เรียน อาจารย์ทั้งสองท่าน
"เห็น สักแต่ว่าเห็น" อาจารย์กรุณาช่วยแปลพจนานี้ด้วยครับ
ขอบคุณครับและขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เห็นสักแต่ว่าเห็น ไม่ใช่สักแต่ว่าเห็นเฉยๆ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของปัญญาครับ เห็นแล้วก็รู้ว่าเห็นเป็นธรรมหรือเห็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมด้วยปัญญา แต่ไม่ใช่เห็นเฉยๆ ไม่รู้อะไร ดังคำที่นิยมพูดกันว่าเห็นแล้วก็อย่าปรุงแต่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่ถูก เป็นไปไม่ได้เมื่อเห็นแล้วจะไม่ปรุงแต่งเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขณะที่เห็นปัญญาสามารถเกิดต่อรู้ว่าเป็นธรรม รู้ด้วยปัญญาจึงเป็นเห็นสักแต่ว่าเห็น เปรียบเหมือนจิตเห็นที่เห็นรูปแล้วก็ไม่ติดข้องเพราะเป็นเพียงการเห็นฉันใด การเห็นสักแต่ว่าเห็นด้วยปัญญาก็ไม่มีกิเลสเกิดขึ้น สักแต่ว่าเห็นฉันนั้น ส่วนคำว่าเห็นไม่รู้ว่าเห็น ก็ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม เป็นเรื่องของความไม่รู้ครับ
[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 127
ความบางตอนจาก
พาหิยสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มีในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์. ลำดับนั้นแล จิตของพาหิยทารุจีริยกุลบุตรหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นในขณะนั้นเอง ด้วยพระธรรมเทศนาโดยย่อนี้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพาหิยทารุจีริยกุลบุตรด้วยพระโอวาทโดยย่อนี้แล้ว เสด็จหลีกไป
ขออนุโมทนา
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ตั้งใจศึกษา โดยมีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง คือ เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกตามความเป็นจริงไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น เมื่อได้ศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการพิจารณาไตร่ตรอง ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แม้แต่ในเรื่องของจิต ก็เช่นเดียวกัน จิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จิตเป็นจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ในชีวิตประจำวัน ไม่มีขณะใดที่จะปราศจากจิตเลย มีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่อย่างไม่ขาดสายเป็นชาติต่างๆ กล่าวคือ เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นวิบากบ้าง เป็นกิริยาบ้างแต่จะไม่ปะปนกันอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นจิตคนละขณะกัน เป็นจิตที่ต่างประเภทกัน
สำหรับในเรื่องของจักขุวิญญาณ (จิตเห็น) เป็นธรรมที่มีจริงๆ จิตที่เห็นสีหรือสิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับไป จิตเห็นนี้ เป็นอเหตุกจิต ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย เป็นจิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ประเภทเท่านั้น คือ ผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทริยเจตสิก และ มนสิการเจตสิก เท่านั้น ไม่มีความเห็นผิด ไม่มีกิเลสใดๆ ร่วมด้วยในจิตเห็นนี้เลย
ธรรมเป็นเรื่องจริง ตรง และไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก สามารถรู้ตรงตามความเป็นจริงได้ว่า จิตเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่มีความเข้าใจถูก เห็นถูกนั้น กิเลสใดๆ ก็เกิดไม่ได้ในขณะนั้น และกว่าจะอบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน เริ่มต้นได้ในขณะนี้ คือฟังพระธรรมให้เข้าใจ ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
ขณะที่ไม่ยึดถือในนิมิต บัญญัติ ปัญญาเกิด เป็นเห็นสักแต่ว่าเห็น ค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
อนุโมทนาครับ