[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ [เล่มที่ 17] - หน้าที่ ๖๕๙
เหตุที่ตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง
แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน (ไปกว่านั้น) ? เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์. อธิบายว่า บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย พวกตัณหาจริต พวกทิฏฐิจริต พวกสมถยานิกะและวิปัสสนายานิกะ (แยก) เป็นพวกละ ๒ ตามอ่อนและแก่กล้า
ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีตัณหาจริตแก่กล้า มีเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานที่ละเอียด เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แม้ผู้มีทิฏฐิจริตอย่างอ่อน มีจิตตานุปัสสนาสติปักฐาน ที่มีอารมณ์แยกออกไม่มากนักเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์. แต่ผู้มีทิฏฐิจริตแก่กล้า มีธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งวิสุทธิ และสติปัฏฐานข้อแรก ที่มีนิมิตจะที่พึงประสบได้ไม่ยาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของสมถยานิกบุคคล ประเภทยังอ่อน.
ข้อที่ ๒ เป็นทางแห่งวิสุทธิสมลยานิกบุคคล ประเภทแก่กล้า เพราะท่านดำรงอยู่ได้ไม่มั่นคงในอารมณ์ที่หยาบ.
ข้อที่ ๓ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปไม่มากนัก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์แม้ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทยังอ่อน.
ข้อที่ ๔ ที่มีอารมณ์แยกประเภทออกไปมาก เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์ของวิปัสสนายานิกบุคคลประเภทแก่กล้า.
สติปัฏฐานจึงตรัสไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไม่หย่อน ด้วยประการดังที่พรรณนามาน ดังนี้.
อาจารย์เคยบรรยายตามความเข้าใจของผมว่า อารมณ์ของสติปัฏฐานเลือกไม่ได้แล้วแต่เหตุปัจจัยว่าธรรมอะไรกำลังปรากฏในขณะนั้น เช่นนั้น ส่วนหนึ่งของอรรถกถาพระสูตรที่ว่า "ผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอารมณ์หยาบเป็นทางแห่งความบริสุทธิ์" เป็นต้น หมายความอย่างไร มีนัยอะไรในทางภาวนาหรือไม่ อรรถกถาของสูตรนี้ มีประโยชน์ในแง่การภาวนาอย่างไร
ข้อความในอรรถกถาท่านอธิบายตามความจริงของธรรมะ มิได้หมายถึงให้เลือกอารมณ์อนึ่ง ตัวเราเป็นผู้มีตัณหาจริตอย่างอ่อน หรืออย่างกล้า ทิฏฐิอย่างอ่อนหรืออย่างกล้าถ้ายังไม่รู้ การสะสมความรู้ความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ จะมีประโยชน์มากกว่าหรือไม่ครับ
การอบรมปัญญาเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องที่มีจริง กำลังเห็นขณะนี้รู้แล้วหรือยังคะ ถ้ายังไม่รู้เพียงแต่เริ่มระลึกเนืองๆ บ่อยๆ จนกว่าจะเป็นความรู้ขึ้น ปัญญามีหลายขั้น ขั้นฟัง ขั้นความเข้าใจเป็นปัญญาเบื้องต้น ที่จะนำไปสู่หนทางข้อปฏิบัติที่ถูก คือระลึกรู้ลักษณะทุกสิ่งที่มีจริง
แต่เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่างเท่านั้น ไม่ยิ่งไปหย่อน (ไปกว่านั้น) ?
เพราะทรงเกื้อกูลแก่เวไนยสัตว์.
นี่เป็นพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าครับ ถ้าพระองค์ไม่ได้ทรงแสดงธรรมส่วนอื่นๆ ประกอบไว้โดยละเอียด เราก็อาจจะหลงคิดว่า เมื่อได้ศึกษาบางส่วน ก็คงจะทำให้พอทราบว่า ตนเองมีจริตหนักไปในทางอย่างนั้นบ้าง เบาไปในทางอย่างนี้บ้าง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องคิดเอาเองทั้งหมด แต่ผู้ที่จะทรงทราบจริตของสัตว์โลกทั้งหลายอย่างละเอียด พร้อมทั้งรู้แจ้งถึงธรรมที่เหมาะแก่อัธยาศัยของสัตว์เหล่านั้น ก็ต้องเป็นด้วยพระปัญญาของพระองค์เท่านั้นครับ ผู้อื่นนอกนี้ไม่ใช่ฐานะที่จะพึงมีได้ เพราะฉะนั้น พระสูตรนี้ก็แสดงถึงพระพุทธคุณอันหาประมาณมิได้ของพระองค์ผู้เป็นเลิศกว่าสรรพสัตว์ทั้งมวล จะเกิดประโยชน์มากถ้าหากจะระลึกได้ด้วยกุศลจิตและจะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น เกิดความปีติซาบซึ้งยิ่งขึ้น ถ้าผู้ที่ศึกษานั้นเข้าใจหนทางในการเจริญสติปัฏฐาน พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานครับ
[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๘๕
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศลจะกล่าวให้ถูกต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นได้แก่นิวรณ์ ๕ “ เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศลจะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นได้แก่สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง ”ดังนั้น จากคำถามที่ว่า เหตุไฉน พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสติปัฏฐานไว้ ๔ อย่าง?
ที่สามารถจะพิจารณา ได้คือเพราะธรรมะเป็นอนัตตา เลือกไม่ได้ สติปัฏฐาน 4 ครอบคลุมปรมัตถธรรม 4 และ กองกุศลทั้งหมด
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
การสะสมจริตมาแตกต่างกันไป รู้ได้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า (อาสยานุสยญาณ) ซึ่งแม้พระสารีบุตรเองก็ไม่ทราบการสะสมอัธยาศัยของสัตว์โลกมา ซึ่งท่านพระสารีบุตรบอกกรรมฐานคืออสุภกรรมฐานให้กับศิษย์ของท่าน แต่ไม่ถูกจริตกับศิษย์ของท่าน ซึ่งพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกภิกษุนั้น ทรงทราบการสะสมอัธยาศัยของภิกษุนั้น จึงทรงเนรมิตดอกบัวสีทอง และก็ทำให้เหี่ยวไป ภิกษุนั้นพิจารณาและก็ได้บรรลุธรรม จะเห็นได้ว่าไม่มีใครจะรู้จริตนอกจากพระพุทธองค์ ดังนั้นจึงไม่ใช่การจะเลือกอารมณ์ แต่หมวดใดก็ละจริตเหล่านั้น เป็นจริงอย่างนั้นอยู่แล้วครับ ดังนั้นจึงต้องอบรมปัญญาขั้นการฟังจนเข้าใจขึ้นจะเป็นเหตุปัจจัยให้สติเกิดซึ่งก็แล้วแต่สติจะเกิดระลึกธรรมอะไร เป็นอนัตตา แต่ก็ไม่พ้นไปจาก 4 หมวดนี้ เกิดระลึกหมวดไหนก็ละสิ่งเหล่านั้นครับ ซึ่งจะขอนำข้อความมาเพิ่มเติมว่า ทำไมพระพุทธองค์ถึงแสดง สติปัฏฐาน ว่ามี 4 ครับ
อีกอย่างหนึ่ง ที่ตรัสว่า สติปัฏฐานมี ๔ ก็เพื่อละเสียซึ่งวิปัลลาสความสำคัญผิดว่างาม สุข เที่ยง และเป็นตัวตน. แท้จริงกายเป็นอสุภะ ไม่งาม แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสำคัญว่างาม ในกายนั้น. ด้วยทรงแสดงความไม่งามในกายนั้นแก่สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสสติปัฏฐานข้อที่ ๑ เพื่อละวิปัลลาสนั้นเสีย.
และในเวทนาเป็นต้น ที่สัตว์ยึดถือว่าสุข เที่ยง เป็นตัวตนเวทนาก็เป็นทุกข์ จิตไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา. แต่สัตว์ทั้งหลายก็ยังสำคัญว่าสุขเที่ยงเป็นตัวตน
ในเวทนา จิต ธรรมนั้น ด้วยทรงแสดงความเป็นทุกข์ เป็นต้น ในเวทนา จิต ธรรมนั้นแก่สัตว์เหล่านั้น จึงตรัสสติปัฏฐาน ๓ ที่เหลือเพื่อละวิปัลลาสเหล่านั้นเสีย
เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ที่ตรัสว่า สติปัฏฐาน ๔ ไม่หย่อนไม่ยิ่งก็เพื่อละความสำคัญผิดว่า งาม สุข เที่ยงและตัวตนเสีย ดังที่กล่าวมานี้ [เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้าที่ ๒๗๘ จากพระสูตรมีข้อความที่ว่า ที่ตรัสว่า สติปัฏฐานมี ๔ ก็เพื่อละเสียซึ่งวิปัลลาส ความสำคัญผิดว่างาม สุข เที่ยง และเป็นตัวตน.
เราปุถุชนทั้งหลายก็ยังมีความวิปลาส ทั้ง ๔ คือ สำคัญผิดว่างาม เที่ยง สุข เป็นตัวตน ดังนั้นการอบรมปัญญาจึงไม่เลือกหมวด แล้วแต่สติ จนสติรู้ทั่ว จึงละวิปลาสทั้ง 4 ได้ เพราะแต่ละวิปลาสก็ละด้วยหมวดแต่ละหมวดครับ
ขออนุโมทนา อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์
ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดหากให้ความสำคัญกับผล จะมี "ประโยชน์"มากกว่าหรือไม่.?
ไม่ว่าเหตุ จะมีที่มาอย่างไร ผล คือ "ความจริง" ใช่หรือไม่.? นอกจาก ความจริงที่ปรากฏให้รู้ได้ทาง กาย เวทนา จิต ธรรมที่พิสูจน์ได้จริงๆ ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีทางอื่นให้รู้ได้อีกหรือไม่.? ถ้าเลือกได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัยทุกสิ่งทุกอย่างก็จะบังคับบัญชาได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ค่ะ.
ขอขอบคุณ ขออนุโมทนา