ผู้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย...?
โดย พุทธรักษา  13 ม.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 10901

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
แนวทางเจริญวิปัสสนาโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ถ้าทานมีความเลื่อมใส ในพระรัตนตรัยเลื่อมใสใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไม่ต้องกลัว ว่าท่านจะไม่เลื่อมใส ในครูอาจารย์ของท่านเพราะถ้าครูอาจารย์ของท่าน เป็นพระอริยสาวก ถึงแม้ท่านจะไม่เจาะจงความเลื่อมใส เป็นรายบุคคล แต่การที่ท่านแสดงความเป็นอุบาสก อุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะ นั่นหมายถึงการแสดงความเคารพ เลื่อมใส ตั้งแต่ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพุทธรัตนะตลอดไปจนถึง พระธรรม และ พระสงฆ์
ฉะนั้น การเลื่อมใสใดๆ นั้น ไม่ควรให้เกินกว่า การเลื่อมใสในพระรัตนตรัยและเมื่อมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ก็ควรแสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยด้วย
ตามข้อความที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค นสันติสูตร ที่ ๕ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันเมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดา ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับทำให้พระวิหารเชตวันนั้นสว่างไสว เมื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาทแล้ว ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กล่าวคาถา ในสำนักของพระผู้มีพระภาค สรรเสริญพระอรหันต์ ผู้พ้นจากเครื่องข้องทั้งปวงได้ เมื่อเทวดากล่าวสรรเสริญแล้ว ท่านพระโมฆราช ก็กล่าวว่าก็หากว่าพวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชนผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้นเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้นเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น...ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุ แม้พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น...ย่อมเป็นผู้อันบัณฑิตสรรเสริญพวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพภิกษุนั้น ผู้พ้นอย่างนั้นดูกร ภิกษุ แม้เทวดาและมนุษย์เหล่านั้น รู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาแล้วก็ย่อมเป็นผู้ล่วงแล้ว ซึ่งธรรมเป็นเครื่องข้อง
เมื่อมีพระรัตนตรัยเป็นสรณะแล้ว หนทางในการอบรมเจริญปัญญาก็ถูก เพราะไม่คลาดเคลื่อนไปตามความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งอาจจะบกพร่อง คลาดเคลื่อน ไขว้เขวไปได้หากไม่มีการสอบทาน เทียบเคียง พิจารณาเหตุผลให้ตรงกับพระธรรมวินัย.แต่ถ้าผู้ใด มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ อย่างแท้จริงก็ย่อมจะมีการพิจารณา สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัย อยู่เสมอซึ่งจะเป็นเหตุให้หนทางในการประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมของผู้นั้น ถูกต้อง สมบูรณ์ และไม่คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 13 ม.ค. 2552

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 181

๔. นสันติสูตร

ว่าด้วยการกำจัดเบญจขันธ์คือกำจัดทุกข์

ผมมีข้อสงสัย ขอเรียนถามดังนี้ครับ

ก็หากว่าพวกเทวดา พวกมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี ไม่ได้เห็นพระขีณาสพนั้น ผู้อุดมกว่านรชนผู้ประพฤติประโยชน์เพื่อพวกนรชน ผู้พ้นแล้วอย่างนั้นเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้น

คำว่า ไม่ได้เห็น นั้น หมายความว่าอย่างไรครับ คาถานี้ ท่านก็กล่าวต่อหน้า พระศาสดา ซึ่งประทับอยู่ท่ามกลางเหล่าเทวดา ทำไมจึงกล่าวว่าไม่เห็นพระขีณาสพ (เห็น ด้วยตา หรือ เห็น ด้วยปัญญา) และ เมื่อไม่ได้เห็นพระขีณาสพ เหตุไรจึงไหว้ทั้งที่ไม่เห็น ไหว้ตอนที่เห็นไม่ดีกว่าหรือครับ

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 2    โดย Komsan  วันที่ 13 ม.ค. 2552
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 3    โดย ajarnkruo  วันที่ 13 ม.ค. 2552

"ไม่ได้เห็น" ในที่นี้ ในอรรถกถาได้อธิบายไว้ว่า หมายถึง "ไม่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า" ครับ ซึ่งเทวดาที่กล่าวคาถาต่อหน้าพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ท่านพระโมฆราชท่านเห็นว่า เทวดาองค์นั้นไม่ได้กล่าวธรรมไปตามอนุสนธิ ท่านพระโมฆราชท่านเป็นผู้ฉลาดในอนุสนธิ ท่านจึงกล่าวคาถาหลังจากที่เทวดาองค์นั้นกล่าวจบแต่ในอรรถกถาก็ไม่ได้แสดงไว้ว่า เทวดาองค์นั้นเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่ครับ ถ้าท่านเป็นจริง ท่านต้องเห็นพระผู้มีพระภาค ด้วยปัญญาที่ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจธรรม ถ้าท่านยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ก็ย่อมจะยังไม่เห็นพระผู้มีพระภาค คือยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็สมควรอย่างยิ่งที่จะได้ไหว้ในธรรมที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ ได้ ทั้งมนุษย์และเทวดา ซึ่ง "การไหว้" นั้น ในอรรถกถา ก็ได้แสดงรายละเอียดไว้ดังนี้ ครับ

บทว่า เย ตํ นมสฺสนฺติ ปสํสิยา เต แปลว่า พวกเทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระขีณาสพนั้นผู้พ้นแล้วอย่างนั้น อธิบายว่า ย่อมไหว้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือว่า ด้วยการปฏิบัติตามโดยแท้ พวกเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นพึงเป็นผู้อันบัณฑิตควรสรรเสริญหรือไม่

บทว่า สงฺคาตีตา เตปิ ภวนฺติ แปลว่า แม้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น ... ย่อมเป็นผู้ล่วงธรรมเครื่องข้อง อธิบายว่า เทวดาและมนุษย์เหล่าใด ย่อมไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือว่า ด้วยการปฏิบัติตาม เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นรู้สัจจธรรม ๔ และละวิจิกิจฉาแล้ว ย่อมเป็นผู้ล่วงพ้นธรรมเป็นเครื่องข้องบ้างย่อมเป็นผู้อันบัณฑิต พึงสรรเสริญบ้าง ดังนี้แล


ความคิดเห็น 4    โดย เมตตา  วันที่ 13 ม.ค. 2552

แต่ถ้าผู้ใด มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ อย่างแท้จริงก็ย่อมจะมีการพิจารณา สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัย อยู่เสมอซึ่งจะเป็นเหตุให้หนทางในการประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมของผู้นั้น ถูกต้อง สมบูรณ์ และไม่คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ค่ะ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่......

พระไตรปิฎกคืออะไร


ความคิดเห็น 5    โดย พุทธรักษา  วันที่ 13 ม.ค. 2552

ข้อความบางตอนจาก หนังสือแนวทางเจริญวิปัสสนา โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีข้อความว่า
การกล่าวพระสูตร หลายๆ พระสูตร ก็เป็นความประสงค์ที่จะให้ทุกท่านเพิ่มความสนใจ ศึกษา สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยให้ยิ่งขึ้น
ข้อความบางตอนที่อ้างอิงจากจาก สังยุตตนิกาย มหาวรรค สูกรขาตาสูตร เรื่อง การนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ ถ้ำสูกรขาตาเขาคิชกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกท่านพระสารีบุตร แล้วตรัสถามว่า ดูกร สารีบุตร ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นอำนาจประโยชน์อะไรหนอ จึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในตถาคต หรือในศาสนาของตถาคต

พระสารีบุตร กราบทูลว่า ภิกษุผู้ขีณาสพ เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยมจึงประพฤตินอบน้อมอย่างยิ่งในพระผู้มีพระภาคและในศาสนาของพระผู้มีพระภาค
ไม่ใช่ว่าจะนอบน้อม โดยไม่มีเหตุผลเลยเพราะว่า การนอบน้อมจะเพิ่มขึ้น ในบุคคลใด ก็เนื่องมาจาก "ธรรม" ที่ได้รับมาจากบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ที่จะนอบน้อมในพระรัตนตรัยมากเท่ากับ ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลนั้นเป็นไปไม่ได้เลย

ถ้าเป็นปุถุชน ผู้ประพฤติปฏิบัติ อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้ธรรมเพิ่มมากขึ้น (ความเลื่อมใส) ความนอบน้อมในพระรัตนตรัย ก็เพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้น ความนอบน้อม ของปุถุชน ความนอบน้อม ของพระอริยะขั้นพระโสดาบันความนอบน้อม ของพระอริยะขั้นพระสกทาคามีความนอบน้อม ของพระอริยะขั้นพระอนาคามีความนอบน้อม ของพระอริยะขั้นพระอรหันต์ จึงต่างกัน ผู้มีความนอบน้อมในพระรัตนตรัย ยิ่งกว่าบุคคลอื่นต้องเป็นพระอรหันต์ผู้ซึ่งได้ เห็นธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม


ความคิดเห็น 6    โดย opanayigo  วันที่ 13 ม.ค. 2552

อนุโมทนานะคะ


ความคิดเห็น 7    โดย choonj  วันที่ 14 ม.ค. 2552

ผู้ที่ได้พบพระตถาคตเช่นพวกเทวดามีโอกาสได้พิจารณา สอบถาม เทียบเคียงจึงรู้ได้ถูกต้อง สมบูรณ์ ไม่คลาดเคลื่อน ส่วนพวกเรานี่สิในอดีตอาจได้พบพระตถาคตแต่ยังไม่มีปัญญา มาตอนนี้จะพิจารณา สอบทาน เทียบเคียงให้รู้ได้ถูกต้องสมบูรณ์ ไม่คลาดเคลื่อน นั้นไม่ใช่หาได้ง่ายแล้ว แต่ก็ยังดีเมื่อมั่นคงในพระรัตนตรัย บัณฑิตยังสรรเสริญ ครับ


ความคิดเห็น 8    โดย pornpaon  วันที่ 19 ม.ค. 2552

ฉะนั้น การเลื่อมใสใดๆ นั้น ไม่ควรให้เกินกว่า การเลื่อมใสในพระรัตนตรัยและเมื่อมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้ว ก็ควรแสดงความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัยด้วย.

แต่ถ้าผู้ใด มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ อย่างแท้จริงก็ย่อมจะมีการพิจารณา สอบทาน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัย อยู่เสมอซึ่งจะเป็นเหตุให้หนทางในการประพฤติปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมของผู้นั้น ถูกต้อง สมบูรณ์ และไม่คลาดเคลื่อนจากพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงแล้ว.

กราบขอบพระคุณและกราบขออนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนาคุณพุทธรักษา

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย pamali  วันที่ 21 มิ.ย. 2553

กราบอนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 10    โดย chatchai.k  วันที่ 25 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ