บุคคลคนเดียวที่เกิดขึ้นแล้วยังความพินาศแก่โลกเป็นต้น
โดย pirmsombat  24 ธ.ค. 2554
หัวข้อหมายเลข 20219

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เชิญคลิกอ่านที่นี่

วรรคที่ ๓.. บุคคลคนเดียวที่เกิดขึ้นแล้วยังความพินาศแก่โลกเป็นต้น



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ในความเป็นจริง มีแต่สภาพธรรม ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีตัวตน ดังนั้น บุคคลที่ทำให้โลกพินาศ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกับสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะมีสภาพธรรมที่ไม่ดีเกิดขึ้นนั่นก็คือ ความเห็นผิด

ความเห็นผิด เมื่อเกิดขึ้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์กับจิตนั้นและไม่เป็นประโยชน์กับผู้ที่เกิดความเห็นผิด นำมาซึ่งความพินาศกับตนเองก่อน เพราะเมื่อมีความเห็นผิด ก็มีการกระทำทางกาย วาจาที่ผิดและคิดนึกก็ผิด ปฏิบัติผิดด้วย เมื่อทำอกุศลกรรมประการต่างๆ ก็ย่อมไม่พ้นจากอบายได้เลยและก็ไม่มีทางที่จะพ้นจากสังสารวัฏฏ์ การเวียนว่ายตายเกิดได้ครับ

แต่เมื่อความเห็นผิดมีกำลังมาก ไม่ใช่เพียงมีความเห็นผิดด้วยตนเองเท่านั้น ยังชักชวน แนะนำผู้อื่นในทางที่ผิด ด้วยความเห็นผิดนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตามและเชื่อในคำนั้น ก็ย่อมเห็นผิดตามไปด้วย จึงทำให้สัตว์โลกมากมายที่มากไปด้วยกิเลสอยู่แล้วและจิตใจก็ย่อมไหลไปในทางอกุศลได้ง่ายเป็นปกติอยู่แล้ว ก็ไหลไปกับความเห็นผิดหลงยึดถือในสิ่งที่ผิดว่าถูก และก็มีการแนะนำเผยแพร่ในสิ่งที่ผิดมากมาย ทำให้สัตว์โลก ผู้ที่มืดบอดอยู่แล้ว ก็มืดบอดซ้ำ จมลงไปในความเห็นผิด มีจำนวนมากมายครับ

ดังนั้น บุคคลคนเดียวที่มีความเห็นผิด ก็ย่อมทำให้โลกพินาศ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลกับสัตว์โลกอันมากด้วยประการฉะนี้ครับ ผู้ที่ชักชวนในหนทางที่ผิด และผู้ที่ปฏิบัติตาม จึงบาปมากครับ

ส่วนบุคคลคนเดียวที่เกิดมาในโลกแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกุลแก่สัตว์โลกมากมาย คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์แสดงความจริง ให้สัตว์โลกเกิดความเห็นถูกและสามารถละกิเลส พ้นจากกองทุกข์ได้ครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย pamali  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ผู้ซึ่งยังให้บุคคลจำนวนมากมาย ได้รับฟังพระธรรมคำสั่งสอนที่ถูกต้อง ตรง และชัดแจ้งเป็นจริง เพื่อละความยึดถือตัวตน ... ละอกุศล เห็นโทษของอกุศล และเห็นประโยชน์ของกุศลกรรม

ขอกราบเท้าอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านอาจารย์ฯ และทุกๆ ท่านค่ะ

สาธุ ...


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เพราะมีความเห็นผิดเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกบุคคลนั้นว่า เป็นบุคคลผู้มีความเห็นผิดเป็นผู้ที่มีความเห็นที่ไม่ตรง คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม เมื่อเห็นผิดแล้ว ทุกอย่างก็ผิดไปหมด ความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา และทางใจก็ย่อมผิดไปด้วย คล้อยตามความเห็นที่ผิด คนที่มีความเห็นผิด ก็จะแนะนำผู้อื่นไปในทางที่ผิดไปด้วย

เพราะคำสอนของบุคคลประเภทนี้ มีเพียงความเห็นผิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้ผู้อื่นมีความเห็นผิดตามไปด้วย เพิ่มพูนกิเลสอกุศลให้มีมากขึ้น ทำให้ยากที่จะพ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ไปได้ ขณะที่เผยแพร่ความเห็นผิดนั้นเปรียบเหมือนกับการหว่านหนาม และการกระจายยาพิษ ซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดทุกข์โทษภัยมากมายในวงกว้างเท่านั้น

ซึ่งแตกต่างไปจากบุคคลผู้ที่มีปัญญาอย่างสิ้นเชิง บุคคลผู้มีปัญญามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวก เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นมาในโลกเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง แนะนำแต่สิ่งที่ดีงาม ให้ตั้งอยู่ในธรรมอันงาม แสดงสิ่งที่มีจริงให้ผู้อื่นได้เข้าใจตามความเป็นจริง ไม่เคยนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้แก่ผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย ครับ

... ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 4    โดย pirmsombat  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณคำปั่นและทุกๆ ท่านด้วยครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

[๒๐๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคูถแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญ โดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย.

[๒๐๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมูตร ... น้ำลาย ... หนอง ... เลือดแม้เพียงเล็กน้อย ก็มีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญ โดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย.

คำว่า "ภพแม้เพียงเล็กน้อย" ท่านหมายเอาถึงสิ่งใดครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 6    โดย paderm  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 5 ครับ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงในเรื่อง ภพแม้เพียงเล็กน้อย คือพระองค์ไม่สรรเสริญ ภพแม้เพียงเล็กน้อย ในที่นี้ หมายถึง การถือปฏิสนธิ เกิดขึ้นในภพภูมิใดภพภูมิหนึ่ง แม้จะเป็นสุทธาวาสภูมิของพระอนาคามี พระอรหันต์ หรือไม่ว่าจะในภพภูมิใด เพียงการเกิดขึ้นเท่านั้น แม้แพียงจะมีอายุสั้นๆ เล็กน้อย เพียงระยะเวลาเล็กน้อย เพียงลัดนิ้วมือเดียว พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงสรรเสริญครับ เพราะยังเป็นไปกับการเกิด การเวียนว่ายตายเกิดนั่นเอง ยังเป็นทุกข์อยู่ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงคือการไม่เกิดอีกของสภาพธรรมที่เป็นพระนิพพานครับ ดังอรรถกถา อธิบายไว้ครับ

บทว่า อปฺปมตฺตกํ ปิ ภวํ น วณฺเณมิ ความว่า เราไม่สรรเสริญการถือปฏิสนธิในภพชั่วกาลเวลาเล็กน้อย. บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงการเปรียบเทียบกาลเวลานั้น จึงตรัสว่า โดยชั้นที่สุดแม้ชั่วกาลเวลาลัดนิ้วมือ ดังนี้. ในคำนี้ท่านอธิบายว่า ชั่วกาลเวลาแม้สักว่าเอานิ้ว ๒ นิ้ว มารวมกันแล้วก็ดีดแยกออก เป็นกำหนดอย่างต่ำที่สุด. คำที่เหลือในที่ทุกแห่งมีความง่ายทั้งนั้นแล.


ซึ่งในคาถาธรรมบท มีเรื่องที่พระภิกษุผู้เป็นพระอนาคามี ยินดีเพียงคุณธรรมนั้น เพราะสำคัญว่าจะเกิดอีกไม่นาน คือจะเกิดในภพภูมิข้างหน้า และไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทรงติเตียนถึงเรื่องที่หากมีการเกิดถือปฏิสนธิแม้เพียงกาลเวลาเล็กน้อย (ภพแม้เพียงเล็กน้อย) พระองค์ก็กล่าวว่าไม่ดี ไม่สรรเสริญ เปรียบเหมือนอุจจาระ แม้เพียงเล็กน้อยก็เหม็น ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อย คือหากมีการเกิดขึ้นของสภาพธรรมไม่ว่าภพภูมิใด แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ดี เพราะยังเป็นไปกับการเกิด ไม่ใช่ความสุข คือความไม่เกิดครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 7    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ช่างต่างกับเราปุถุชนที่ยังยินดีในภพที่ดีที่สูงขึ้นเป็นอย่างมากเลยนะครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาอาจารย์ผเดิมมากครับ


ความคิดเห็น 8    โดย เซจาน้อย  วันที่ 24 ธ.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 9    โดย kinder  วันที่ 25 ธ.ค. 2554
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 10    โดย intra  วันที่ 25 ธ.ค. 2554

การตั้งความหวังในภพภูมิที่ดีก็ยังเป็นการไม่ถูกใช่หรือเปล่าคะ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย paderm  วันที่ 25 ธ.ค. 2554

เรียน ความเห็นที่ 10 ครับ

การตั้งความหวังในภพภูมิที่ดีก็ยังเป็นการไม่ถูกใช่หรือเปล่าคะ

ขณะที่ตั้งความหวัง เป็นอกุศลธรรม คือ โลภะ ซึ่งมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพราะสัตว์ทั้งหลายรักสุขเกลียดทุกข์ โลภะคือความหวังในการเกิดในภพภูมิที่ดีก็เป็นโลภะที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดังนั้น โลภะจะกล่าวว่าดีไม่ได้ เพราะเป็นอกุศลธรรมครับ ซึ่งในพระไตรปิฎกแสดงว่า ผู้ที่ทำบุญปรารถนาวัฏฏะ คือปรารถนาเกิดในภพภูมิที่ดีเป็นมิจฉาปฏิปทา คือเป็นหนทางที่ผิด เพราะบุญนี้ไม่สามารถทำให้ดับกิเลสได้ครับ ส่วนบุญใดน้อมไปเพื่อการดับกิเลส ไม่เกิดอีก น้อมไปในนิพพาน บุญหรือการกระทำนั้นเป็นสัมมาปฏิปทา เป็นหนทางที่ถูกที่ชอบครับ

ขออนุโมทนา

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 36

อรรถกถาปฏิปทาสูตรที่ ๓

สิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งบุคคลปรารถนาวัฏฏะกล่าวคือภพ ๓ ปฏิบัติ โดยที่สุดอภิญญา ๕ หรือสมาบัติ ๘ สิ่งทั้งหมดเป็นไปในฝ่ายวัฏฏะ จัดเป็นมิจฉาปฏิปทา เพราะถือวัฏฏะเป็นสำคัญ. สิ่งใดสิ่งหนึ่งอันบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะ คือพระนิพพาน ปฏิบัติ โดยที่สุดถวายทานเพียงข้าวยาคูกระบวยหนึ่งก็ดี เพียงถวายใบไม้กำมือหนึ่งก็ดี สิ่งทั้งหมดนั้นจัดเป็นสัมมาปฏิปทาโดยแท้เพราะเป็นฝ่ายวิวัฏฏะ


ความคิดเห็น 12    โดย สมศรี  วันที่ 25 ธ.ค. 2554

การได้สมาคมกับกัลยาณมิตร จึงเป็นมงคลยิ่งที่จะได้รับคำแนะนำประโยชน์สูงสุดมาสู่ชีวิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ และตั้งอยู่ในพระสัทธรรมอย่างมั่นคง

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ คณะวิทยากร และท่านผู้มีกุศลจิตทุกท่าน


ความคิดเห็น 13    โดย captpok  วันที่ 1 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย chatchai.k  วันที่ 22 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ