สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย
ชาวอินเดีย: ปฏิจจสมุปบาทเริ่มจากอวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร จะทำอย่างไรให้หมดอวิชชา
ท่านอาจารย์: มีหลายคำมากเลย อวิชชา สังขาร อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพราะฉะนั้น เริ่มทีละคำ เพราะว่าก่อนตรัสรู้พระองค์ไม่ได้ตรัสคำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ได้ตรัสคำว่าสังขารธรรม ไม่ได้ตรัสคำว่าปฏิจจสมุปบาท และคำอื่นๆ จากที่ได้ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ได้ตรัสรู้ก็ต้องฟังแต่ละคำ "สังขาร" เป็นธรรมหรือเปล่า? "นาม" เป็นธรรมหรือเปล่า? "รูป" เป็นธรรมหรือเปล่า? "อวิชชา" เป็นธรรมหรือเปล่า?
เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้มีธรรมหรือเปล่า?
ชาวอินเดีย: มี
ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้มีเวทนาใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: มี
ท่านอาจารย์: เวทนาเป็นธรรมใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ใช่
ท่านอาจารย์: เวทนาเป็นสังขารธรรมใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ใช่
ท่านอาจารย์: เวทนาเป็นอนิจจังใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ใช่
ท่านอาจารย์: เวทนาเป็นทุกข์ใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ใช่
ท่านอาจารย์: เป็นอริยสัจจธรรมที่ ๑ ใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ใช่
ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้ไม่มีใครสักคนมีแต่สภาพธรรมที่รู้สึกใช่ไหม?
ชาวอินเดีย: ใช่
ท่านอาจารย์: รู้อย่างนี้ จนประจักษ์แจ้งความจริง ว่า ขณะที่เวทนาเกิดต้องไม่มีอย่างอื่นปรากฏนอกจาก ความรู้สึก เท่านั้น.
ต้องเป็นคนตรง เวทนามีจริงหรือเปล่า?
ชาวอินเดีย: มีจริง
ท่านอาจารย์: ถ้าเวทนาไม่เกิด มีเวทนาไหม?
ชาวอินเดีย: ไม่มี
ท่านอาจารย์: เมื่อเวทนาเกิด เวทนาเป็นสังขารธรรมใช่ไหม? เพราะฉะนั้น สังขารธรรมทั้งปวงทั้งหมดที่เกิดเป็นทุกข์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 281
๔. สัจจวิภังค์
สุตตันตภาชนีย์
[๑๔๔] อริยสัจ ๔ คือ
๑. ทุกขอริยสัจ
๒. ทุกขสมุทัยอริยสัจ
๓. ทุกขนิโรธอริยสัจ
๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ทุกขอริยสัจ
[๑๔๕] ในอริยสัจ ๔ นั้น ทุกขอริยสัจ เป็นไฉน
ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โลกปริเทว ทุกข์โทมนัสส อุปายาสทุกข์ อัปปีเยหิสัมปโยคทุกข์ ปีเยหิวิปปโยคทุกข์ ยัมปิจฉังนลภติตัมปิทุกข์ โดยย่ออุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
[๑๔๖] ในทุกขอริยสัจนั้น ชาติ เป็นไฉน
ความเกิด ความเกิดพร้อม ความหยั่งถึง ความเกิดจำเพาะ ความปรากฏแห่งขันธ์ ความได้เฉพาะอายตนะ ในหมู่สัตว์นั้นๆ ของเหล่าสัตว์นั้นๆ อันใด นี้เรียกว่าชาติ ฯลฯ
[๑๕๗] โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นไฉน
รูปูปาทานขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ เหล่านี้เรียกว่า โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ สภาวธรรมนี้เรียกว่า ทุกขอริยสัจ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓ - หน้า 55
๙. อนัตตเหตุสูตร
ว่าด้วยความเป็นอนัตตาแห่งเหตุปัจจัย
[๔๗] กรุงสาวัตถี. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้รูปเกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปเกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า เวทนาเป็นอนัตตา ฯลฯ สัญญาเป็นอนัตตา ฯลฯ สังขารเป็นอนัตตา ฯลฯ วิญญาณเป็นอนัตตา แม้เหตุปัจจัยที่ให้วิญญาณเกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดจากสิ่งที่เป็นอนัตตา ที่ไหนจักเป็นอัตตาเล่า อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
จบ อนัตตเหตุสูตร
ขอเชิญอ่านเพิ่มได้ที่ ...
อวิชชา เกี่ยวข้องในอริยสัจจ์๔ อย่างไร
ขอเชิญฟังเพิ่มได้ที่ ...
สังขารธรรม เป็นทุกข์
สามัญญลักษณะของสังขารธรรมทั้งปวง
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ
ขออนุโมทนาครับ