เวทนา เป็นความรู้สึก ความสุขทางกาย สุขทางใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เฉยๆ ใช่ไหมครับ? แล้วความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ อันนี้ เป็นเวทนาด้วยรึเปล่า... หรือ เป็นการปรุงไปแล้ว (สังขาร) เป็นตัณหา...? (เช่นนั้น ชอบไม่ชอบเฉยๆ ก็เป็นตัณหาสิ) คนเราชอบความสุขกายสุขใจเป็นปกติอยู่แล้ว... จึงวิ่งหาเพื่อให้ได้ความสุขกายสุขใจนั้น... เพราะคนเราชอบความสบายกายสบายใจ... ใครบ้างจะชอบความไม่สบายกายไม่สบายใจเป็นกังวลอันเป็นความทุกข์ เมื่อไม่ชอบก็เกิดเป็นวิภวตัณหาเวลามีผัสสะก็เกิดความรู้สึก อันนี้ชอบ อันนี้ไม่ชอบ อันนี้เฉยๆ ซึ่งก็ไม่เหมือนกันในแต่ละคน
บางคนชอบอย่างนี้ อีกคนชอบอย่างนั้นพอชอบก็เกิดสุข... ไม่ชอบก็เพราะเป็นทุกข์ เฉยๆ ก็อาจเพราะยังไม่ชัดต่ออารมณ์นั้นๆ
มาถึงตรงนี้... ดูเหมือนเวทนาจะเป็นเพียงความรู้สึกชอบไม่ชอบเฉยๆ มากกว่าที่จะเป็นความหมายที่ว่าเป็นความรู้สึกสุขหรือทุกข์หรือเฉยๆ ...เท่าที่ลองลำดับมาด้วยตัวเอง ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าเวทนาเป็นความหมายแบบไหน เป็นวิจิกิจฉาในขอเวทนามานานแล้วครับ...ปกติจะเห็นชัดแต่ตัณหา (กระบวนการแห่งสังขาร) เลยเข้ามาสมัครสมาชิกถามที่นี้เลยครับ ^^"หากอ่านแล้วเกิดความวกวนงงๆ ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความเข้าใจเบื้องต้น คือ ตั้งต้นที่ เวทนา คือ อะไร เวทนาคือ ความรู้สึก ซึ่งมีหลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงแค่เวทนาเดียว เพราะเวทนา มี ๕ ได้แก่ ความรู้สึกที่เป็นสุขทางใจ (โสมนัสเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ (โทมนัสเวทนา) ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ทางกาย (ทุกขเวทนา) และความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์หรือ เฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา) ซึ่งจะต้องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจว่า จิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้ปราศจากเวทนา แต่จะเป็นเวทนาประเภทใดที่เกิดกับจิตประเภทใด ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เช่น ขณะที่กำลังเห็นก็มีเวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วย ขณะที่โกรธไม่พอใจ ก็มีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ขณะที่เจ็บปวดทางกาย ก็มีทุกขเวทนาเกิดร่วมด้วย เป็นต้น
ขณะที่ชอบ หรือไม่ชอบ ไม่พอใจ นั้น ไม่ใช่ความรู้สึก แต่มีความรู้สึกเกิดร่วมด้วยในขณะที่ชอบ และ ในขณะที่ไม่ชอบ เพราะในขณะที่ชอบอาจจะมีความรู้สึกเฉยๆ เกิดร่วมด้วย หรือ มีความรู้สึกที่เป็นโสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ ตามควรแก่อกุศลจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยขณะนั้นๆ แต่ถ้าเป็นในขณะที่ไม่ชอบ ก็มีความรู้สึกเกิดร่วมด้วย คือ โทมนัสเวทนา ชอบ เป็นโลภะหรือตัณหา เป็นสังขารขันธ์ ถ้าไม่ชอบ ก็เป็นโทสะ เป็นความไม่พอใจ เป็นเจตสิกหนึ่งที่เป็นสังขารขันธ์ แม้ในขณะที่เป็นโมหมูลจิตคือ มีความไม่รู้เกิดร่วมด้วย ก็มีเวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนา
ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ และที่สุดแล้ว จุดประสงค์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า เวทนา เป็นธรรมที่มีจริง ไม่ใช่เรา ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นอย่างยิ่ง ครับ.
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ