ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วิสตฺติกา”
คำว่า วิสตฺติกา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ – สัด – ติ – กา] เขียนเป็นไทยได้ว่า วิสัตติกา แปลว่า ตัณหาซึ่งแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ เป็นอีก ๑ คำที่แสดงถึงความเป็นจริงของอกุศลธรรมประเภทหนึ่งที่เป็นความติดข้องยินดีพอใจ หรือ ตัณหา ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ และเป็นสภาพธรรมที่มีพิษ ด้วย เพราะเป็นอกุศลธรรม ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อสะสมความติดข้องมากขึ้นๆ ก็สามารถทำทุจริตกรรม เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ และในขณะที่เบียดเบียนผู้อื่น ก็เป็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะอกุศลของตนเอง ทำร้ายจิตของตนเอง
ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงถึงความหมายของคำว่า วิสัตติกา ไว้ว่า
ตัณหา เรียกว่า วิสัตติกา ได้แก่ ความกำหนัด, ความกำหนัดกล้า,ความพอใจ, ความชอบใจ, ความเพลิดเพลิน, ความกำหนัดด้วยสามารถแห่งความเพลิดเพลิน อรรถว่าอะไร ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา? เพราะอรรถว่า ซ่านไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา, เพราะอรรถว่า แผ่ไป ตัณหาจึงชื่อว่า วิสัตติกา, ตัณหานั้น แผ่ไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย)
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นความจริง เตือนให้ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม ทุกขณะไม่พ้นไปจากธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แม้แต่ความติดข้องยินดีพอใจหรือตัณหา ก็เช่นเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะติดข้องในอะไร หรือเกิดกับใครก็ตาม ความติดข้องก็เป็นความติดข้อง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้ โลภะเกิดเมื่อใดก็ผูกพันไว้กับสิ่งนั้น ไม่ให้จิตเป็นกุศล และผูกพันไว้ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังเต็มไปด้วยทุกข์ โลภะ มีหลายระดับขั้น มีทั้งโลภะที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และ โลภะที่มีกำลังมาก หรือ โลภะเกินประมาณ ถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นต้น
สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม สภาพธรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอยู่ทุกขณะ สิ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด และแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปในทันทีทันใด ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดมากกว่ากุศล จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลเกิดมากกว่า อาจจะสำคัญผิดด้วยซ้ำไปว่ามีกุศลมาก, อกุศลธรรม เป็นธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้วได้แก่ โลภเจตสิก เป็นความติดข้องยินพอใจในสิ่งต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เป็นต้น ซ่านไปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ไม่พ้นจากโลภะเลย โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภะ เกิดขึ้น เพราะถ้าโลภะเกิดบ่อยๆ โลภะก็มาก สะสมมากขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ และถ้าสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมจะเป็นเหตุปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ได้ ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม นั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน สร้างเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง และ เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า ความชั่วทั้งหลาย นั้น ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย ถ้าบุคคลถูกโลภะครอบงำแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง โลภะที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจของตัณหาหรือโลภะโดยตลอด สำหรับบุคคลผู้มีโลภะมากๆ ติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับโลภะ ย่อมต้องการอยู่ตลอด ส่วน บุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นจริงของโลภะ เห็นโทษของโลภะตามกำลังปัญญาของตนเอง สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เป็นการอบรมเจริญปัญญาท่ามกลางอกุศล และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่สามารถจะดับโลภะได้อย่างเด็ดขาด เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ก่อนหน้าที่ท่านจะได้บรรลุธรรมรู้แจ้งอริยสัจจธรรม นั้น อกุศลทั้งหลาย ก็ยังมี แต่เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็สามารถดับอกุศลได้ตามลำดับขั้น
การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นไปตามลำดับได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองด้วยความเคารพละเอียด รอบคอบ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ หนทางนี้ซึ่งเป็นหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา เป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลายอย่างแท้จริง เป็นเรื่องละโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องหวังหรือเรื่องได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย เพราะถ้าไม่เริ่มฟัง ไม่เริ่มศึกษา ก็จะไม่มีวันที่จะเข้าใจความจริงได้เลย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ