พฤติกรรมสามัญที่ไม่ทำ กรณีบรรลุธรรมแล้ว
โดย Patvalai  2 มิ.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43186

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย และท่านอาจารย์ขออนุญาตสอบถามค่ะ

1. พระวิปัสสนาจารย์ที่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่คิดว่า น่าจะบรรลุอรหันต์แล้ว กรณีมีโยม นิมนต์ไปเที่ยวต่างประเทศ ท่านจะรับนิมนต์ไหมคะ โดยปกติ ถ้าไม่ได้มีกิจสงฆ์ในการเที่ยวครั้งนี้

2. การผิดวินัย เช่น รับเงินที่ใส่ซอง หรือ งดบิณฑบาตตอนเช้า ด้วยเหตุผลทางสุขภาพ โดยสภาพจิตแล้ว จะทำได้ไหมคะ

กราบขอบพระคุณค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 2 มิ.ย. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. ยุคนี้ ไม่มีพระอรหันต์ในโลกมนุษย์ ดังนั้น ถ้าใครกล่าวว่า คนนั้น เป็นพระอรหันต์ พระรูปนี้ เป็นพระอรหันต์ นั่นคือ ไม่จริง เป็นการหลอกลวงทั้งหมด
ยุคนี้ เป็นพันปีที่ ๓ ถ้าจะมีพระอริยบุคคลก็สูงสุดเพียงแค่พระอนาคามีเท่านั้น ไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่า ความเสื่อมค่อยๆ มีไปตามลำดับจริงๆ บุคคลผู้ที่สนใจที่จะเข้าใจความจริง มีน้อย ตามข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โคตมีสูตร [[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้า ๕๕๔] ดังนี้

ก็คำว่า วสฺสสหสฺส นี้ ตรัสโดยมุ่งถึงพระขีณาสพผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวให้ยิ่งไปกว่านั้น ๑,๐๐๐ ปี โดยมุ่งถึงพระขีณาสพผู้สุกขวิปัสสกะ ๑,๐๐๐ ปี โดยมุ่งถึงพระอนาคามี ๑,๐๐๐ โดยมุ่งถึงพระสกทาคามี ๑,๐๐๐ ปี โดยมุ่งถึงพระโสดาบันปฏิเวธสัทธรรมถูกดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี โดยอาการดังกล่าวมานี้ แม้พระปริยัติธรรมก็ดำรงอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปีนั้น


ดังนั้น ไม่ตรงตามความเป็นจริงอย่างแน่นอน ที่บอกว่า พระรูปนั้น รูปนี้ เป็นพระอรหันต์ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าดำเนินไปในหนทางที่ผิดแล้ว อย่าว่าแต่พระอรหันต์เลย แม้พระโสดาบัน ยังไม่ถึง แม้ปัญญาในขั้นต้น ก็ยังไม่มีเลย เพราะผิดตั้งแต่ต้นแล้ว จะถูกได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุ ที่ยังมีใจเป็นไปอย่างคฤหัสถ์ มีการท่องเที่ยวเหมือนอย่างคฤหัสถ์ ใช้ชีวิตเหมือนอย่างคฤหัสถ์ นั่น ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่ใช่คนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่พระอริยบุคคลอย่างแน่นอน ครับ
๒. ความเป็นจริงของพระอริยบุคคลผู้เป็นบรรพชิต ท่านจะไม่ล่วงละเมิดสิกขาบท ด้วยจิตที่เป็นอกุศลเลย จะมีแต่ความเคารพและประพฤติตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ จึงเป็นไปไม่ได้ ที่พระภิกษุอริยบุคคล จะรับเงินรับทอง เป็นต้น ส่วนกรณี บิณฑบาต นั้น ถ้าหากว่า ท่านป่วย ก็ย่อมไม่สามารถที่จะออกไปบิณฑบาตได้ ภิกษุด้วยกัน ก็จะดูแลท่าน หรือ ถ้าวันไหน ท่านมีกิจนิมนต์ มีผู้นิมนต์ ไปฉันภัตตาหาร ท่านก็ไม่บิณฑบาตในวันนั้น จึงไม่ใช่การทำผิดพระวินัยแต่อย่างใด แต่ถ้าในขณะบิณฑบาต มีกิริยาอาการที่ไม่สมควร ไม่เคารพในการบิณฑาต นั่นจึงจะเป็นอาบัติ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 2 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย talaykwang  วันที่ 6 ธ.ค. 2565

ยินดีในกุศลค่ะ