[เล่มที่ 39] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 276
ติโรกุฑฑสูตร
ว่าด้วยการให้ส่วนบุญแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่พระเจ้าพิมพิสาร เป็นคาถาว่า
[๘] ฝูงเปรตพากันมายังเรือนของตน ยืนอยู่ที่นอกฝาเรือนบ้าง ยืนอยู่ที่ทาง ๔ แพร่ง ๓ แพร่งบ้าง ยืนอยู่ใกล้บานประตูบ้าง.
เมื่อข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของกินเขาวางไว้เป็นอันมาก ญาติไรๆ ของเปรตเหล่านั้น ก็ระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์ทั้งหลายเป็นปัจจัย.
ชนเหล่าใด เป็นผู้เอ็นดู ชนเหล่านั้นย่อมให้น้ำ ข้าว อันสะอาด ประณีต อันสมควร ตามกาล อุทิศเพื่อญาติทั้งหลาย อย่างนี้ว่า ขอทานนี้แล จงมีแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลาย จงมีสุขเถิด.
ส่วนฝูงเปรตที่เป็นญาติเหล่านั้น มาแล้ว พร้อมแล้ว ก็ชุมนุมกันในที่ให้ทานนั้น ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพ ในข้าวน้ำเป็นอันมากว่า เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติเหล่านั้นของเรา จงมีชีวิตยั่งยืน ทั้งการบูชา ญาติผู้เป็นทายกก็ได้กระทำแก่พวกเราแล้ว อนึ่ง ทายกทั้งหลาย ย่อมไม่ไร้ผล.
ก็ในปิตติวิสัยนั้น ไม่มีกสิกรรมการทำไร่การทำนาไม่มีโครักขกรรม การเลี้ยงโค. ในปิตติวิสัยนั้น การค้าเช่นนั้น การซื้อขายด้วยเงิน ก็ไม่มี.
ผู้ทำกาลกิริยาละไปแล้ว ย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในปิตติวิสัยนั้นด้วยทานที่ญาติให้แล้วจากมนุษย์โลกนี้.
น้ำตกลงบนที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่ทายกให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่ฝูงเปรตฉันนั้นเหมือนกัน.
ห้วงน้ำเต็มแล้ว ย่อมยังสาครให้เต็มฉันใด ทานที่ทายกให้ไปจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่ฝูงเปรตฉันนั้น เหมือนกัน.
บุคคลเมื่อระลึกถึงกิจที่ท่านทำมาแต่ก่อนว่าท่านได้ทำกิจแก่เรา ได้ให้แก่เรา ได้เป็นญาติมิตรเป็นเพื่อนของเรา ดังนี้ จึงควรให้ทักษิณาแก่ฝูงเปรต.
การร้องไห้ การเศร้าโศก หรือการพิไรรำพันอย่างอื่นๆ ก็ไม่ควรทำ เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ญาติทั้งหลาย ก็คงอยู่อย่างนั้น.
ทักษิณานี้แล อันทายกให้แล้ว ตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ทายกนั้น โดยฐานะตลอดกาลนาน.
ญาติธรรมนี้นั้น ก็ทรงแสดงแล้ว การบูชาผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็ทรงทำโอฬารแล้ว ทั้งกำลังของภิกษุทั้งหลาย ก็ทรงเพิ่มให้แล้ว บุญพระองค์ก็ทรงขวนขวายไว้มิใช่น้อย.
จบติโรกุฑฑสูตร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ยินดีในกุศลจิตค่ะ