จิตตสังเขปบทที่ ๑๕
จำแนกจิต โดย โลกียจิตและโลกุตตรจิต
ก่อนอื่นควรเข้าใจความหมายของคำว่า “โลก” ในวินัยของพระอริยเจ้า ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ฉันนวรรคที่ ๔ ปโลกสูตร ซึ่งมีข้อความว่า ...
(๑๐๑) ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกกันว่า โลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ จึงเรียกกันว่า “โลก” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดา นี้เรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดาจักขุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักขุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา จักขุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย มีความแตกสลายเป็นธรรมดา ฯลฯ ตลอดไปจนถึงทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เป็นธรรมดาของพระอริยเจ้า แต่ไม่ใช่ธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลต้องประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดานี้เรียกว่า “โลก” ในอริยวินัย โลก คือ ทุกสิ่งซึ่งเกิดดับ
ฉะนั้น สภาพธรรมซึ่งไม่เกิดดับเท่านั้นที่ไม่ใช่โลก เป็นสภาพธรรมที่พ้นจากโลกเหนือโลกเป็นโลกุตตระ คือ พระนิพพาน
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ