[คำที่ ๔๕o] กิเลสทุกฺข
โดย Sudhipong.U  9 เม.ย. 2563
หัวข้อหมายเลข 32570

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “กิเลสทุกฺข

คำว่า กิเลสทุกฺข เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กิ - เล - สะ - ทุก - ขะ] มาจากคำว่า กิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต มี โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น) กับคำว่า ทุกฺข (ความทุกข์, ความเดือดร้อน, ความอยู่ไม่เป็นสุข) รวมกันเป็น กิเลสทุกฺข เขียนเป็นไทยได้ว่า กิเลสทุกข์ แปลว่า ความทุกข์เพราะกิเลส, ความเดือดร้อนเพราะกิเลส, ความอยู่ไม่เป็นสุขเพราะกิเลส แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี คือ กิเลส เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของสัตว์โลกแล้ว ไม่มีทางที่จะอยู่เป็นสุขได้เลย ย่อมเดือดร้อน พล่านไปตามกำลังของกิเลส ไม่มีความสงบ ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ดับกิเลสได้หมดสิ้นถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วจะไม่มีทุกข์เพราะกิเลสอีกเลย

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โลกสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของกิเลสทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจของสัตว์โลกแล้ว มีแต่เป็นไปเพื่อทุกข์เท่านั้น ไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ดังนี้ .-

“ดูกร มหาบพิตร ธรรม คือ โลภะ (ความติดข้อง) เมื่อเกิดขึ้นแก่สัตว์โลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก, ดูกรมหาบพิตร ธรรม คือ โทสะ (ความโกรธ) เมื่อเกิดขึ้นแก่สัตว์โลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก, ดูกร มหาบพิตร ธรรม คือโมหะ (ความหลง) เมื่อเกิดขึ้นแก่สัตว์โลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก, ดูกร มหาบพิตร ธรรม ๓ อย่างนี้แล เมื่อเกิดขึ้นแก่สัตว์โลก ย่อมเกิดขึ้น เพื่อไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์ เพื่อความอยู่ไม่ผาสุก


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา โดยนัยประการต่างๆ โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่าแต่ละคนยังมากไปด้วยกิเลสอย่างแท้จริง กิเลสทั้งหลายเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ที่แต่ละคนอยู่ไม่สุข เดือดร้อน ไม่สงบ ก็เพราะกิเลสทั้งหลาย นั่นเอง ในชีวิตประจำวัน ถ้ากล่าวถึงการได้รับผลของกรรมแล้ว พอที่จะเข้าใจได้เมื่อได้เริ่มฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม คือ ไม่พ้นไปจากขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ถ้าเป็นผลของกุศล ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ดีน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นผลของอกุศล ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย แต่เป็นผลของกรรมในอดีตที่แต่ละคนได้กระทำแล้ว

สำหรับขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส เกิดร่วมกับความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเวทนา คือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ เฉพาะจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือ กายวิญญาณ เท่านั้น ถ้าเป็นผลของกุศล (กุศลวิบาก) ก็จะเกิดร่วมกับสุขเวทนาความรู้สึกสบายทางกาย แต่ถ้าเป็นผลของอกุศล (อกุศลวิบาก) ก็จะเกิดร่วมกับทุกขเวทนา ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ไม่สบายทางกาย นี้คือความเป็นจริงของธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

ถ้าจะพิจารณาสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นตัวธรรมจริงๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น โดยที่ไม่คิดถึงเรื่องราว ไม่คิดถึงสัตว์บุคคล ก็จะเห็นได้ว่า ความทุกข์ ความเดือดร้อนจริงๆ ก็คือ ทุกขเวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณ ที่เป็นผลของอกุศลเท่านั้น นอกจากนั้นแล้วก็เป็นความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะกิเลส ถ้าผู้ใดดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ความทุกข์เพราะกิเลส ก็ไม่มี แต่ว่าทุกขเวทนาที่เกิดกับกายวิญญาณ ที่เป็นอกุศลวิบาก ยังมีอยู่ ยังสามารถที่จะเกิดขึ้นได้

เป็นที่น่าพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ แต่ละคนมีความทุกข์ความเดือดร้อนมากทีเดียว แต่ว่าความทุกข์ความเดือดร้อนที่มีมากนั้น เป็นความทุกข์เพราะกิเลส หรือว่า เป็นความทุกข์ทางกายซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว? ถ้าเป็นทุกข์ที่เป็นผลของอกุศลกรรมที่กระทำแล้ว จะเป็นการกระทบกับสิ่งที่แข็ง อ่อน เย็น ร้อน ตึง ไหว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สบายทางกาย ตลอดจนถึงกับทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย นั่นคือ ทุกข์ทางกาย เป็นผลของอกุศลกรรม โดยไม่มีใครทำให้เลย แต่ว่าส่วนใหญ่แล้ว ความทุกข์ที่มีมาก นั้น เป็นทุกข์เพราะกิเลส เพราะมีกิเลสเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ จึงอยู่ไม่เป็นสุข ไม่สงบ แสวงหาในสิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือ พลัดพรากจากสิ่งที่ตนเองติดข้อง ก็เกิดความไม่พอใจและกิเลสประการอื่นๆ อีกมากมายตามการสะสมของแต่ละบุคคล ขณะที่กิเลสเกิดขึ้น เป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ดีเลยแม้แต่น้อย และถ้าสะสมมีกำลังกล้า ก็สามารถทำทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ ซึ่งในขณะที่เบียดเบียนคนอื่นนั้นก็เป็นการเบียดเบียนตนเองด้วยการทำชั่วซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น ทั้งหมดก็เพราะกิเลส

ทุกข์ทางกายและทุกข์เพราะกิเลส เป็นธรรมดา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ขณะที่มีทุกข์ทางกาย ยังเป็นเหตุให้เพิ่มทุกข์เพราะกิเลสเข้าไปอีก เวลาที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เพราะเหตุว่ากรรมทำให้กายเกิดขึ้นกระทบกับโผฏฐัพพะ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ที่ไม่สบาย ทำให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้นกับกายวิญญาณ แต่ยังไม่พอ ยังเดือดร้อนใจ เป็นห่วง เป็นกังวล วุ่นวายใจ ไม่สบายใจ อุปมาเหมือนกับการถูกยิงซ้ำด้วยลูกศรดอกที่ ๒ ต่อจากลูกศรดอกที่ ๑ ที่ถูกยิงไปก่อนแล้ว กล่าวคือ เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น เจ็บปวด อุปมาเหมือนกับการถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๑ แต่ว่ายังไม่พอ ยังมีทุกข์เพราะกิเลสตามมาอีก ก็อุปมาเหมือนกับถูกยิงซ้ำด้วยลูกศรเพิ่มอีก ๑ ดอก เป็นดอกที่ ๒ เพิ่มความทุกข์ความเดือดร้อนอีก เพราะเนื่องมาจากยังมีกิเลส จึงมีความห่วง ความกังวล ความเดือดร้อนใจ เกิดตามมาอีก ซึ่งก็เป็นธรรมดา เป็นธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงๆ ทุกอย่าง โดยประการทั้งปวง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้แต่ความทุกข์ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นไปจากธรรมที่เป็นผลของอกุศลกรรมอันเป็นทุกข์ทางกาย และ ความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะกิเลส เพราะตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมอยู่ไม่เป็นสุข ยังมากไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อน แล้วจะพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งหลายเหล่านี้ได้อย่างไร ก็ต้องกลับมาที่เหตุที่สำคัญ นั่นก็คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐที่สุดในชีวิตที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง และความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้เองจะเป็นที่พึ่งในชีวิตอย่างแท้จริง ทำให้ไม่เดือดร้อนไม่หวั่นไหวตามกำลังของปัญญาไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม พร้อมกับทำให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นที่จะมีชีวิตดำเนินไปในความถูกต้อง ทำสิ่งที่ถูกต้องดีงามและอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้นสะสมเป็นที่พึ่งต่อไป จนกว่าจะดับกิเลสอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 


ความคิดเห็น 2    โดย เข้าใจ  วันที่ 2 มิ.ย. 2565

กราบอนุโมทนาครับ