สัมมัตตะ-มิจฉัตตะ
โดย ใหญ่ราชบุรี  26 ส.ค. 2558
หัวข้อหมายเลข 26961

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สัมมัตตะ-มิจฉัตตะ คืออะไรอย่างไรบ้างคะ ขอข้อความในพระไตรปิฎกและที่ท่าน อจ.สุจินต์ฯ กล่าวไว้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 26 ส.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

มิจฉัตตะ หมายถึง ความเป็นสิ่งที่ผิด มี ความเห็นผิด เป็นต้น ส่วนสัมมัตตะ หมายถึง ความเป็นสิ่งที่ถูก มีความเห็นชอบ เป็นต้น

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้บรรยายพร้อมข้อความจากพระไตรปิฎก ปรากฏใน ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1193 ดังนี้

ข้อความในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต มิจฉัตตสูตร ข้อ ๑๓๒ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
มิจฉัตตสูตร
[๑๓๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิจฉัตตะ (ความเป็นผิด) ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

มิจฉาทิฏฐิ ๑

มิจฉาสังกัปปะ ๑

มิจฉาวาจา ๑

มิจฉากัมมันตะ ๑

มิจฉาอาชีวะ ๑

มิจฉาวายามะ ๑

มิจฉาสติ ๑

มิจฉาสมาธิ ๑

มิจฉาญาณะ ๑

มิจฉาวิมุติ ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย มิจฉัตตะ ๑๐ ประการนี้แล ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

แสดงให้เห็นว่า ความเห็นผิดในข้อปฏิบัติมี รวมทั้งการรู้ผิดและการพ้นผิดคือคิดว่า เมื่อปฏิบัติผิดอย่างนั้นแล้ว ก็สามารถที่จะบรรลุธรรมและเข้าใจผิดว่าได้บรรลุธรรมแล้วด้วย นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงค่ะ เพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล หรือว่าท่านผู้ฟังไม่อยากให้พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้เลย เพราะเหตุว่าอยากจะให้ข้อปฏิบัติทุกอย่างถูกทั้งนั้น ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ความเห็นของท่านจะตรงกันหรือค้านกับพระธรรมที่ พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และสำหรับความเข้าใจในเรื่องของการไปสู่สำนัก เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมที่ ท่านผู้ฟังมารับฟังธรรม ท่านผู้ฟังจะกล่าวว่าเป็นสำนัก หรือไปสู่สำนักที่แสดงธรรม ได้ไหม?

คือต้องเป็นผู้พิจารณาจริงๆ แต่ต้องเป็นอัธยาศัยของท่าน หรือว่ามาเพราะเข้าใจผิด นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ บางท่านมีอัธยาศัยที่จะไปสู่วัดวันละหลายครั้ง อย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขาอุบาสิกา บางท่านอาจจะมีอุปนิสัยอัธยาศัยที่ชอบที่จะอยู่ที่วัดนานๆ หลายชั่วโมง หรืออาจจะถึงค้างอยู่ที่วัดก็ได้ แต่ต้องพิจารณาว่า ท่านผู้นั้นมีความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติหรือเปล่า คือมีความคิดว่า การอบรมเจริญปัญญานั้นต้องไปสู่สำนัก ปัญญาจึงจะเจริญถ้าเข้าใจอย่างนั้น เป็นผู้ที่เข้าใจผิด แต่ถ้าเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานในขณะนี้และไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม พร้อมกันนั้นก็เป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของตนเองในการไปสู่สำนักเพื่อฟังธรรม หรือเพื่อต้องการที่จะอยู่กับสหายธรรมท่านอื่นที่วัด นั่นก็เป็นอัธยาศัยจริงๆ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าต้องเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน มิฉะนั้นแล้ว ไม่สามารถที่จะแจ้งอริยสัจจธรรมได้

เพราะฉะนั้น ความเข้าใจนี้สำคัญ ที่ว่า มิจฉัตตะ (ความเป็นผิด) ๑๐ ประการนี้ เริ่มด้วย มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ๑ มิจฉาสังกัปปะ คือ ความดำริ คือความคิด การตรึก การ พิจารณาธรรมผิด ๑ เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาจริงๆ ไม่ว่าท่านจะคิดเรื่องของข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ หรือว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ เพราะเหตุว่าหนทางผิดกับหนทางถูกนี้ต่างกัน และเป็นการที่จะทำให้ทั้งกาย ทั้งวาจา และความดำริทางใจต่างกันด้วย
ข้อความตอนหนึ่งในอังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต สัมมัตตสูตร ข้อ ๑๐๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุริสบุคคลผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด มีวาจาผิด มีการงานผิด มีการเลี้ยงชีพผิด มีความพยายามผิด มีความระลึกผิด มีความตั้งใจผิด มีความรู้ผิด มีความหลุดพ้นผิด สมาทานกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเป็นทิฏฐิอันชั่วช้า ฯ
เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่า เมื่อคิดว่าตนเองเป็นพุทธบริษัทแล้ว ไม่ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ก็ต้องถูก แต่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ถ้าเป็นความเห็นผิด จะทำให้ดำริผิด ถึงกับมีวาจาผิด มีการงานผิด มีการเลี้ยงชีพผิด

นี่ สำหรับความเห็น ถ้าคลาดเคลื่อนไป จะทำให้การปฏิบัติผิด แม้ความพยายาม ความระลึกผิด มีความตั้งใจผิด มีความรู้ผิด มีความหลุดพ้นผิดเพราะเหตุว่า มีท่านที่กล่าวว่า ท่านได้เป็นพระอนาคามีบุคคลบ้าง หรือว่าเป็นพระอรหันต์บุคคลบ้าง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาความแทรกซึมของความเห็นผิดไปทั่ว ในการประพฤติปฏิบัติทางกาย ทางวาจา ใจ มีข้อความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพืชสะเดา พืชบวบขม หรือพืชน้ำเต้าขมอันบุคคลเพาะแล้วในแผ่นดินที่ชุ่มชื้น ย่อมเข้าไปจับรสดิน และรสน้ำอันใดรสดินและรสน้ำทั้งหมดนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นรสขม เป็นรสเผ็ดร้อน เป็นรสไม่น่ายินดี ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะพืชเป็นของไม่ดีแม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุริสบุคคลผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด มีวาจาผิด มีการงานผิด มีการเลี้ยงชีพผิด มีความพยายามผิด มีความระลึกผิด มีความตั้งใจผิด มีความรู้ผิด มีความหลุดพ้นผิด สมาทานกายกรรม วจีกรรมมโนกรรมให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ไม่เกื้อกูล เป็นทุกข์ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะเป็นทิฏฐิที่ชั่วช้า ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

นี่เป็นอันตรายที่สุดจะต้องเข้าใจข้อประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว ถ้าเข้าใจผิดเพียงเล็กน้อย ทีละเล็กทีละน้อย ที่จะทำให้ไม่เกื้อกูลและเป็นทุกข์ ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร เพราะเป็นทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ชั่วช้า
สำหรับผู้ที่มีความเข้าใจในข้อปฏิบัติถูก และประพฤติปฏิบัติธรรมถูก พระผู้มีพระภาคตรัสอุปมาว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพืชอ้อย พืชข้าวสาลี หรือพืชองุ่นอันบุคคลเพาะลงแล้วในแผ่นดินที่ชุ่มชื้น ย่อมเข้าไปจับรสดิน และรสน้ำอันใดรสดินและรสน้ำทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นรสที่น่ายินดี เป็นรสหวาน เป็นรสอันน่าชื่นใจ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพืชเป็นของดี แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลายปุริสบุคคลผู้มีความเห็นชอบ มีความดำริชอบ มีวาจาชอบ มีการงานชอบ มีการเลี้ยงชีพชอบ มีความพยายามชอบ มีความระลึกชอบ มีความตั้งใจชอบ มีความรู้ชอบ มีความหลุดพ้นชอบ สมาทานกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้บริบูรณ์ตามความเห็นอย่างไรแล้ว เจตนา ความปรารถนาความตั้งใจ และสังขารเหล่าใด ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เกื้อกูล เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะทิฏฐิเป็นของเจริญ ฉันนั้นเหมือนกันแล ฯ

จบสูตรที่ ๔

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง

และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 27 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wannee.s  วันที่ 27 ส.ค. 2558

อันตรายที่สุดคือการคบกับความเห็นผิด เพราะเป็นทางเสื่อมของปัญญาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย tanrat  วันที่ 27 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 5    โดย peem  วันที่ 29 ส.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย chatchai.k  วันที่ 30 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ