ถ. ทางโน้นเขามีความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สักแต่ว่าเห็น ให้เป็นเห็นไปจนถึงชอบไม่ชอบนั้น ใช้คำว่า ปล่อยให้กิเลสเข้ามา เมื่อกิเลสเข้ามา เป็นภัยอันตรายต่อวิปัสสนาอย่างยิ่ง
เขายกตัวอย่างว่า คราวหนึ่งไปเดินวิปัสสนา กำหนดที่ริมทะเล ไปพบขี้ผึ้งเข้าก้อนหนึ่ง จิตของคนที่ไปทำวิปัสสนานั้นนึกไปว่า ขี้ผึ้งนี้ดีถ้าเอาไปบ้านหล่อเป็นเทียน แทนที่จะกำหนดเดิน กลับไปเห็นของอื่นแล้วก็มีโลภะเกิดขึ้น เขาบอกว่า เวลานั้นวิปัสสนาเสียหมด เพราะไม่สักแต่ว่าเดิน กลับไปเห็น เห็นก็ไม่สักแต่ว่าเห็น กลับไปนึกว่า เอาขี้ผึ้งนี้ไปหล่อเป็นเทียนไข โลภะเข้า จึงบอกว่าไปกำหนดริมทะเลคราวนั้นเหลวหมด เพราะฉะนั้น เขาจึงใช้คำว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เป็นการดีแน่ เพราะป้องกันกิเลส
สุ. กลัวกิเลสมากไหม กลัวปริยุฏฐานกิเลส แต่ไม่ได้กลัวอนุสัยกิเลสเลย อนุสัยกิเลสนี้ละเอียดมาก เป็นเชื้อ ยังมีอยู่ในจิตใจตราบใดแล้ว จะละโลภะ โทสะ โมหะไม่ได้ ที่จะละโลภะ โทสะ โมหะหมดได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสเป็นลำดับขั้นทีเดียว
เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังเผินๆ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น เป็นอินทรีย์สังวรทางตา จักขุนทรีย์สังวร ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ก็เป็นโสตินทรีย์สังวร เป็นอินทรีย์สังวรทางหู
การสังวรมี ๖ ทาง ไม่ใช่มี ๕ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลาที่เห็นแล้ว เหตุปัจจัยที่จะทำให้ชอบมี ใครบังคับความชอบว่า อย่าเกิดได้ มีใครบังคับได้ไหม ก็ไม่ได้
ที่โลภะจะหมดได้นั้น ต้องตามขั้นของปัญญาที่บรรลุอริยสัจจธรรม แต่การเจริญสติเป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ไม่ใช่ ๕ ทาง รู้จิตที่ประกอบด้วยโลภะ เดินไปตามชายทะเลเกิดโลภะ แทนที่สติจะระลึกรู้ว่าสภาพนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็ไปบังคับด้วยความเป็นตัวตน แล้วเวลาที่โลภะเกิด เมื่อไรจะรู้ว่าโลภะนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 82