การนินทา หรือ การใส่ร้าย ว่าร้ายบุคคลอื่น คงต้องเกิดจากอกุศลจิตของผู้กล่าว ขอเรียนถามดังนี้
1. การนินทา เป็นการนำเรื่องจริงที่ไม่ดีของบุคคลอื่นมาพูดใช่ไหมครับ ไม่แน่ใจว่า เข้าใจถูกหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ไม่ผิดศีลใช่ไหมครับ
2. การใส่ร้าย หรือ การว่าร้าย เป็นการนำเรื่องไม่ดีที่ไม่จริงเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นมาพูดให้บุคคลอื่นรับทราบ เป็นเรื่องที่ผิดศีลแน่นนอน เพราะเป็นการพูดเท็จ ก็เป็นกรรมที่ผู้พูดได้กระทำด้วยความตั้งใจจงใจ ผู้ที่ถูกใส่ร้าย หรือ ว่าร้าย ก็ได้รับวิบากใช่ไหมครับ แต่ถ้าผู้ถูกใส่ร้าย ไม่ทุกข์ใจ หรือ เกิดความเดือดร้อนใดๆ หรือไม่ได้รับรู้กับเรื่องที่ถูกใส่ร้าย แสดงว่าไม่ได้รับวิบากใช่ไหมครับ
3. ในกรณีที่ผู้ใส่ร้ายนำเรื่องไม่จริงไปพูด โดยคิดว่าเป็นเรื่องจริง ผู้ที่นำไปพูดต่อ ผิดศีลข้อพูดเท็จหรือไม่ ในสังคมออน์ไลน์มีการแชร์เรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องธรรมะ เรื่องการเมือง เรื่องสุขภาพ มากมายหลายเรื่อง บางเรื่องก็ไม่จริงไม่ถูกต้อง ไม่ทราบเข้าข่ายผิดศีลข้อกล่าวคำเท็จไหมครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. การนินทา เป็นการนำเรื่องจริง ที่ไม่ดีของบุคคลอื่นมาพูดใช่ไหมครับ ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็ไม่ผิดศีลใช่ไหมครับ?
♦ การนินทา คือ พูดเรื่องของคนอื่น ทั้งที่เป็นเรื่องจริง หรือ เรื่องไม่จริงก็ได้ แต่การจะผิดศีลหรือไม่นั้นก็ต้องพิจารณา ถ้าพูดเรื่องไม่จริง เจตนาโกหกให้ผู้อื่นรับทราบในเรื่องของคนอื่น ก็ผิดศีลข้อมุสา แต่แม้กล่าวเรื่องจริงนินทาคนอื่น แต่กล่าวเรื่องจริงด้วยมีเจตนาส่อเสียด ให้คนที่รับฟังไม่ชอบคนนั้น เป็นต้น การกล่าวเรื่องจริงนั้นเป็นอกุศลกรรมบถ ล่วงการพูดส่อเสียด ครับ
2. การใส่ร้าย หรือ การว่าร้ายเป็นการนำเรื่องไม่ดีที่ไม่จริงเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นมาพูดให้บุคคลอื่นรับทราบ เป็นเรื่องที่ผิดศีลแน่นนอน เพราะเป็นการพูดเท็จ ก็เป็นกรรมที่ผู้พูดได้กระทำด้วย ความตั้งใจจงใจ ผู้ที่ถูกใส่ร้าย หรือ ว่าร้าย ก็ได้รับวิบาก ใช่ไหมครับ แต่ถ้าผู้ถูกใส่ร้าย ไม่ทุกข์ใจ หรือ เกิดความเดือดร้อนใดๆ หรือ ไม่ได้รับรู้กับเรื่องที่ถูกใส่ร้าย แสดงว่าไม่ได้รับวิบากใช่ไหมครับ?
♦ กรรมของใครก็ของคนนั้น จิตของใครก็ของคนนั้น การมีเจตนาด่า ว่าร้ายบุคคลอื่น เจตนาของผู้ว่าร้ายมีแล้ว และก็ว่าร้าย กรรมนั้นสำเร็จจากตัวผู้กระทำเอง ก็เป็นอันผิดศีล ส่วนการที่คนที่ถูกว่าร้ายจะเดือดร้อนหรือไม่นั้นก็เป็นอกุศลจิตหรือกุศลจิตของบุคคลที่ถูกว่าร้ายเอง ไม่เกี่ยวกับกรรมของผู้ที่ว่าร้ายที่ทำสำเร็จแล้วครับ ดังเช่น พระโกกาลิกะ ไปว่าร้ายพระอัครสาวกทั้งสอง คือ พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ ท่านเป็นพระอรหันต์ ย่อมไม่เดือดร้อนเกิดอกุศลเลย แต่พระโกกาลิกะ ก็ได้ทำกรรมสำเร็จ ว่าร้ายท่านแล้ว กรรมก็ให้ผล เพราะ การผิดศีล ครับ
3. ในกรณีที่ผู้ใส่ร้ายนำเรื่องไม่จริงไปพูด โดยคิดว่าเป็นเรื่องจริง ผู้ที่นำไปพูดต่อ ผิดศีลข้อพูดเท็จหรือไม่ ในสังคมออน์ไลน์มีการแชร์เรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องธรรมะ เรื่องการเมือง เรื่องสุขภาพ มากมายหลายเรื่อง บางเรื่องก็ไม่จริงไม่ถูกต้อง ไม่ทราบเข้าข่ายผิดศีลข้อกล่าวคำเท็จไหมครับ?
♦ การพูดเท็จ จะล่วงศีลข้อมุสา จะต้องดูองค์ของข้อนี้ ซึ่งผู้พูดจะต้องรู้ว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง แล้วมีเจตนาโกหกทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าเรื่องนั้นไม่จริง จึงชื่อว่าเป็นการกล่าวมุสาวาท แต่ถ้าไม่รู้ว่าเรื่องนั้นไม่จริง สำคัญว่า เรื่องจริง แชร์ไป ก็ไม่ผิดศีลข้อมุสาวาทแต่อย่างใด ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
♦ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ไม่พ้นไปจากอกุศล เพราะในขณะนั้นจิตเป็นอกุศล พูดถึงเรื่องของบุคคลอื่นว่า เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งไม่เป็นไปกับด้วยประโยชน์เลยแม้แต่น้อย เรื่องที่ควรพูดมีมากมายที่เป็นประโยชน์ แล้วไม่พูด เพราะถูกอกุศลครอบงำ ในขณะนั้นซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่เป็นกุศลอย่างแน่นอน ถ้าเป็นคำไม่จริง ก็ผิดศีลข้อพูดเท็จ
♦ ว่าร้าย กล่าวร้าย ให้ร้ายเป็นอกุศลจิตที่เกิดขึ้น ยิ่งถ้าคำพูดส่อเสียดเพื่อให้ผู้อื่นแตกแยกกัน หรือ คำพูดส่อเสียดเพื่อมุ่งที่จะทำให้ตนเป็นที่รักเป็นที่ไว้วางใจนั้น เป็นวจีทุจริต เป็นอกุศลกรรมบถ เมื่อถึงคราวให้ผลอย่างหนักย่อมทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ อย่างเบาเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ย่อมทำให้แตกจากมิตร คบกับใครไม่นานก็แตกแยกกัน โดยมูลแล้ว การพูดส่อเสียด เกิดจากโลภะ (ความโลภ ติดข้องยินดี พอใจ) บ้าง เกิดจากโทสะ (ความโกรธ ความไม่พอใจ) บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง ผู้ถูกว่าร้าย เป็นการได้รับผลของกรรมที่ตนเองได้กระทำแล้ว แต่ถ้าเกิดความทุกข์ใจเสียใจ ก็เป็นการสะสมอกุศล เป็นของตนเอง ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลนั้นมีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงและคลายความทุกข์ใจลงได้ ตามกำลังปัญญาของตน
♦ ก็ควรที่จะมีการพิจารณาใคร่ครวญก่อนว่า เป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ ก่อนที่จะส่งต่อ เพราะถ้าส่งเรื่องที่ไม่จริง ให้กับคนอื่น ก็ไม่เป็นประโยชน์เลย แม้แต่ในเรื่องของธรรมก็ต้องเป็นเรื่องของธรรม ซึ่งเป็นการกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ เท่านั้น ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....
1. ถ้าพูดไม่จริง ล่วงศีลข้อ ๔
2. ถ้าได้ยินเสียงไม่ดี ที่ไม่จริง เป็นผลของกรรม ถ้ามีปัญญาก็ไม่เดือดร้อนค่ะ
3. อยู่ที่เจตนา ถ้าพูดต่อโดยไม่รู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง ก็ไม่ผิดศีล แต่เป็นวจีทุจริตค่ะ
ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก ถ้านาย A เป็นคนไม่ดี มีนิสัยชอบขอยืมเงิน แล้วก็ไม่ใช้ ถ้านาย A ไปตีสนิทกับคนดีอีกคนหนึ่งซึ่งคุณรู้จัก บุคคลทั้งสองที่กล่าวมา คุณจะช่วยใคร ความมีเมตตาจะอยู่ตรงไหน? ความเป็นกลางในตัวอย่างที่ยกมาจะทำให้เข้าใจธัมมะตามความเป็นจริงได้หรือ? ถ้าคุณได้เตือนนาย A ด้วยความปราถนาดีต่อนาย A ว่าไม่ควรกระทำเช่นนั้นก็ย่อมกระทำได้ (หมายถึงคุณคุ้นเคยกับนาย A นะครับ) ส่วนคนดีที่คุณรู้จัก ผมว่าควรต้องพิจารณาว่าถ้าคนดีที่นาย A ไปทำความสนิทด้วย เป็นคนดีผู้ที่ไม่เดือดร้อนเพราะเขามีเงินมากมาย ผมก็จะไม่นำเรื่องของนาย A ไปนินทา แต่ถ้าคนดีที่นาย A ไปคบอยู่ด้วยมีฐานะปานกลางผมก็จะเลือกเอาเรื่องของนาย A ไปพูดให้ฟัง (ขอสนทนาด้วยแค่ข้อแรกเท่านั้น)
ขออนุโมทนา
สาธุๆ ค่ะ
บาปกรรมของคนเลว
ขออนุโมทนาครับ