วัด เป็นธรรมอะไร?
โดย เมตตา  5 มี.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 47574

สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๗

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 502

๕. รามเณยยกสูตร

ว่าด้วยภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์

[๙๒๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ อยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

ครั้งนั้นแล ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นแล้วทรงถวายบังคมแล้วประทับอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ประทับเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า สถานที่เช่นไรหนอ เป็นภูมิสถานอันน่ารื่นรมย์.

[๙๒๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

อารามอันวิจิตร ป่าอันวิจิตร สระโบกขรณีที่สร้างอย่างดี ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ อันแบ่งออก ๑๖ ครั้ง แห่งภูมิสถานอันรื่นรมย์ของมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านหรือป่าก็ตาม เป็นที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิสถานอันน่ารินรมย์.

อรรถกถารามเณยยกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในรามเณยยกสูตรที่ ๕ ต่อไปนี้ :-

บทว่า อารามเจตฺยา ได้แก่ เจดีย์ในสวน. บทว่า วนเจตฺยา ได้แก่ เจดีย์ที่ภูเขาและป่า. แม้ในบททั้งสองนั้น พึงทราบว่า ชื่อว่า เจดีย์ เพราะอรรถว่า ทำให้เกิดความเคารพ. บทว่า มนุสฺสรามเณยฺยสฺส คือความเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ของมนุษย์. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงถึงพื้นที่อันน่ารื่นรมย์ด้วยสามารถเป็นพื้นที่อันน่ารื่นรมย์ของมนุษย์ จึงตรัสว่า คาเม วา ดังนี้เป็นต้น.

จบอรรถกถารามเณยยกสูตรที่ ๕


[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 110

๕. กามสูตร

ว่าด้วยกามตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปนาน

[๑๙๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับ แล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่พิจารณาเห็นแม้สังโยชน์อันหนึ่งอย่างอื่น ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ผู้ประกอบแล้วแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน เหมือน สังโยชน์ คือ ตัณหานี้เลย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วย สังโยชน์ คือ ตัณหาย่อมแล่นไป ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

บุรุษ ผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปสิ้นกาลนาน ย่อมไม่ก้าวล่วง

สงสารอันมีความเป็นอย่างนี้และความเป็น อย่างอื่นไปได้ ภิกษุรู้ตัณหาซึ่งเป็นแดน เกิดแห่งทุกข์นี้โดยความเป็นโทษแล้ว เป็นผู้ ปราศจากตัณหา ไม่ถือมั่น มีสติ พึง เว้นรอบ

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้ว ฉะนั้นแล.

จบกามสูตรที่ ๕


คุณสาคร (แมว) : ได้ฟังวันนี้ก็รู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่งที่ท่านอาจารย์ให้ความหมายของ คำว่า วัด แล้วก็ พระพุทธเจ้าคือใคร? ก็ได้ระลึกถึงสิ่งที่ต้องขอยก คำ ของน้องทองเส็งที่นครเวียงจันทร์ ที่น้องได้เรียนถามท่านอาจารย์ว่า แต่ก่อนไม่รู้ว่า วัดคืออะไร คือการเข้าไปวัดก็เป็นเหมือนว่า หรือพระธรรมคืออะไร เข้าไปวัดก็รู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เห็นโบสถ์แล้วก็คิดว่า นั่นคือพระธรรมคำสอน คือพระพุทธเจ้า คือสัญญาลักษณ์ของพระพุทธเจ้า

เมื่อท่านอาจารย์ได้กล่าว คำนี้ ขึ้นมา คือแต่ละคำของท่านอาจารย์เป็นสิ่งที่เหมือนพวกเราได้มาพบสิ่งซึ่งไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน นี่เป็นสิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ สิ่งที่มีค่าที่สุดที่พวกเราได้มาพบ แม้ดูเหมือนว่า เป็นคำที่ดูเหมือนธรรมดา คำว่า วัด พระพุทธเจ้า ตลอดชีวิตมาไม่เคยรู้คำนี้ว่า มีความหมายว่าอย่างไร เข้าไปวัดก็เพื่อที่จะไปกราบไหว้ขออย่างใดอย่างหนึ่ง แม้จิตใจจะมีความอ่อนโยนในบางครั้งบางคราว ตอนนี้เราก็สำนึกได้ว่า นั่นก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะว่านั่นมีความไม่รู้มากมายอยู่ในความที่คิดว่าตัวเองศรัทธา แล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึงพระพุทธเจ้า คือไม่รู้จักพระองค์ท่านเลยว่า พระองค์ท่านคือใคร

แต่เมื่อได้มาพบได้มาฟังท่านอาจารย์ ก็เป็นสิ่งที่เหมือนได้พบพระพุทธเจ้า เพราะว่าท่านอาจารย์ได้มาแสดงว่า ความเป็นพระพุทธเจ้าคืออะไร? แล้วพระพุทธองค์ท่านตรัสว่าอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต แม้เป็นเพียงการเข้าใจที่เล็กน้อยเหลือประมาณ แต่เราก็ได้พบสิ่งที่ถูกต้อง ความเมตตาของท่านอาจารย์นี่ประมาณไม่ได้ ไม่เคยนึกเลยว่า คำว่า วัด พระพุทธองค์จะมีความลึกซึ้งถึงเพียงนี้ และก็ยิ่งสิ่งที่พระพุทธองค์นำมาทรงแสดง พระมหากรุณาคุณของพระองค์นั้นสุดประมาณ แต่ก็ไม่มีใครที่จะนำความเป็นพระมหากรุณาคุณของพระองค์มาแสดงได้ยิ่งยวดเท่าท่านอาจารย์

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่คิดว่าตลอดชีวิต คือเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด แม้เป็นเพียง ๑ หรือ ๒ คำ แต่เป็นสิ่งที่มีความลึกซึ้งเหลือประมาณ และการที่จะเข้าใจได้ นี่ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ และเมื่อท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงว่า วัด หมายถึงที่มาซึ่งความยินดี ก็นึกถึงขณะนี้ซึ่งกำลังฟังท่านอาจารย์ และคณะท่านอาจารย์กันอยู่ ก็ได้มีความรู้สึกว่าแม้ตรงนี้เองก็เป็นวัดหรือไม่? กราบท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ ขอความละเอียดในส่วนนี้อีกครั้งค่ะ

ท่านอาจารย์: นี่เป็นความหมายหนึ่ง เพราะว่าจริงๆ แล้ว วัดเป็นธรรมอะไร? เห็นไหม ก็ต้องลึกซึ้งต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่มีความสนใจที่จะเข้าใจความละเอียด ขณะนั้นก็เป็นบารมีที่จะรู้ว่า ธรรมลึกซึ้ง ตรงต่อความลึกซึ้ง ยากที่จะสามารถที่จะรู้แจ้ง ใน วัด อีกนัยหนึ่งใช่ไหม เพราะเหตุว่า เราพูด คำว่า วัด จนชิน แล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงความจริงของวัดหรือเปล่า? ต้องต่อไปอีกมากมายที่จะรู้ในความเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

ทุกคนมองเห็น วัด รูปร่างอย่างนี้ แต่ว่าตัวจริงขณะที่เห็นคืออะไร และขณะที่เป็นวัดตามมาจากการเห็นคืออะไร? ทั้งหมดนี่อยู่ในความมืด

เพราะฉะนั้น ขณะใดก็ตามที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีสถานที่ไหม หรือว่าเป็นธรรมทั้งหมด เห็นไหม ต้องต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น ในความหมายที่ว่าเป็นที่รื่นรมย์ นำมาซึ่งปัญญาความเห็นที่ถูกต้องเป็นความหมายหนึ่งของ วัด เพราะถ้าไม่มีที่อยู่ที่อาศัย แล้วคำต่างๆ เหล่านี้จะมาจากไหน? เพราะอย่างไรๆ ก็อยู่ในโลกนี้แหละ ตรงไหนก็ตรงนั้น แต่ในที่ๆ มีผู้ที่เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง สละชีวิตของคฤหัสถ์ที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความติดข้อง เพราะได้เข้าใจความลึกซึ้งอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น ที่นั้นเป็นที่อยู่ของผู้ที่เห็นความลึกซึ้งของพระธรรม และรู้หนทางที่จะละคลายขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้น นี่คือความหมายที่เรามองเห็นวัด ตัววัด เป็นที่อยู่อาศัย แต่ว่าความเข้าใจต้องลึกซึ้งกว่านั้นจนไม่มีเรา และไม่มีใครเลยแม้แต่วัด ในเมื่อไม่มีเรา จะมีวัดไหม?

ขอเชิญอ่านได้ที่ ...

เป็นธรรม ไม่มีเรา

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ



ความคิดเห็น 1    โดย swanjariya  วันที่ 6 มี.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและยินดียิ่งในกุศลค่ะน้องเมตตา


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 1 เม.ย. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ