[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 463
ปัญจมปัณณาสก์
อักโกสกวรรคที่ ๒
๓. สีลสูตร
ว่าด้วยโทษของความทุศีล และคุณของศีล
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 463
๓. สีลสูตร
ว่าด้วยโทษของความทุศีล และคุณของศีล
[๒๑๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงความเสื่อมโภคทรัพย์อย่างมาก อันมีความประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นโทษข้อที่ ๑ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์ที่ชั่วของผู้ทุศีล มีศีลวิบัติย่อมฟุ้งไป นี้เป็นโทษข้อที่ ๒ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง ผู้ทุศีล มีศีลวิบัติ จะเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมไม่องอาจ เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นโทษข้อที่ ๓ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ นี้เป็นโทษข้อที่ ๔ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ อีกประการหนึ่ง คนทุศีล มีศีลวิบัติ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก นี้เป็นโทษข้อที่ ๕ ของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษของคนทุศีล เพราะศีลวิบัติ ๕ ประการ นี้แล.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อม ด้วยศีล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ในธรรมวินัยนี้ ย่อมถึงกองโภคทรัพย์มากมาย อันมีความไม่ประมาทเป็นเหตุ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๑ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของคนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมฟุ้งไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๒ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 464
คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล จะเข้าสู่บริษัทใดๆ คือ ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คฤหบดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมองอาจ ไม่เก้อเขินเข้าไป นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๓ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๔ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล อีกประการหนึ่ง คนมีศีล ถึงพร้อมด้วยศีล เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ นี้เป็นอานิสงส์ข้อที่ ๕ ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของคนมีศีล เพราะความถึงพร้อมด้วยศีล ๕ ประการนี้แล.
จบสีลสูตรที่ ๓
อรรถกถาสีลสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในสีลสูตรที่ ๓ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทุสฺสีโล ได้แก่ ไม่มีศีล คือ ไร้ศีล. บทว่า สีลวิปนฺโน ได้แก่ มีศีลวิบัติ ขาดสังวรระวัง. บทว่า ปมาทาธิกรณํ ได้แก่ เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ.
ก็สูตรนี้ ใช้สำหรับคฤหัสถ์. แม้บรรพชิตก็ใช้ได้เหมือนกัน. จริงอยู่ คฤหัสถ์ย่อมเลี้ยงชีวิตอยู่ได้ ด้วยหลักศิลปะใดๆ ไม่ว่าทำนา หรือค้าขาย ถ้าประมาทโดยทำปาณาติบาต เป็นต้น ศิลปะนั้นๆ ก็ให้สำเร็จผลตามกาลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น เขาก็ขาดทุน. และเมื่อทำปาณาติบาต และอทินนาทาน เป็นต้น ในเวลาที่เขาไม่ทำกัน โทษก็ถึงความเสื่อม แห่งโภคทรัพย์เป็นอันมาก. บรรพชิตผู้ทุศีล ย่อมถึงความเสื่อมจากศีล พระพุทธพจน์ ฌาน และจาก
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 465
อริยทรัพย์ ๗ เพราะมีความประมาทเป็นเหตุ. สำหรับคฤหัสถ์ ชื่อเสียงที่เลว ย่อมฟุ้งไปท่ามกลางบริษัท ๔ ว่า คฤหัสถ์คนโน้น เกิดในตระกูลโน้น เป็นคนทุศีล มีบาปธรรม สลัดโลกนี้ และโลกหน้าเสียแล้ว ไม่ให้ทานแม้แต่อาหาร ดังนี้. สำหรับบรรพชิตชื่อเสียงที่เสียก็ฟุ้งไป อย่างนี้ว่า บรรพชิตรูปโน้น รักษาศีลก็ไม่ได้ เรียนพระพุทธพจน์ก็ไม่ได้ เลี้ยงชีพอยู่ด้วยเวชกรรม เป็นต้น เป็นผู้ประกอบด้วยความไม่เคารพ ๖ ดังนี้. บทว่า อวิสารโท ความว่า คฤหัสถ์ก่อน เขาคิดว่า คนบางคนจักรู้กรรมของเรา เมื่อเป็นเช่นนั้น คนทั้งหลายจักจับเรา หรือจักแสดงเราแก่ราชตระกูลดังนี้ จึงเข้าไปหาอย่างหวาดกลัว เก้อเขิน คอตก คว่ำหน้า นั่งเอานิ้วหัวแม่มือเขี่ยดิน ไม่กล้าพูด ในสถานที่ประชุม ของคนมากๆ แน่แท้. ฝ่ายบรรพชิตคิดว่า ภิกษุประชุมกันมากๆ ภิกษุบางรูป จักรู้กรรมของเราแน่ เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกภิกษุจักห้าม ทั้งอุโบสถ ทั้งปวารณาแก่เรา ให้เราเคลื่อนจากความเป็นสมณะแล้ว จักคร่าออกไป ดังนี้ จึงเข้าไปหาอย่างหวาดกลัว ไม่กล้าพูด. ส่วนบางรูปแม้ทุศีล ถูกทำลายแล้ว ก็ยังเที่ยวไป บรรพชิตรูปนั้น ชื่อว่า เป็นผู้เก้อ หน้าด้าน โดยอัธยาศัยทีเดียว.
บทว่า สมฺมูฬโห กาลํ กโรติ ความว่า ก็การยึดถือทุศีลกรรม ประพฤติแล้ว ย่อมปรากฏแก่เธอ ผู้นอนบนเตียงมรณะ เธอลืมตาขึ้นเห็นโลกนี้ หลับตาก็เห็นโลกหน้า อบาย ๔ ย่อมปรากฏแก่เธอ เธอเป็นดุจถูกหอก ๑๐๐ เล่ม ประหารที่ศีรษะ เขาส่งเสียงร้องมาว่า ท่านทั้งหลายช่วยห้ามที ท่านทั้งหลายช่วยห้ามที ก็ตาย ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า สมฺมูฬฺโห กาลํ กโรติ. บทที่ ๕ ง่ายทั้งนั้น อานิสงสกถาพึงทราบโดยปริยาย ตรงกันข้ามกับคำที่กล่าว มาแล้ว.
จบอรรถกถา สีลสูตรที่ ๓