พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท
เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓- หน้าที่ 27
๖. เรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ [๑๐๐]
...............................
บัณฑิตเรี่ยไรของทำบุญ
ครั้งนั้น บัณฑิตบุรุษผู้หนึ่ง ฟังธรรมเทศนานั้นแล้ว คิดว่า " โอ !เหตุนี้น่าอัศจรรย์, บัดนี้ เราจักทำกรรมที่เป็นไปเพื่อสมบัติทั้งสอง, " จึงกราบทูลพระศาสดาในเวลาเสด็จลุกไปว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอพระองค์จงทรงรับภิกษาขอพวกข้าพระองค์." พระศาสดา. ก็ท่านมีความต้องการด้วยภิกษุสักเท่าไร?
บุรุษ. ภิกษุทั้งหมด พระเจ้าข้า.
พระศาสดาทรงรับแล้ว. แม้เขาก็เข้าไปยังบ้าน เที่ยวป่าวร้องว่า"ข้าแต่แม่และพ่อทั้งหลาย ข้าพเจ้านิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เพื่อฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้, ผู้ใดอาจถวายแก่ภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่าใด, ผู้นั้นจงให้วัตถุต่างๆ มีข้าวสารเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่อาหารมียาคูเป็นต้น เพื่อภิกษุทั้งหลายมีประมาณเท่านั้น, พวกเราจักให้หุงต้มในที่แห่งเดียวกันแล้วถวายทาน"
เหตุที่เศรษฐีชื่อว่าพิฬาลปทกะ
ทีนั้น เศรษฐีคนหนึ่ง เห็นบุรุษนั้นมาถึงประตูร้านตลาดของตนก็โกรธว่า "เจ้าคนนี้ ไม่นิมนต์ภิกษุแต่พอ (กำลัง) ของตน ต้องมาเที่ยวชักชวนชาวบ้านทั้งหมด (อีก) ," จึงบอกว่า "แกจงนำเอาภาชนะที่แกถือมา" ดังนี้แล้ว เอานิ้วมือ ๓ นิ้วหยิบ ได้ให้ข้าวสารหน่อยหนึ่ง,ถั่วเขียว ถั่วราชมาษก็เหมือนกันแล. ตั้งแต่นั้น เศรษฐีนั้นจึงมีชื่อว่าพิฬาลปทกเศรษฐี. แม้เมื่อจะให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้น ก็เอียงปากขวดเข้าที่หม้อ ทำให้ปากขวดนั้นติดเป็นอันเดียวกัน ให้เภสัชมีเนยใสและน้ำอ้อยเป็นต้นไหลลงทีละหยดๆ ได้ให้หน่อยหนึ่งเท่านั้น. อุบาสกทำวัตถุทานที่คนอื่นให้โดยรวมกัน (แต่) ได้ถือเอาสิ่งของที่เศรษฐีนี้ให้ไว้แผนกหนึ่งต่างหาก.
เศรษฐีให้คนสนิทไปดูการทำของบุรุษผู้เรี่ยไร
เศรษฐีนั้น เห็นกิริยาของอุบาสกนั้นแล้ว คิดว่า " ทำไมหนอเจ้าคนนี้จึงรับสิ่งของที่เราให้ไว้แผนกหนึ่ง? " จึงส่งจูฬุปัฏฐากคนหนึ่ง ไปข้างหลังเขา ด้วยสั่งว่า " เจ้าจงไป, จงรู้กรรมที่เจ้านั่นทำ." อุบาสกนั้นไปแล้ว กล่าวว่า " ขอผลใหญ่จงมีแก่เศรษฐี." ดังนี้แล้วใส่ข้าวสาร๑-๒ เมล็ด เพื่อประโยชน์ แก่ยาคู ภัต และขนม, ใส่ถั่วเขียวถั่วราชมาษบ้าง หยาดน้ำมันและหยาดน้ำอ้อยเป็นต้นบ้าง ลงในภาชนะทุกๆ ภาชนะ.จูฬุปัฏฐากไปบอกแก่เศรษฐีแล้ว. เศรษฐีฟังคำนั้นแล้ว จึงคิดว่า " หากเจ้าคนนั้นจักกล่าวโทษเราในท่ามกลางบริษัทไซร้, พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นเท่านั้น เราจักประหารมันให้ตาย." ในวันรุ่งขึ้น จึงเหน็บกฤชไว้ในระหว่างผ้านุ่งแล้ว ได้ไปยืนอยู่ที่โรงครัว
ฉลาดพูดทำให้ผู้มุ่งร้ายกลับอ่อนน้อม
บุรุษนั้น เลี้ยงดูภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ชักชวนมหา-ชนถวายทานนี้, พวกมนุษย์ข้าพระองค์ชักชวนแล้วในที่นั้น ได้ให้ข้าวสารเป็นต้นมากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังของตน, ขอผลอันไพศาลจงมีแก่มหาชนเหล่านั้นทั้งหมด." เศรษฐีได้ยินคำนั้นแล้ว คิดว่า " เรามาด้วยตั้งใจว่า ' พอมันเอ่ยชื่อของเราขึ้นว่า ' เศรษฐีชื่อโน้นถือเอาข้าวสารเป็นต้นด้วยหยิบมือให้,' เราก็จักฆ่าบุรุษนี้ ให้ตาย, แต่บุรุษนี้ ทำทานให้รวมกันทั้งหมด แล้วกล่าวว่า ' ทานที่ชนเหล่าใดตวงด้วยทะนานเป็นต้นแล้วให้ก็ดี, ทานที่ชนเหล่าใดถือเอาด้วยหยิบมือแล้วให้ก็ดี, ขอผลอันไพศาล จงมีแก่ชนเหล่านั้นทั้งหมด,' ถ้าเราจักไม่ให้บุรุษเห็นปานนี้อดโทษไซร้, อาชญาของเทพเจ้าจักตกลงบนศีรษะของเรา." เศรษฐีนั้นหมอบลงแทบเท้าของ อุบาสกนั้นแล้วกล่าวว่า " นาย ขอนายจงอดโทษให้ผมด้วย," และถูกอุบาสกนั้นถามว่า "นี้อะไรกัน? " จึงบอกเรื่องนั้นทั้งหมด.
พระศาสดาทรงเห็นกิริยานั้นแล้ว ตรัสถามผู้ขวนขวายในทานว่า
" นี่อะไรกัน? " เขากราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดตั้งแต่วันที่แล้วๆ มา.
อย่าดูหมิ่นบุญว่านิดหน่อย
ทีนั้น พระศาสดาตรัสถามเศรษฐีนั้นว่า " นัยว่า เป็นอย่างนั้น
หรือ? เศรษฐี." เมื่อเขากราบทูลว่า " อย่างนั้น พระเจ้าข้า. " ตรัสว่า
" อุบาสก ขึ้นชื่อว่าบุญ อัน ใครๆ ไม่ควรดูหมิ่นว่า 'นิดหน่อย.' อัน
บุคคลถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเช่นเราเป็นประธานแล้ว ไม่
ควรดูหมิ่นว่า 'เป็นของนิดหน่อย.' ด้วยว่า บุรุษผู้บัณฑิต ทำบุญอยู่
ย่อมเต็มไปด้วยบุญโดยลำดับแน่แท้ เปรียบเหมือนภาชนะที่เปิดปาก ย่อม
เต็มไปด้วยน้ำ ฉะนั้น." ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึง
ตรัสพระคาถานี้ว่า
" บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า 'บุญมีประมาณน้อย
จักไม่มาถึง' แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา
(ทีละหยาดๆ ) ได้ฉันใด, ธีรชน (ชนผู้มีปัญญา) สั่ง-
สมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น."
ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์