ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
การศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก เพราะเป็นการศึกษาสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณาแสดงไว้ เพื่ออนุเคราะห์ให้พุทธบริษัทได้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า
ถามว่า เพราะเหตุไร แม้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมไว้เป็นอันมากอย่างนั้น
แก้ว่า เพราะทรงประสงค์การอนุเคราะห์สัตว์ ๓ เหล่าฯ จริงอยู่ สัตว์มี ๓ เหล่า ด้วยอำนาจ ความหลงงมงายในนาม ๑ ในรูป ๑ และในนามและรูปทั้งสองนั้น ๑ ด้วยอำ นาจแห่งอินทรีย์แก่กล้า ๑ ไม่แก่กล้านัก ๑ อ่อน ๑ และด้วยอำนาจแห่งความชอบคำย่อ ๑ ชอบคำปานกลาง ๑ ชอบคำ พิสดาร (ละเอียด) ๑
บรรดาสัตว์ ๓ จำพวกเหล่านั้น สัตว์ผู้งมงายในนาม จะรู้เข้าใจขันธ์ได้ เพราะแจกนามไว้ ๔ อย่างในขันธ์นั้นๆ
สัตว์ผู้งมงายในรูป จะรู้เข้าใจอายตนะได้เพราะแจกรูปไว้ ๑๐ อย่างกับอีกครึ่งอายตนะฯ (เพราะธัมมายตนะมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม)
สัตว์ผู้งมงายในนามและรูปทั้งสองจะรู้เข้าใจธาตุได้ เพราะแจกนามและรูป แม้ทั้งสองไว้ในจำพวกธาตุนั้นโดยพิสดารฯ
อายตนะ ๑๒
อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ คือ
จักขายตนะ ๑ รูปายตนะ ๑
โสตายตนะ ๑ สัททายตนะ ๑
ฆานายตนะ ๑ คันธายตนะ ๑
ชิวหายตนะ ๑ รสายตนะ ๑
กายายตนะ ๑ โผฏฐัพพายตนะ ๑
มนายตนะ ๑ ธัมมายตนะ ๑
อายตนะ คือ สภาพปรมัตถธรรมที่ประชุมกัน เมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะหนึ่งๆ ซึ่งจำแนกเป็นอายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖
ปสาทรูป ๕ และจิต ๑ เป็นอายตนะภายใน ๖ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ และปสาทรูป ๕ เป็นที่อาศัยให้จิตรู้อารมณ์ จึงเป็นภายในปรมัตถธรรมนอกจากนั้น เป็นภายนอกทั้งสิ้น
อายตนะ ๑๒ เป็นรูป ๑๐ อายตนะ + ครึ่ง (ธัมมายตนะ) คือ เป็นรูปอายตนะภายใน ๕ เป็นรูปอายตนะภายนอก ๕ + ครึ่งธัมมายตนะ (สุขุมรูป)
อายตนะ ๑๒ เป็นนาม ๑ อายตนะ + ครึ่ง (ธัมมายตนะ) คือ เป็นมนายตนะภายใน ๑ + ครึ่งธัมมายตนะ (เจตสิกและนิพพาน)
ธาตุ ๑๘
สภาพปรมัตถธรรมทั้งหมดเป็นธาตุแต่ละชนิด เมื่อประมวลตามทวาร ๖ เป็นธาตุ ๑๘ ดังนี้ คือ
จักขุธาตุ ๑ รูปธาตุ ๑ จักขุวิญญาณธาตุ ๑
โสตธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑
ฆานธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑
ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑
กายธาตุ ๑ โผฏฐัพพธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑
มโนธาตุ ๑ ธัมมธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๑
วิญญาณธาตุ ได้แก่จิต ๑๐ ดวง ที่รู้ได้แต่เฉพาะอารมณ์ของตนๆ เพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น
จักขุวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่รูปารมณ์อย่างเดียว
โสตวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่สัททารมณ์อย่างเดียว
ฆานวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่คันธารมณ์อย่างเดียว
ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่รสารมณ์อย่างเดียว
กายวิญญาณ ๒ ดวง รู้ได้แต่โผฏฐัพพารมณ์อย่างเดียว
มโนธาตุ ได้แก่จิต ๓ ดวง ที่รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ทางทวาร ๕ เท่านั้น มโนธาตุ ๓ ดวง คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง
มโนวิญญาณธาตุ เป็นจิตที่รู้อารมณ์ทางมโนทวารได้ และบางดวงก็รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารเลย มโนวิญญาณธาตุ ได้แก่จิต ๗๖ ดวง (เว้นทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง และมโนธาตุ ๓ ดวง)
ประมวลจิต ๘๙ เป็นวิญญาณธาตุ ๗ ประเภท คือ
จักขุวิญญาณธาตุ ๑
โสตวิญญาณธาตุ ๑
ฆานวิญญาณธาตุ ๑
ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑
กายวิญญาณธาตุ ๑
มโนธาตุ ๑
มโนวิญญาณธาตุ ๑
ฉะนั้น ควรพิจารณาว่าท่านเป็นผู้ที่งมงายในนามเท่านั้น หรือว่าเป็นผู้ที่งมงายในรูปเท่านั้น หรือว่าเป็นผู้ที่งมงายอยู่ทั้งในนามและรูป ถ้างมงายอยู่ทั้งในนามและรูป ก็จะต้องอาศัยการฟังพระธรรมและการศึกษาพระธรรมประการต่างๆ โดยละเอียด เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมทั้งหลายอย่างถูกต้อง เพื่ออบรมเจริญกุศลทุกประการ และเพื่อเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง
ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๘ มีว่า นามบัญญัติมี ๖ อย่าง คือ
๑. วิชชมานบัญญัติ เป็นคำบัญญัติเรียกสภาพธรรมที่มีจริง เช่นคำว่า รูป นาม เวทนา สัญญา เป็นต้น
๒. อวิชชมานบัญญัติ เป็นคำบัญญัติที่ไม่มีสภาพธรรม เช่น ไทย ฝรั่ง เป็นต้น ไทย ฝรั่งไม่มี มีแต่สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก และรูป ไทย ฝรั่ง เป็นสมมติ ไม่ใช่สภาวธรรม อกุศลจิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ไทย ฝรั่ง ฉะนั้น อกุศลจิตมี กุศลจิตมี แต่ไทย ฝรั่งไม่มี คำว่าไทย ฝรั่ง จึงเป็นอวิชชมานบัญญัติ
๓. วิชชมาเนนาวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี เช่นพูดว่า บุคคลชื่อว่าฉฬภิญญา เพราะอรรถว่ามีอภิญญา ๖ อภิญญามี แต่บุคคลไม่มี ฉะนั้น จึงเป็นบัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี
๔. อวิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น เสียงของผู้หญิง เสียงมีจริง แต่ผู้หญิงไม่มี
๕. วิชชมาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่มีกับสิ่งที่มี เช่น คำว่า จักขุวิญญาณ จักขุมีจริง เป็นจักขุปสาท วิญญาณมีจริงเป็นสภาพรู้
๖. อวิชชมาเนนาวิชชมานบัญญัติ บัญญัติสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่ไม่มี เช่น พระโอรสของพระราชา (พระโอรสและพระราชาเป็นสมมติบัญญัติ)
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ปรมัตถธรรมสังเขป
ขอเชิญอ่านตอนต่อไป ...
ความจริงแห่งชีวิต
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศลแด่ คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์
กรุณาขยายความด้วยค่ะ บวกครึ่งอายตนะ หมายความว่าอะไรคะ ยังอ่านไม่เข้าใจค่ะ
อายตนะ ๑๒ เป็นรูป ๑๐ อายตนะ + ครึ่ง (ธัมมายตนะ) คือ เป็นรูปอายตนะภายใน ๕ เป็นรูปอายตนะภายนอก ๕ + ครึ่งธัมมายตนะ (สุขุมรูป)
อายตนะ ๑๒ เป็นนาม ๑ อายตนะ + ครึ่ง (ธัมมายตนะ) คือ เป็นมนายตนะภายใน ๑ + ครึ่งธัมมายตนะ (เจตสิกและนิพพาน)
ขอบพระคุณค่ะ
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอายตนะทั้งหมด ๑๒ ประเภท คือ
อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
อายตนะภายใน เป็นรูปล้วนๆ ๕ เป็นนามล้วนๆ ๑
อายตนะภายนอก เป็นรูปล้วนๆ ๕ เป็นทั้งนามและรูป ๑
ดังนั้น อายตนะภายนอกจึงกล่าวว่า เป็นนามครึ่งหนึ่ง เป็นรูปครึ่งหนึ่ง เมื่อรวมอายตนะที่เป็นนาม จึงเป็นหนึ่งครึ่ง อายตนะที่เป็นรูปเท่ากับสิบครึ่ง ครับ
ขออนุโมทนาครับ
ธัมมายตนะ คือ นามธรรม และรูปธรรม ได้แก่อะไรบ้างคะ.?
ได้แก่ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ได้ยินจากวิทยุ รายการแนวทางเจริญวิปัสสนา เมื่อวันก่อน ประโยคหนึ่ง ท่านว่าอายตนะ มีโทษมาก แต่ก็มีคุณมาก
แต่มีเหตุที่ทำให้ไม่ได้ฟังคำอธิบายต่อจึงขอความกรุณา ช่วยขยายความด้วยค่ะ
อายตนะมีโทษ เพราะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเพราะอาศัยอายตนะ คือ การเห็น การได้ยินและรูป เป็นต้น ทำให้อกุศลธรรมเจริญ วัฏฏะทุกข์ยาวไกลต่อไป ส่วนคุณ (อัสสาท) ก็คือ สุขโสมนัสที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะ หรืออีกนัยหนึ่ง เพราะอาศัยการได้เห็นพระอริยะ การได้ฟังพระสัทธรรม จึงมีการประพฤติพรรมจรรย์ จึงพ้นจากวัฏฏะทุกข์นี้ได้ ...
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ