[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 116
ปฐมปัณณาสก์
มหาวรรคที่ ๓
๑๐. ทุติยโกสลสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 116
๑๐. ทุติยโกสลสูตร
ว่าด้วยพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงนอบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จกลับจากการรบชนะสงครามมาแล้ว มีพระราชประสงค์อันได้แล้ว ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 117
ไปยังอาราม เสด็จไปโดยพระราชยานเท่าที่ยานจะไปได้ เสด็จลงจากยานแล้ว เสด็จไปด้วยพระบาทเข้าไปสู่อาราม.
ก็โดยสมัยนั้น ภิกษุมากรูปเดินจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในที่ไหนหนอ ด้วยว่าดิฉันประสงค์จะเฝ้าพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ขอถวายพระพร ขอมหาบพิตรจงเงียบเสียงเสด็จเข้าไปยังพระวิหารซึ่งมีประตูปิดนั้นแล้ว ไม่รีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียง ทรงกระแอม ทรงเคาะอกเลาประตูเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงเปิดประตูรับ ขอถวายพระพร ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเงียบเสียง เสด็จเข้าไปยังวิหารที่มีประตูปิดนั้น ครั้นแล้วมิได้ทรงรีบด่วน เสด็จเข้าไปยังระเบียงแล้ว ทรงกระแอม ทรงเคาะอกเลาประตู พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปิดประตูรับ ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปสู่วิหาร ซบพระเศียรลงที่พระบาททั้งคู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจุ๊บพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดด้วยพระหัตถ์ทั้งสอง และทรงประกาศพระนามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ดูก่อนมหาบพิตร มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไรเล่า จึงทรงทำความนบนอบอย่างยิ่ง มอบถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในสรีระนี้.
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นความกตัญญูกตเวที จึงทำความนบนอบอย่างยิ่ง ถวายความนับถือ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 118
อันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก ทรงยังชนหมู่มากให้ดำรงอยู่ในอริยญายธรรม คือความเป็นผู้มีกัลยาณธรรม ความเป็นผู้มีกุศลธรรม ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้มีศีล มีศีลอันเจริญ มีศีลอันประเสริฐ มีศีลเป็นกุศล ทรงเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยกุศลศีล ข้าแต่พระองค์เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระมีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ทรงเสพเสนาสนะอันสงัดซึ่งตั้งอยู่แนวป่าตลอดกาลนาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและเภสัชบริขารอันเป็นปัจจัยแก่คนไข้ตามมีตามได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ใน พระผู้มีพระภาคเจ้า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 119
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี ทรงเป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเป็นเครื่องขัดเกลาอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแห่งการเที่ยวไปแห่งจิต คืออัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถือประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมาก
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 120
บ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็เป็นผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเพียงเท่านี้ ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้มาเกิดในภพนี้ ทรงระลึกชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมทรงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ย่อมทรงเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุมนุษย์ ย่อมทรงรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 121
แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยพระปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้าพระองค์เห็นอำนาจประโยชน์แม้นี้แล จึงทำความนอบน้อมอย่างยิ่ง ถวายความนับถืออันประกอบด้วยเมตตาเห็นปานนี้ ในพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเป็นผู้มีกิจมาก มีกรณียะมาก ขอถวายบังคมลาไป ณ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร ขอมหาบพิตรทรงสำคัญกาลอันควรในบัดนี้เถิด ครั้งนั้นแล พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จลุกขึ้นจากอาสน์ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทำประทักษิณแล้ว เสด็จกลับไป.
จบทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐
จบมหาวรรคที่ ๓
อรรถกถาทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐
ทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อุยฺโยธิกาย นิวตฺโต โหติ ความว่า เสด็จกลับจากการรบ. บทว่า ลทฺธาธิปฺปาโย ความว่า ได้ยินว่า พระเจ้ามหาโกศล เมื่อถวายพระธิดาแก่พระเจ้าพิมพิสาร ก็พระราชทานหมู่บ้านกาสีคาม ซึ่งมีรายได้จำนวนหนึ่งแสน ระหว่างแคว้นของพระราชาทั้งสองแก่พระธิดา. เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระชนกแล้ว แม้พระมารดาของพระองค์
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 122
ไม่นานนักก็ทิวงคตด้วยความเศร้าโศกเหตุวิปโยคถึงพระราชสวามี. ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำริว่า พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระชนกชนนี กาสีคามก็ควรตกเป็นสมบัติของพระบิดาเรา จึงทรงสร้างหอรบ เพื่อต้องการกาสีคามนั้น. ดังนั้น เพื่อประสงค์หมู่บ้านนั้น พระเจ้าลุงและพระเจ้าหลาน ทั้งสองพระองค์ จึงทรงยกจตุรคินีเสนากองทัพ ๒ เหล่าออกรบกัน. ในสงครามนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงพ่ายแพ้ ๒ ครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ครั้งที่ ๓ ทรงดำริว่า เราจะพึงชนะได้อย่างไรหนอ ทรงรู้อาการที่ควรรบด้วยวิธีสอดแนม. จึงทรงแสดงกองทัพล้อมทั้งสองข้างจับพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ในทันที จึงทรงได้ชื่อว่า ทรงสมพระประสงค์ เพราะทรงได้ชัยชนะสมประสงค์.
บทว่า เยนาราโม เตน ปายาสิ ความว่า ทรงให้ตั้งค่ายฉลองชัยนอกพระนคร ทรงพระดำริว่า ชาวพระนครประดับประดาพระนครอยู่เพียงใด เราจักถวายบังคมพระศาสดาเพียงนั้น ก็ตั้งแต่เวลาที่เข้าพระนครแล้วก็จะเนิ่นช้า ทรงมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม แล้วเสด็จไปทางพระอาราม แล้วเสด็จเข้าไปยังพระอาราม. ถามว่า เสด็จเข้าไปเวลาไร ตอบว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุผู้กลับจากบิณฑบาต เสด็จเข้าพระคันธกุฎี และเมื่อภิกษุสงฆ์รับพระโอวาทแล้ว เข้าไปยังที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันของตนๆ.
บทว่า จงฺกมนฺติ ถามว่า ภิกษุทั้งหลายกำลังจงกรมกันในเวลานั้นเพราะเหตุไร. ตอบว่า ภิกษุเหล่านั้นจงกรมกันเวลากลางวัน เพื่อบรรเทาถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งมีการฉันโภชนะอันประณีตเป็นปัจจัย. จริงอยู่ เหล่าภิกษุเช่นนั้นจงกรมภายหลังฉันอาหารอาบน้ำ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 123
ชำระทั่วทั้งตัวแล้ว จึงนั่งกระทำสมณธรรม จิตจึงจะมีอารมณ์เป็นอันเดียว. บทว่า เยน เต ภิกฺขู ความว่า นัยว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ทรงดำริว่า พระสุคตประทับอยู่ไหน เสด็จมาตรวจดูทั่วบริเวณด้วยมีพระประสงค์จะเข้าไปทูลถาม ทอดพระเนตรเห็นเหล่าภิกษุผู้ถือบังสุกุลิกธุดงค์ กำลังจงกรม ณ ที่จงกรมใหญ่ เหมือนช้างในป่า จึงเสด็จเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น. ท่านหมายเอาข้อนั้นจึงกล่าวคำนี้ไว้.
บทว่า ทสฺสนกามา แปลว่า ต้องการจะเฝ้า. ภิกษุทั้งหลายหมายเอาพระคันธกุฎี จึงกล่าวว่า วิหาโร พระวิหาร. บทว่า อตรมาโน แปลว่า ไม่รีบด่วน อธิบายว่า ค่อยๆ วางพระบาทลงบนที่พอควรแก่พระบาท มิให้ทรายอันเปรียบด้วยแก้วมุกดา หรือเถาย่างทรายอันเรียบเสมอกันดีต้องเสียหาย. บทว่า อาฬินฺทํ ได้แก่ ระเบียง. บทว่า อคฺคฬํ ได้แก่ บานประตู บทว่า อุกฺกาสิตฺวา แปลว่า ทำเสียงกระแอม. บทว่า อาโกเฏหิ ท่าน อธิบายว่า เอาปลายเล็บเคาะค่อยๆ ใกล้ๆ ช่องดาลนิดหน่อย. เขาว่าพวกอมนุษย์ เคาะประตูสูงเกินไป พวกฑีฆชาติ (เช่นงู) เคาะต่ำเกินไป พระเจ้าปเสนทิโกสลเคาะอย่างนั้น พึงทรงเคาะตรงกลางใกล้ช่องดาล เพราะฉะนั้น อาจารย์บางพวกแสดงกล่าวว่านี้เป็นธรรมเนียมการเคาะประตู.
บทว่า วิวริ ภควา ทฺวารํ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่เสด็จลุกขึ้นไปเปิดพระทวาร แต่ทรงเหยียบพระหัตถ์ตรัสว่า เปิดได้. แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า เมื่อพระองค์ให้ทานมาหลายโกฏิกัปป์ ไม่เคยทำงานเปิดประตูด้วยมือตนเอง พระทวารเปิดเอง แต่เพราะเหตุที่พระทวารนั้นเปิดด้วยพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉะนั้น จึงควรกล่าวว่า วิวริ ภควา ทฺวารํ พระผู้มีพระภาคเจ้า (มิได้เสด็จลุกขึ้นไป) ทรงเปิดพระทวาร.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 124
บทว่า เมตฺตูปหารํ ได้แก่ การน้อมเข้าไปทางกายและวาจาอันประกอบด้วยเมตตา. บทว่า กตญฺญุตํ ความว่า ก็พระราชาพระองค์นี้ แต่ก่อนทรงมีพระสรีระอ้วน เสวยข้าวสุกทะนานหนึ่ง. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอวาทแก่ท้าวเธออย่างนี้ว่า.
มนุชสฺส สทา สติมโต มตฺตํ ชานโต ลทฺธโภชเน ตนุกสฺส ภวนฺติ เวทนา สณิกํ ชีรติ อายุปาลยํ
คนผู้มีสติทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้ว เขาก็มีเวทนาเบาบาง อาหารที่บริโภค ก็ค่อยๆ ย่อย รักษาอายุไว้ได้.
ท้าวเธอตั้งอยู่ในพระโอวาทนี้ ลดอาหารทีละน้อยๆ ทุกๆ วัน จนคงที่อยู่ ตรงที่มีข้าวสุกหนึ่งทะนานเป็นอย่างสูงมาโดยลำดับ แม้พระวรกายของท้าวเธอก็เบามั่นคง ท้าวเธอทรงหมายเอาอุปการะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำแล้วนั้นจึงกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เห็นความกตัญญูกตเวทีแล. บทว่า อริยาเย ได้แก่ มรรคพร้อมกับวิปัสสนา. บทว่า พุทฺธสีโล ได้แก่ ผู้มีศีลอันจำเริญ. บทว่า อริยสีโล ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศีลอันมิใช่ของปุถุชน. บทว่า กุสลสีโล ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยศีลทั้งหลายอันไม่มีโทษ. บทว่า อารญฺญโก ความว่า ท้าวเธอเมื่อทรงแสดงว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้เกิดก็เกิดในป่า แม้ตรัสรู้ก็ตรัสรู้ในป่า แม้อยู่ในพระคันธกุฎีเฉกเช่นเทพวิมาน ก็ประทับอยู่ในป่าเหมือนกัน จึงกราบทูลอย่างนี้. คำที่เหลือในทุกๆ บท มีข้มม อความง่ายทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาทุติยโกสลสูตรที่ ๑๐
จบมหาวรรคที่ ๓
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 125
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. สีหสูตร ๒. อธิมุตติสูตร ๓. กายสูตร ๔. จุนทสูตร ๕. กสิณสูตร ๖. กาลีสูตร ๗. ปฐมมหาปัญหาสูตร ๘. ทุติยมหาปัญหาสูตร ๙. ปฐมโกสลสูตร ๑๐. ทุติยโกสลสูตร.