[เล่มที่ 15] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 58
๒. อุทุมพริกสูตร
เรื่องสันธานคฤหบดี หน้า 58
เรื่องนิโครธปริพาชก หน้า 60
เรื่องการรังเกียจบาปด้วยตบะ หน้า 62
เรื่องอุปกิเลสของผู้รังเกียจบาปด้วบตบะ หน้า 64
เรื่องความบริสุทธิ์ของผู้รังเกียจตบะ หน้า 67
เรื่องการบรรลุธรรมเป็นสาระอันประเสริฐ หน้า 70
เรื่องสังวร ๔ หน้า 71
นิโครธปริพาชกสารภาพผิด หน้า 76
คุณของพระสัมมาสัมพุทธะ หน้า 78
มารดลใจพวกปริพาชก หน้า 80
อรรถกถาอุทุมพริกสูตร หน้า 81
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 15]
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 58
๒. อุทุมพริกสูตร
เรื่องสันธานคฤหบดี
[๑๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เขาคิชฌกูฏ ในพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นนิโครธปริพาชก อาศัยอยู่ในอารามปริพาชกของพระนางอุทุมพริกา พร้อมกับบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ประมาณสามพันคน ครั้งนั้น สันธานคฤหบดีออกจากพระนครราชคฤห์ในเวลาบ่าย เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีคิดว่า เวลานี้ ยังไม่ถึงเวลาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่สมัยสมควรที่จะเข้าไปพบปะเหล่าภิกษุผู้อบรมใจ ภิกษุทั้งหลายผู้อบรมใจยังหลีกเร้นอยู่ ถ้ากระไร เราควรจะเข้าไปยังปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา เข้าไปหานิโครธปริพาชกเสียก่อน ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีเข้าไปยังปริพาชการามของพระนางอุทุมพริกา เข้าไปหานิโครธปริพาชก
[๑๙] สมัยนั้นแล นิโครธปริพาชกนั่งอยู่กับบริษัทปริพาชกหมู่ใหญ่ กําลังสนทนาติรัจฉานกถาต่างๆ ด้วยเสียงดังลั่น คือพูดเรื่อง พระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอํามาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องภัย เรื่องการรบ เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องผ้า เรื่องที่นอน เรื่องดอกไม้ เรื่องของหอม เรื่องญาติ เรื่องยาน เรื่องบ้าน เรื่องนิคม เรื่องชนบท เรื่องนคร เรื่องสตรี เรื่องบุรุษ เรื่องดื่มสุรา เรื่องตรอก เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ล่วงลับไปแล้ว เรื่องเบ็ดเตล็ด เรื่องโลก เรื่องทะเล เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 59
นิโครธปริพาชกได้เห็นสันธานคฤหบดีมาแต่ไกล จึงเตือนบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า ท่านทั้งหลายจงสงบเสียงหน่อย อย่าส่งเสียงดังนัก สันธานคฤหบดีนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กําลังมา สันธานคฤหบดีนี้ เป็นสาวกคนหนึ่ง ในบรรดาสาวกของพระสมณโคดมที่เป็นคฤหัสถ์นุ่งห่มผ้าขาว อาศัยอยู่ในเมืองราชคฤห์ ท่านเหล่านี้ชอบเสียงเบา กล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางที สันธานคฤหบดีนี้ทราบถึงบริษัทมีเสียงเบาแล้ว พึงเห็นความสําคัญที่จะเข้าไปหาก็ได้ เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้ พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งแล้ว
[๒๐] ครั้งนั้นแล สันธานคฤหบดีเข้าไปหานิโครธปริพาชกถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วได้ปราศัยกับนิโครธปริพาชก ครั้นยังสัมโมทนียกถาอันเป็นเหตุให้ระลึกถึงกันผ่านไปแล้ว จึงนั่งที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง สันธานคฤหบดีนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่าพวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้เจริญเหล่านี้ มาพบปะสมาคมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก พากันขวนขวายกล่าวแต่ติรัจฉานกถาต่างๆ โดยประการอื่นแล คือ เรื่องพระราชา เรื่องโจร ฯลฯ ด้วยประการนั้นๆ ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะที่สงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย มีลมพัดอ่อนๆ สมควรแก่การทํากรรมอันเร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้นโดยประการอื่นแล เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กล่าวกะสันธานคฤหบดีว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงทราบว่าพระสมณโคดมจะเจรจากับใคร จะเข้าไปสนทนากับใคร จะมีปัญญาเฉลียวฉลาดกับใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมหายไปในสุญญาคาร พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่ที่ประชุม ไม่สามารถเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว เหมือนโคบอดตาข้างเดียวเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภายใน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 60
ฉันใด ปัญญาของพระสมณโคดมหายไปในสุญญาคาร พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าสู่ที่ประชุม ไม่สามารเจรจา พระองค์ท่านทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน เชิญเถิด คฤหบดี ขอเชิญพระสมณโคดมเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้ พวกเราจะพึงเหยียดหยามพระองค์ด้วยปัญหาข้อหนึ่ง พวกเราจะบีบรัดพระองค์เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่าฉะนั้น
เรื่องนิโครธปริพาชก
[๒๑] พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับการเจรจา ระหว่างสันธานคฤหบดีกับนิโครธปริพาชกนี้ ด้วยพระทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ล่วงโสตธาตุของมนุษย์. ครั้งนั้น สนเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลงจากภูเขาคิชฌกูฏแล้ว เสด็จเข้าไปยังสถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝังสระโบกขรณีสุมาคธา ครั้นแล้ว เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝังสระโบกขรณีสุมาคธา นิโครธปริพาชกเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝังสระโบกขรณีสุมาคธา จึงเตือนบริษัทของตนให้สงบเสียงว่า ขอท่านทั้งหลายจงสงบเสียง อย่าส่งเสียงดังนัก พระสมณโคดมนี้เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝังสระโบกขรณีสุมาคธา พระองค์โปรดเสียงเบา และกล่าวสรรเสริญคุณของเสียงเบา บางที พระองค์ทรงทราบว่า บริษัทนี้มีเสียงเบาแล้ว พึงเห็นความสําคัญที่จะเสด็จเข้าไปก็ได้ ถ้าว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้ เราจะพึงทูลถามปัญหากะพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนําพระสาวก ด้วยธรรมใด สาวกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนําแล้วถึงความเบาใจ ย่อมรู้เฉพาะซึ่งอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นอัชฌาศัย ด้วยธรรมใด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 61
ธรรมนั้นชื่ออะไร เมื่อนิโครธปริพาชกกล่าวอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้นได้พากันนิ่งอยู่.
[๒๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหานิโครธปริพาชก นิโครธปริพาชกจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอเชิญพระผู้มีพระภาคเสด็จมาเถิด พระเจ้าข้า พระองค์เสด็จมาดีแล้ว นานๆ พระองค์จึงจะได้เสด็จมาเยี่ยมเยียน คือเสด็จมา ณ ที่นี้ ขอเชิญประทับนั่ง นี้อาสนะที่จัดไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ ฝ่ายนิโครธปริพาชกก็ถือเอาอาสนะที่ต่ําแห่งหนึ่ง นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง.
พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามนิโครธปริพาชก ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า นิโครธะ บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาด้วยเรื่องอะไรหนอ และเรื่องอะไรเล่าที่พวกเธอสนทนาค้างอยู่ในระหว่าง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ณ สถานที่ให้เหยื่อแก่นกยูง ที่ฝังสระโบกขรณีสุมาคธา จึงได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถ้าว่า พระสมณโคดมจะพึงเสด็จมาสู่ที่ประชุมนี้ พวกเราจะพึงถามปัญหานี้กะพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงแนะนําด้วยธรรมใด สาวกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนําแล้วถึงความเบาใจ ย่อมรู้เฉพาะซึ่งอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นอัชฌาศัย ด้วยธรรมใด ธรรมนั้นชื่ออะไร เรื่องนี้แหละ ที่พวกข้าพระองค์สนทนาค้างอยู่ในระหว่าง พอดีพระองค์เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ การที่ท่านมีความเห็นไปทางหนึ่ง มีความพอใจไปทางหนึ่ง มีความชอบใจไปทางหนึ่ง ไม่มีความพยายาม ไม่มีลัทธิอาจารย์ ยากที่จะรู้ธรรมที่เราแนะนําพระสาวก ยากที่จะรู้ธรรมสําหรับให้พระสงฆ์ผู้ได้รับแนะนําแล้ว มีความ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 62
ยินดี รู้แจ้งชัดพรหมจรรย์เบื้องต้น อันเป็นอัชฌาศัย เชิญเถิด นิโครธะ เธอจงถามปัญหาในการเกลียดบาปอย่างยิ่ง ในลัทธิอาจารย์ของตน กะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเกลียดบาปด้วยตบะ อย่างไรบริบูรณ์ อย่างไรไม่บริบูรณ์ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ พวกปริพาชกเหล่านั้นได้เป็นผู้มีเสียงดังอึกทึกขึ้นว่า น่าอัศจรรย์นัก ท่านผู้เจริญ ไม่เคยมีมาท่านผู้เจริญ พระสมณโคดมมีฤทธิ์ มีอานุภาพมาก พระองค์จักหยุดวาทะของพระองค์ไว้ จักห้ามด้วยวาทะของผู้อื่น.
กถาว่าด้วยเรื่องการรังเกียจบาปด้วยตบะ
[๒๓] ครั้งนั้น นิโครธปริพาชกเตือนปริพาชกเหล่านั้นให้สงบเสียงแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์กล่าวการเกลียดบาปด้วยตบะ แนบแน่นการเกลียดบาปด้วยตบะอยู่ การเกลียดบาปด้วยตบะ อย่างไรบริบูรณ์ อย่างไรไม่บริบูรณ์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นคนเปลือย ไร้มารยาทเลียมือ เขาเชิญให้รับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดรับภิกษาก็ไม่หยุด ไม่ยินดีภิกษาที่เขานํามาไว้ก่อน ไม่ยินดีภิกษาที่เขาทําเฉพาะ ไม่ยินดีการเชื้อเชิญ เขาไม่รับภิกษาจากปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากภาชนะ ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมธรณีประตูนํามา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมครกนํามา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมสากนํามา ไม่รับภิกษาที่บุคคลยืนคร่อมท่อนไม้นํามา ไม่รับภิกษาของคน ๒ คนที่กําลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงผู้กําลังให้ลูกดื่มนม ไม่รับภิกษาของหญิงที่คลอเคลียบุรุษอยู่ ไม่รับภิกษาที่เขาประกาศให้รู้ ไม่รับภิกษาในที่มีสุนัขปรากฏ ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลา ไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำส้ม เขาอยู่เรือนหลังเดียว มีคําข้าวคําเดียว หรืออยู่เรือน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 63
สองหลัง มีคําข้าวสองคํา หรืออยู่เรือนเจ็ดหลัง มีคําข้าวเจ็ดคํา เยียวยาอัตตภาพด้วยภิกษาในภาชนะใบเดียวบ้าง สองใบบ้าง เจ็ดใบบ้าง กินอาหารที่เก็บไว้วันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง เจ็ดวันบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการบริโภคอาหารที่เวียนมาจนถึงที่เก็บไว้กึ่งเดือน ด้วยประการฉะนี้ เขาเป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มีของจืดเป็นภักษาบ้าง มีรําเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกํายานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่น เยียวยาอัตตภาพ. เขาทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแถมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากําพลทําด้วยผมคนบ้าง ผ้ากําพลทําด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทําด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง คือประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือสําเร็จการนอนบนหนามบ้าง สําเร็จการนอนบนแผ่นกระดานบ้าง สําเร็จการนอนบนเนินดินบ้าง เป็นผู้นอนตะแคงข้างเดียวบ้าง เป็นผู้หมักหมมด้วยธุลีบ้าง เป็นผู้อยู่กลางแจ้งบ้าง เป็นผู้นั่งบนอาสนะตามที่ลาดไว้บ้าง เป็นผู้บริโภคคูถ คือประกอบการขวนขวายในการบริโภคคูถบ้าง เป็นผู้ห้ามน้ำเย็น คือขวนขวายในการห้ามน้ำเย็นบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือประกอบการขวนขวายในการลงน้ำบ้าง นิโครธะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นอย่างไร ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะ เป็นการเกลียดบริบูรณ์ หรือไม่บริบูรณ์.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 64
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะเป็นการเกลียดบริบูรณ์ ไม่ใช่ไม่บริบูรณ์อย่างแน่แท้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ เรากล่าวอุปกิเลสมากอย่าง ในการเกลียดบาปด้วยตบะ แม้ที่บริบูรณ์แล้ว อย่างนี้แล.
กถาว่าด้วยเรื่องอุปกิเลสของผู้รังเกียจบาปด้วยตบะ
[๒๔] นิโครธปริพาชกทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอุปกิเลสมากอย่าง ในการเกลียดบาปด้วยตบะที่บริบูรณ์ อย่างนี้ อย่างไรเล่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ ย่อมถือมั่นตบะ เขาเป็นผู้ดีใจ มีความดําริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะ ถือมั่นตบะ ดีใจ มีความดําริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะถือมั่นตบะ ยกตนข่มผู้อื่นด้วยตบะ นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมมัวเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความมัวเมาด้วยตบะนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะถือมั่นตบะ มัวเมา ลืมสติ ถึงความมัวเมาด้วยตบะนั้น นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น ด้วยเหตุเขาเป็นผู้ดีใจ มีความดําริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 65
ที่ผู้มีตบะถือมั่นตบะ ดีใจ มีความดําริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมยกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น ยกตนข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมมัวเมา ย่อมลืมสติ ย่อมถึงความมัวเมาด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น แม้ข้อที่ผู้มีตบะถือมั่นตบะ ยังลาภสักการะและความสรรเสริญให้เกิดขึ้นด้วยตบะนั้น มัวเมา ลืมสติ ถึงความมัวเมาด้วยลาภสักการะสละความสรรเสริญนั้น นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ ย่อมถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแลไม่ควรแก่เขา เขามุ่งละสิ่งนั้นเสีย แต่ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขากําหนัด ลืมสติ ติดสิ่งนั้น ไม่แลเห็นโทษ ไม่มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคอยู่ แม้ข้อนี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมยึดถือมั่นตบะ ด้วยคิดว่า พระราชา มหาอํามาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 66
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเป็นผู้รุกรานสมณะพราหมณ์อื่นแต่ที่ไหนๆ ว่า ก็ไฉน ผู้นี้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่าง กินวัตถุทุกๆ อย่าง คือพืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลําต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบ ๕ ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อมจํากันได้ ด้วยการตู่ว่า เป็นสมณะ แม้ข้อนี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่เขาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาดําริอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายอย่างในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุเศร้าหมองในสกุลทั้งหลาย เขาเป็นผู้ให้ความริษยา และความตระหนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลาย ดังนี้ แม้ข้อนี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้นั่งในทางที่มนุษย์เห็น แม้ข้อนี้แล ย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเที่ยวแสดงตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้ก็เป็นตบะของเรา กรรมแม้นี้ก็เป็นตบะของเรา แม้ข้อนี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมเสพโทษอันปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ไม่ควรว่าควร กล่าวโทษที่ควรว่าไม่ควร เขาเป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่ ดังนี้ แม้ข้อนี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเมื่อพระตถาคตหรือสาวกของพระตถาคตแสดงธรรมอยู่ ย่อมไม่รู้ปริยายที่ควรรู้อันมีอยู่
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 67
นั่นแล แม้ข้อนี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธ แม้ข้อที่ผู้มีตบะเป็นผู้มักโกรธ มักผูกโกรธ แม้นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้มีความลบหลู่ ตีเสมอ ริษยา ตระหนี่ โอ้อวด มีมารยา กระด้าง ถือตัวจัด เป็นผู้มีความปรารถนาลามก ไปสู่อํานาจแห่งความปรารถนาลามก เป็นมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยทิฏฐิอันดิ่งถึงที่สุด เป็นผู้ลูบคลําทิฏฐิเอง เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ยาก ข้อที่บุคคลผู้มีตบะ ฯลฯ แม้นี้แลย่อมเป็นอุปกิเลสแก่บุคคลผู้มีตบะ.
นิโครธะ ท่านจะพึงสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน การเกลียดบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสหรือไม่เป็นอุปกิเลส.
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเกลียดบาปด้วยตบะเหล่านี้ เป็นอุปกิเลสแน่แท้ ไม่เป็นอุปกิเลสหามิได้ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ พึงเป็นผู้ประกอบด้วยอุปกิเลสเหล่านี้ครบทุกอย่าง ข้อนี้แลเป็นฐานะที่มีได้ จะป่วยกล่าวไปใยถึงอุปกิเลสเพียงบางข้อๆ.
กถาว่าด้วยเรื่องความบริสุทธิ์ของผู้รังเกียจตบะ
[๒๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ย่อมถือมั่นตบะ เขาเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่มีความดําริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้น ข้อที่ผู้มีตบะถือมั่นตบะ ไม่ดีใจ ไม่มีความดําริบริบูรณ์ด้วยตบะนั้นอย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่นด้วยตบะนั้น ฯลฯ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 68
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาย่อมไม่มัวเมา ไม่ลืมสติ ย่อมไม่ถึงความมัวเมาด้วยตบะนั้น ฯลฯ อย่างนี้ เขาย่อมบริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาเป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่มีความดําริบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ฯลฯ อย่างนี้ เขาย่อมบริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาย่อมไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น ด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ฯลฯ อย่างนี้ เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ เขาให้ลาภสักการะและความสรรเสริญเกิดขึ้นด้วยตบะนั้น เขาไม่มัวเมา ไม่หลงลืมสติ ไม่ถึงความมัวเมาด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น ฯลฯ อย่างนี้ เขาย่อมบริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ ย่อมไม่ถึงส่วน ๒ ในโภชนะทั้งหลายว่า สิ่งนี้ควรแก่เรา สิ่งนี้ไม่ควรแก่เรา ก็สิ่งใดแลไม่ควรแก่เขา เขาไม่มุ่งละสิ่งนั้นเสีย ส่วนสิ่งใดควรแก่เขา เขาไม่กําหนัด ไม่ลืมสติ ไม่คิดสิ่งนั้น แลเห็นโทษ มีปัญญาคิดสลัดออก บริโภคอยู่ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมถือมั่นตบะ แต่เขาไม่คิดว่า พระราชา มหาอํามาตย์ของพระราชา กษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี เดียรถีย์ จักสักการะเรา เพราะเหตุแห่งความใคร่ลาภสักการะและความสรรเสริญ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 69
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ไม่รุกรานสมณะหรือพราหมณ์อื่นว่า ก็ไฉนผู้นี้เลี้ยงชีวิตด้วยวัตถุหลายอย่าง กินวัตถุทุกๆ อย่าง คือ พืชเกิดแต่เง่า พืชเกิดแต่ลําต้น พืชเกิดแต่ผล พืชเกิดแต่ยอด พืชเกิดแต่เมล็ด เป็นที่ครบ ๕ ปลายฟันของผู้นี้คมประดุจสายฟ้า คนทั้งหลายย่อมจํากันได้ ด้วยการตู่ว่าเป็นสมณะ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เห็นสมณะหรือพราหมณ์อื่นที่เขาสักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ในสกุลทั้งหลาย เขาไม่ดําริอย่างนี้ว่า คนทั้งหลายย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาสมณะหรือพราหมณ์ชื่อนี้แล ผู้เลี้ยงชีพด้วยวัตถุหลายประการในสกุลทั้งหลาย แต่ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาเราผู้มีตบะ เลี้ยงชีพด้วยวัตถุเศร้าหมองในสกุลทั้งหลาย เขาไม่ให้ความริษยาและความตระหนี่เกิดขึ้นในสกุลทั้งหลาย ดังนี้ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะเป็นผู้ไม่นั่งในทางที่มีคนเห็น อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมไม่เที่ยวแสดงตนไปในสกุลทั้งหลายว่า กรรมแม้นี้ก็เป็นตบะของเรา กรรมแม้นี้ก็เป็นตบะของเรา อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะย่อมไม่เสพโทษอันปกปิดบางอย่าง เขาถูกผู้อื่นถามว่า โทษนี้ควรแก่ท่านหรือ กล่าวโทษที่ไม่ควรว่าไม่ควร กล่าวโทษที่ควรว่าควร เขาเป็นผู้ไม่กล่าวเท็จทั้งรู้อยู่ดังนี้ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ เมื่อพระตถาคตหรือ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 70
สาวกของพระตถาคตกําลังแสดงธรรมอยู่ ย่อมรู้ตามปริยายที่ควรรู้อันมีอยู่ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ ข้อที่บุคคลผู้มีตบะ ไม่เป็นผู้มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก บุคคลผู้มีตบะ ไม่ลบหลู่ ไม่ตีเสมอ ไม่ริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ไม่กระด้าง ไม่ดูหมิ่นท่าน ไม่ปรารถนาลามก ไม่ลุอํานาจความปรารถนาลามก ไม่เป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่ประกอบด้วยทิฏฐิอันดิ่งถึงที่สุด ไม่เป็นผู้ลูบคลําทิฏฐิเอง ไม่เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ง่าย ข้อที่บุคคลผู้มีตบะ ไม่ลบหลู่ ฯลฯ ไม่เป็นผู้ถือมั่น สละคืนได้ง่าย อย่างนี้ เขาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ในฐานะนั้น.
นิโครธะ เธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์.
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะเหล่านี้บริสุทธิ์แน่แท้ ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ การเกลียดบาปด้วยตบะด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่นหามิได้ ที่แท้เป็นกิริยาที่ถึงสะเก็ดเท่านั้น.
กถาว่าด้วยเรื่องการบรรลุธรรมเป็นสาระอันเลิศ
[๒๖] นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การเกลียดบาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่นด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงให้ข้าพระองค์ ถึงยอดถึงแก่นแห่งการเกลียดบาปด้วยตบะเถิด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 71
ว่าด้วยสังวร ๔
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้สํารวมด้วยสังวร ๔ ประการ. ๔ ประการเป็นอย่างไร
นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้
๑. ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าสัตว์ เมื่อผู้อื่นฆ่าสัตว์ ไม่เป็นผู้ดีใจ
๒. ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ เมื่อผู้อื่นถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ ไม่เป็นผู้ดีใจ
๓. ไม่พูดเท็จ ไม่ใช้อื่นให้พูดเท็จ เมื่อผู้อื่นพูดเท็จ ไม่เป็นผู้ดีใจ
๔. ไม่เสพกามคุณ ไม่ใช้ให้ผู้อื่นเสพกามคุณ เมื่อผู้อื่นเสพกามคุณ ไม่เป็นผู้ดีใจ
นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้สํารวมแล้ว ด้วยสังวร ๔ ประการ อย่างนี้ นิโครธะ เพราะว่า บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้สํารวมแล้ว ด้วยสังวร ๔ ประการ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะของเขา เพราะเป็นผู้มีตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เขาเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำในภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง ในปัจฉาภัต เขากลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายตรง ดํารงสติไว้จําเพาะหน้า เขาละความเพ็งเล็งในโลกเสียแล้ว มีใจปราศจากความเพ่งเล็งอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความเพ่งเล็งได้ ละความประทุษร้าย คือพยาบาท มีจิตไม่พยาบาท มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ชําระจิตให้บริสุทธิ์จากความประทุษร้ายคือพยาบาทได้ ละถีนมิทธะแล้ว เป็นผู้ปราศจากถีนมิทธะ มีความกําหนด
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 72
หมายอยู่ที่แสงสว่าง มีสติสัมปชัญญะอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะได้ ละอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบ ณ ภายในอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะได้ ละวิกิจฉา เป็นผู้ข้ามวิจิกิจฉา ไม่มีความสงสัยอยู่ ย่อมชําระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉาในกุศลธรรมทั้งหลายได้ เขาละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจ ที่ทําให้ปัญญาเสื่อมกําลัง มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ทั่วโลก เพราะทั่วไปในที่ทุกสถาน มีใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนแผ่ไปอยู่ เขามีใจประกอบด้วยกรุณา มุทิตา อุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ทั่วโลก เพราะทั่วไปในที่ทุกสถาน ก็มีใจอันประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนแผ่ไปอยู่.
นิโครธะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์.
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะ บริสุทธิ์ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์แน่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดหรือถึงแก่น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ การเกลียดบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่นหามิได้ ที่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงเปลือกเท่านั้น.
[๒๗] นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การเกลียดบาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 73
ประทานวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงให้ข้าพระองค์ถึงยอดหรือถึงแก่นแห่งการเกลียดบาปด้วยตบะเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้สํารวมแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ๔ ประการเป็นอย่างไร ฯลฯ นิโครธะ เพราะว่า บุคคลผู้มีตบะ เป็นผู้สํารวมแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ จึงเป็นลักษณะของเขา เพราะความเป็นผู้มีตบะ เขารักษาศีลให้ยิ่ง ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เขาเสพเสนาสนะอันสงัด ฯลฯ เขาละนิวรณ์ ๕ เหล่านี้ อันเป็นอุปกิเลสแห่งใจ ที่ทําให้ปัญญาเสื่อมกําลัง มีใจประกอบด้วยเมตตาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ฯลฯ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกชาติได้ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ฯลฯ สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปและวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้นเรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้วได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกําหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศด้วยประการฉะนี้.
นิโครธะ เธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์.
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 74
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะบริสุทธิ์ ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์แน่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดถึงแก่น. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ การเกลียดบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดหรือถึงแก่นหามิได้ ที่แท้เป็นกิริยาที่ถึงกระพี้เท่านั้น.
[๒๘] นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็การเกลียดบาปด้วยตบะ เป็นกิริยาถึงยอดและถึงแก่น ด้วยเหตุเพียงเท่าไร ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงให้ข้าพระองค์ถึงยอดถึงแก่นแห่งการเกลียดบาปด้วยตบะเถิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ บุคคลผู้มีตบะในโลกนี้ เป็นผู้สํารวมแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ ฯลฯ เขาย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กําลังจุติ กําลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือกรรมคือมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือกรรมคือสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ดังนี้ เขาย่อมเห็นหมู่สัตว์กําลังจุติ อุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพพจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 75
ฉะนี้ นิโครธะ ท่านจะสําคัญความข้อนี้เป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะ จะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์.
นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ การเกลียดบาปด้วยตบะบริสุทธิ์ ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์แน่แท้ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่น.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ การเกลียดบาปด้วยตบะ เป็นกิริยาที่ถึงยอดและถึงแก่นด้วยเหตุเพียงเท่านี้ นิโครธะ ท่านได้กล่าวกะเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนําสาวกทั้งหลาย สาวกอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนําแล้ว ถึงความเบาใจ ย่อมรู้เฉพาะซึ่งอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นอัชฌาศัย ด้วยธรรมใด ธรรมนั้นคืออะไร นิโครธะ เราแนะนําสาวก สาวกอันเราแนะนําแล้ว ถึงความเบาใจ ย่อมรู้เฉพาะอาทิพรหมจรรย์ อันเป็นอัชฌาศัย ด้วยฐานะใด ฐานะนั้นยิ่งกว่า ประณีตกว่า ด้วยประการฉะนี้แล.
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนั้นแล้ว พวกปริพาชกเหล่านั้น เป็นผู้มีเสียงดังลั่นว่า ในข้อนี้ เรากับอาจารย์ยังไม่เห็น เราไม่รู้ยิ่งไปกว่านี้.
[๒๙] เมื่อใด สันธานคฤหบดีได้รู้แล้วว่า บัดนี้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์เหล่านี้ ตั้งใจฟังภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ตั้งโสตสดับตั้งจิตเพื่อรู้ทั่ว เมื่อนั้น สันธานคฤหบดีจึงได้กล่าวกะนิโครธปริพาชกว่า นิโครธะ ท่านได้กล่าวกะเราอย่างนี้แลว่า เอาเถิด คฤหบดี ท่านพึงรู้พระสมณโคดมจะทรงเจรจากับใคร สนทนากับใคร จะถึงความเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดกับใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมหายเสียใน
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 76
สุญญาคาร พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่ที่ประชุม ไม่สามารถเจรจา พระองค์ทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียว เหมือนโคตาบอดข้างเดียวเที่ยววนเวียน เสพที่อันสงัด ณ ภายใน ฉันใด พระปัญญาของพระสมณโคดม หายเสียในสุญญาคาร พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่ที่ประชุม ไม่สามารถเจรจา พระองค์ทรงเสพที่อันสงัด ณ ภายในอย่างเดียวฉันนั้น เอาเถอะ พระสมณโคดมเสด็จเข้ามาสู่ที่ประชุม พวกเราจะพึงหยามพระองค์ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น พวกเราจะบีบรัดพระองค์ เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น ท่านนิโครธะผู้เจริญ บัดนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เสด็จถึงที่นี่แล้ว ก็พวกท่านจงทําพระองค์ไม่ให้กล้าเสด็จเข้าสู่ที่ประชุม จงทําให้เป็นเหมือนโคตาบอดข้างเดียวเที่ยววนเวียน จงหยามพระองค์ด้วยปัญหาข้อเดียวเท่านั้น จงบีบรัดพระองค์ เหมือนบุคคลบีบรัดหม้อเปล่า ฉะนั้น เมื่อสันธานคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกเป็นผู้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้าซบเซา ไม่มีปฏิภาณ.
นิโครธปริพาชกสารภาพผิด
[๓๐] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่านิโครธปริพาชก เป็นผู้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ จึงตรัสกะนิโครธปริพาชกว่า นิโครธะ วาจานี้เธอกล่าวจริงหรือ. นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วาจานี้ข้าพระองค์กล่าวจริง ด้วยความเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ เธอจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เธอเคยได้ยินปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นอาจารย์และบุรพาจารย์ กล่าวกันมาอย่างนี้บ้างหรือว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ประชุมพร้อมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายกล่าวติรัจฉานกถา
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 77
ต่างๆ อยู่ คือ ราชกถา โจรกถา ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนท่านกับอาจารย์ในบัดนี้ หรือว่าท่านเคยได้ยินมาอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด ซึ่งมีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย มีลมพัดอ่อนๆ สมควรแก่การทํากรรมอันเร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้น เหมือนเราในบัดนี้. นิโครธปริพาชกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่เคยได้ยินปริพาชกผู้เฒ่าผู้แก่ เป็นอาจารย์และบุรพาจารย์กล่าวสืบกันมาว่า พระอรหันตสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้มีแล้วในอดีตกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายนั้น ประชุมพร้อมกันแล้ว มีเสียงดังลั่นอึกทึก ขวนขวายกล่าวติรัจฉานกถาต่างๆ อยู่อย่างนี้ คือ ราชกถา โจรกถา ฯลฯ เรื่องความเจริญและความเสื่อม ด้วยประการนั้นๆ เหมือนข้าพระองค์กับอาจารย์ในบัดนี้ ข้าพระองค์เคยได้ยินมาว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงเสพราวไพรในป่า เสนาสนะอันสงัด มีเสียงน้อย มีเสียงกึกก้องน้อย มีลมพัดอ่อนๆ สมควรแก่การทํากรรมอันเร้นลับของมนุษย์ สมควรแก่การหลีกเร้น เหมือนพระผู้มีพระภาคเจ้าในบัดนี้ อย่างนี้แล. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ ความคิดนี้ไม่มีแก่วิญูชนคนแก่นั้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ฝึกตนแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความฝึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้สงบแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความสงบ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้ข้ามได้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความข้าม พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ทรงดับสนิทแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความดับสนิท.
[๓๑] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว นิโครธปริพาชกได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ โทษที่ข้าพระ
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 78
องค์เป็นคนโง่ คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินแล้ว ข้าพระองค์จึงได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงยกโทษแก่ข้าพระองค์ เพื่อสํารวมต่อไป.
กถาว่าด้วยคุณของพระสัมมาสัมพุทธะ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นิโครธะ ความผิดที่ท่านผู้เป็นคนโง่ คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินแล้ว เธอจึงได้กล่าวกะเราอย่างนั้น เพราะเธอเห็นโทษแล้ว จึงยอมรับผิด เรายกโทษแก่เธอ ผู้ใดเห็นโทษ สารภาพโทษตามความเป็นจริง ถือความสังวรต่อไป นี้เป็นความเจริญในพระวินัยของพระอริยเจ้า นิโครธะ ก็เรากล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เราจะแสดงธรรม เขาปฏิบัติอยู่ตามคําสั่งสอน ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชโดยชอบ เพื่อประโยชน์อันใด จักกระทําให้แจ้งซึ่งประโยชน์อันนั้น อันมีพรหมจรรย์เป็นที่สุดอย่างยิ่ง ด้วยความรู้ยิ่งของตนเอง ในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่ตลอด ๗ ปี นิโครธะ เจ็ดปี จงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ฯลฯ เข้าถึงอยู่ตลอดหกปี ห้าปี สี่ปี สามปี สองปี ปีหนึ่ง นิโครธะ ปีหนึ่งจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ฯลฯ เข้าถึงอยู่ตลอดเจ็ดเดือน นิโครธะ เจ็ดเดือนจงยกไว้ ฯลฯ เข้าถึงอยู่ตลอดหกเดือน ห้าเดือน สี่เดือน สามเดือน สองเดือน หนึ่งเดือน กึ่งเดือน นิโครธะ กึ่งเดือนจงยกไว้ บุรุษผู้รู้ ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ฯลฯ เข้าถึงอยู่ตลอดเจ็ดวัน นิโครธะ แต่บางทีเธอจะพึงดําริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมตรัสอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ผู้ใดเป็นอาจารย์ของเธอได้อย่างนี้ ผู้นี้แหละจงเป็นอาจารย์ของเธอ นิโครธะ แต่บางทีเธอจะพึงดําริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอุเทศ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น อุเทศใดของเธอได้
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 79
อย่างนี้ อุเทศนั่นแหละจงเป็นอุเทศของเธอ นิโครธะ แต่บางทีเธอจะพึงดําริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เราเคลื่อนจากอาชีวะ จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ก็อาชีวะของเธอนั่นแหละ จงเป็นอาชีวะของเธอ นิโครธะ แต่บางทีเธอจะพึงดําริอย่างนี้ว่าพระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น อกุศลธรรมเหล่านั้นแหละ จงเป็นส่วนอกุศลของเธอกับอาจารย์ นิโครธะ แต่บางทีเธอจะพึงดําริอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมปรารถนาจะให้เรากับอาจารย์สงัดจากกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงตรัสอย่างนี้ ข้อนั้นเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น กุศลธรรมเหล่านั้นแหละ จงเป็นส่วนกุศลของเธอกับอาจารย์ นิโครธะ ด้วยประการอย่างนี้แล เรากล่าวอย่างนี้ เพราะใคร่ได้อันเตวาสิก หามิได้ เราปรารถนาจะให้เธอเคลื่อนจากอุเทศจึงกล่าวอย่างนี้ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้เคลื่อนจากอาชีวะ จึงกล่าวอย่างนี้ ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้เธอกับอาจารย์ตั้งอยู่ในอกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนอกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็หาไม่ ปรารถนาจะให้เธอกับอาจารย์สงัดจากกุศลธรรม ซึ่งเป็นส่วนกุศล จึงกล่าวอย่างนี้ ก็หาไม่ นิโครธะ ที่เราแสดงธรรมเพื่อให้ละอกุศลธรรมเหล่าใด อกุศลธรรมเหล่านั้นยังละไม่ได้ เศร้าหมอง สร้างภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นผล เป็นปัจจัยแก่ชาติ ชรา มรณะต่อไป ยังมีอยู่ เธอทั้งหลายผู้ปฏิบัติตามธรรมแล้ว จักละธรรมเป็นเครื่องเศร้าหมองได้ ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความผ่องแผ้วจักเจริญยิ่ง เธอทั้งหลายจักทําให้แจ้งซึ่งความบริบูรณ์แห่งมรรคปัญญา และความเป็นผู้ไพบูลย์ด้วยผลปัญญา เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในทิฏฐธรรมเข้าถึงอยู่
พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้า 80
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว พวกปริพาชกได้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ เหมือนถูกมารดลใจ ฉะนั้น.
ว่าด้วยมารดลใจพวกปริพาชก
[๓๒] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดําริว่า โมฆบุรุษ เหล่านี้ทั้งหมด ถูกมารใจบาปดลใจแล้ว ในพวกเขาแม้สักคนหนึ่ง ไม่มีใครคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิด พวกเราจักประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดม เพื่อความรู้ทั่วถึงบ้าง เจ็ดวันจักทําอะไร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบันลือสีหนาท ในปริพาชิการามของพระนางอุทุมพริกาแล้ว เหาะขึ้นไปในอากาศ ปรากฏอยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ. ทันใดนั้นเอง สันธานคฤหบดีเข้าไปในกรุงราชคฤห์ ด้วยประการฉะนี้.
จบ อุทุมพริกสูตร ที่ ๒