไม่ชอบคำที่ไม่น่าฟัง ชอบแต่คำที่ไพเราะน่าฟัง คนอื่นเขาก็เป็นเช่นนั้น ควรคิดถึงใจเขาใจเรา แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้น อยู่ด้วยเมตตาและความอดทนเพิ่มขึ้น ค่อยๆ อธิบายให้ท่านฟัง ว่าความจริงเป็นเช่นไร การที่จะไม่พูดคุยไม่อธิบายให้ฟังเลยนั้น ไม่สมควรโดยประการทั้งปวง ครับ.
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ไม่ควรโกรธถ้าเป็นบุคคลที่มีพระคุณ"
"ไม่ควรโกรธแม้เป็นบุคคลที่ไม่มีพระคุณ"
"แต่ควรจะให้ความเมตตาต่อบุคคลนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง"
ขอบคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ
กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในคำตอบของทุกท่านที่เป็นประโยชน์ต่อดิฉันมากค่ะ ดิฉันถามเพราะต้องการทราบจริงๆ ถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องในเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะบางคำแนะนำคือให้เงียบ บ้างก็ให้เลี่ยงไปที่อื่น ปล่อยให้พูดจนเหนื่อยเดี๋ยวก็หยุดเอง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
กราบอนุโมทนาสาธุค่ะอาจารย์
ขอสนทนาในฐานะคนเป็นแม่นะคะ ตอนลูกเล็กๆ นั้น ย่อมมีการงอแง น่ารำคาญ ไม่ฟังเหตุผล เพราะยังขาดวุฒิภาวะในการเข้าใจเหตุผล จึงพูดกันไม่รู้เรื่อง ยิ่งในเวลาที่ลูกไม่สบายนิดหน่อยจนถึงเจ็บป่วยอย่างหนัก แม่ต้องอดทน แม่ต้องรับอารมณ์เหล่านี้หลายปีมาก กว่าลูกจะโตและพูดเหตุผลกันรู้เรื่อง วันนี้แม่แก่อายุมากแล้ว ลูกต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ขบวนการเปลี่ยนแปลงของ ร่างกาย ย่อมเป็นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในคนส่วนใหญ่คือ แม่จะมีการกระทำ ที่กลับไปเหมือนเด็ก คือ ขี้น้อยใจบ้าง ย้ำคิดย้ำทำบ้าง บางครั้งคุยกันไม่รู้เรื่องบ้าง เซ้าซี้ จู้จี้ งอแง เรียกร้องความสนใจ เป็นต้น
ถ้าใครเคยไปหาจิตแพทย์ จะเห็นว่ามีผู้สูงอายุเข้าพบจิตแพทย์เยอะมาก ดังนั้นสิ่งที่ลูกต้องดูแลท่านในวันนี้ ก็เหมือนกับที่แม่เคยดูแลเราเมื่อวันก่อน ตอนที่เราเป็นเด็กเล็กๆ ค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ