ถ. ปรมัตถธรรม มีอธิบายโดยละเอียดอย่างไรบ้าง จิตประภัสสรเป็นปัญญาได้อย่างไร สิ่งกำลังทุกข์ได้สูญไป เมื่อไรจะได้กลับคืนสู่จิตสงบ
สุ. ปรมัตถธรรม มีอธิบายโดยละเอียดอย่างไรบ้าง ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปรม+อัตถ+ธรรมะ หมายความถึงสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนจริงๆ ซึ่งใครจะเรียกอะไรก็ได้ หรือจะไม่ใช้ชื่อเรียกอะไรก็ได้ เช่นลักษณะที่แข็ง จะใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย หรือว่าไม่เรียกอะไรเลย แต่เวลากระทบสัมผัส ลักษณะแข็งนั้นปรากฏ หมายความถึงสภาพที่มีจริงๆ เช่น รสเปรี้ยวมีจริงแต่ต้องอาศัยลิ้มรสซึ่งทุกคนบริโภคอาหาร แต่ขณะที่บริโภคนั้นก็ไม่สนใจที่จะรู้ว่า แม้แต่รสที่ปรากฏนั้นก็เป็นของจริงเป็นธรรม
ฉะนั้น ถ้าใช้คำภาษาไทยง่ายๆ ว่า "ปรมัตถธรรม" คือสิ่งที่มีจริงทุกอย่างที่มีจริง เสียงมีจริง เสียงเป็นปรมัตถธรรม โลภะ ความโลภความติดข้องเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม ความโกรธความขุ่นเคืองใจเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เมื่อเป็นปรมัตถธรรม ก็หมายความว่าเป็นธรรมะ ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร
เพราะว่า โลภะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป โทสะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ขณะที่เห็นในขณะนี้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ถ้าไม่มีจักขุปสาท ถ้าเกิดกรรมทำให้จักขุปสาทซึ่งดับไปแล้วไม่เกิดอีกขณะนี้จะตาบอด ทันทีไม่มีการเห็นอีกต่อไป ฉะนั้น ทุกคนมีรูปคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็มีจิตคือ สภาพรู้ ธาตุรู้ แล้วก็มีเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เพราะว่า
ปรมัตถธรรมนั้นมี ๔ คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน ถ้าไม่เรียกชื่อเอาชื่อของ ทุกท่านในที่นี้ออก แต่ก็ยังมีรูปและมีจิตแล้วก็ยังมีเจตสิก ฉะนั้น จิต เจตสิก รูป เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ
นี่เป็นปรมัตถธรรมอย่างย่อ อย่างละเอียดก็จะต้องศึกษาอย่างละเอียด แต่ให้ทราบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง มีสภาพธรรมลักษณะปรากฏให้รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกชื่ออะไรเลยก็ได้ เพราะว่า แข็ง ภาษาไทยเรียกอย่างหนึ่ง ภาษาอังกฤษเรียกอีกอย่างหนึ่ง ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นก็เรียกต่างกันไป แต่ว่าลักษณะที่แข็งไม่เปลี่ยน ฉะนั้นปรมัตถธรรมที่มีอยู่ เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย มี ๓ ปรมัตถ์ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานนั้นตรงกันข้าม คือเป็นสภาพที่มีจริงแต่ไม่เกิด
ถ้าพระคุณเจ้าจะแสวงหาปรมัตถธรรมด้วยตัวเอง ในวันหนึ่งวันหนึ่งจะพบตลอดเวลาเจ้าค่ะ ขณะที่กำลังกระทบสัมผัส แข็งมีจริงเป็นปรมัตถธรรม ขณะที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจริงเป็นปรมัตถธรรม เสียงในขณะที่กำลังได้ยินมีจริงเป็นปรมัตถธรรม คิดนึกเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม ฉะนั้นปรมัตถธรรมคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน
ถ้าจะกล่าวถึงปรมัตถธรรมที่เกิดดับแล้วมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แยกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ เป็นนามธรรมประเภท ๑ และเป็นรูปธรรมประเภท ๑ สำหรับรูปก็ได้แก่ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งประสพอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กระทบส่วนใดของร่างกายก็แข็ง กระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็แข็ง นั่นก็เป็นรูปที่ปรากฏ ให้รู้ได้ สำหรับจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่นเห็น แต่สำหรับเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต เช่นขณะที่เห็นแล้วก็มีความพอใจ ไม่พอใจ ความพอใจไม่พอใจนั้นเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 11