เรื่องบางเรื่อง ต่อให้เราอธิบายเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครเชื่อเรา เพราะเรื่องที่เราเจอมันบังเอิญ เกินกว่าที่คนอื่นจะเชื่อได้ และไม่เคยมีมาก่อน พอเราอธิบายก็ยิ่งไม่มีคนเชื่อ แถมยังถูกประนาม ว่าเป็นคนโกหก ยิ่งพยายามพิสูจน์ตัวเอง ก็ยิ่งกลายเป็นว่าเราร้อนตัว กลายเป็นแพะ แล้วจะทำอย่างไร แต่พอโกหก ทุกคนกลับเชื่อ มีคนๆ หนึ่งบอกว่า "ความจริงที่คนไม่เชื่อ เท่ากับโกหก"
ทุกคนคิดว่าอย่างไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความจริง เป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลงครับ ไม่ว่าจะว่าจริงหรือ ไม่จริง ว่าเราโกหก หรือ ไม่โกหก หากมีเจตนากล่าวคำจริง จะเปลี่ยนเป็นการโกหกไม่ได้ ดังนั้น จึง ไม่ใช่เป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า ความจริงที่คนไม่เชื่อ เท่ากับโกหก เพราะ การไม่เชื่อ นั่นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้มีผลที่จะเปลี่ยนสัจจะ ความจริงที่เป็น คำพูดที่จริงครับ แต่ประเด็นที่สำคัญ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ความจริง คำพูดที่จริง แม้รู้อยู่ ก็ ไม่ควรพูดความจริงทุกเรื่อง ครับ เพราะว่า ความจริงอะไรที่พูดแล้ว ไม่เกิดประโยชน์ คือ ไม่ทำให้ผู้อื่นและตนเองเกิดกุศลจิต ก็ไม่ควรพูด และความจริงนั้น จะต้องดูกาล เทศะ และคนที่จะพูดด้วย ว่า ควรพูดกับคนนั้นหรือไม่ และพูดแล้วเป็นประโยชน์ คือ เกิดกุศลกับตน และ เกิดประโยชน์กับผู้อื่นหรือไม่ครับ
อย่างเรื่องนี้ แม้พูดความจริงที่ยากจะเชื่อ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าคนอื่นยากที่จะเชื่อ และพูดไป ก็เท่ากับว่า ทำให้คนอื่นไม่เชื่อ และก็อาจว่าเราได้ ดังนั้น เมื่อรู้อยู่ แม้เป็นความจริง แต่ความจริงเหล่านี้ ที่ไม่เกิดประโยชน์ มีการไม่เชื่อ เป็นต้น ก็ไม่ควรพูดครับ
ดังนั้น เรื่องใดที่พูดแล้ว กุศลเจริญ อกุศลเสื่อม เรื่องนั้นควรพูด เรื่องใด พูดแล้ว อกุศลเจริญ ขึ้น ทั้งตนเองและผู้อื่น เรื่องนั้นไม่ควรพูด แม้จะจริงอย่างไรก็ตาม เพราะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ตนและผู้อื่นครับ แต่ถ้าเป้นเรื่องไม่จริง ไม่ควรพูดทั้งสิ้นครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ....
สิ่งที่ควรกล่าว และ สิ่งที่ไม่ควรกล่าว [สุตสูตร]
กล่าววาจาต่อหน้าและลับหลัง [อรณวิภังคสูตร]
ในพระไตรปิฎก ก็มีเรื่องราวที่พระโพธิสัตว์ ได้แสดงธรรม ว่า หากเรามีความทุกข์ หรือ แม้รู้เรื่องบางอบ่างที่เป็นความจริง หากรู้ว่าบอกกับคนนี้แล้ว จะทำให้เราหาย ทุกข์ได้ หรือ ทำให้คนนั้นเชื่อ ไม่ควรบอกเรื่องนั้นกับบุคคลที่ไม่เชื่อ หรือ ไม่สามารถ ทำให้หายทุกข์ได้ ครับ แต่ผู้ใด เมื่อบอกแล้ว เขาสามารถทำให้หายทุกข์ได้ เราควร บอกเรื่องนั้น เพราะทำให้เกิดประโยชน์กับเราครับ และต้องรู้จักกาลเวลาที่จะเล่าเรื่อง ด้วย ที่สำคัญที่สุดครับ ควรพิจารณาว่า เรื่องที่จะพูด แม้เป็นความจริง พูดแล้วเป็นประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นหรือไม่ คือ ทำให้กุศลเกิดเจริญขึ้นหรือ อกุศลเกิดเจริญขึ้น ดังนั้น ความจริงทุกเรื่อง แต่ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวทุกเรื่อง ตามเหตุผลที่กล่าวมาครับ
ขอเชิญสหายธรรมร่วมแสดงความคิดเห็นครับ
[เล่มที่ 60] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๖ - หน้าที่ 259
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงบำรุงรัฐกาสีให้เจริญ ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นแก่พระองค์ ผู้ใดไม่พึงเปลื้องทุกข์ จากพระองค์ได้ พระองค์อย่าได้ตรัสบอกความทุกข์ นั้นแก่ผู้นั้น. ผู้ใดพึงเปลื้องทุกข์ของบุคคลผู้เกิดทุกข์ได้ ส่วนเดียวโดยธรรม พึงบอกเล่าแก่ผู้นั้นได้โดยแท้. ผู้ใดถูกถามเนืองๆ ถึงทุกข์ของตน ย่อมบอก ในกาลไม่ควร ผู้นั้นย่อมมีแต่มิตรผู้แสวงหาประโยชน์ แต่ไม่ยินดีร่วมทุกข์ด้วย
บุคคลรู้กาลอันควร และรู้จักบัณฑิตผู้มีปัญญา มีใจร่วมกันแล้ว พึงบอกความทุกข์ทั้งหลายแก่บุคคล ผู้เช่นนั้น นักปราชญ์พึงบอกความทุกข์ร้อนแก่บุคคลอื่น พึงเปล่งวาจาอ่อนหวานมีประโยชน์
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
"ความจริงเป็นสื่งที่ไม่ตาย แต่คนที่พูดมักจะตาย ไหนๆ ก็จะต้องตาย แล้วทำไมไม่พูดความจริง" (จะตายกันอีกสักกี่ชาติ)
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 439
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน องค์ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
วาจานั้นย่อมเป็นวาจาที่กล่าวถูกกาล ๑
เป็นวาจาที่กล่าวเป็นจริง ๑
เป็นวาจาที่กล่าวอ่อนหวาน ๑
เป็นวาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์ ๑
เป็นวาจาที่กล่าวด้วยเมตตาจิต ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาประกอบด้วยองค์ ๕ ประการนี้แล เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นทุพภาษิต และเป็นวาจาไม่มีโทษ วิญญูชนไม่ติเตียน”
(จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต วาจาสูตร)
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ เกี่ยวกับการพูด มีมากมายทีเดียว เป็นเครื่องเตือนที่ดีในชีวิตประจำวันว่า ควรที่จะมีความประพฤติเป็นไปทางวาจาอย่างไร การกล่าวเท็จ ไม่ควรโดยประการทั้งปวง รวมทั้งการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ด้วย ก็เป็นสิ่งที่ควรงดเว้นทั้งนั้น เพราะเป็นคำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูดและคนฟัง เป็นไปเพื่อความเพิ่มมากขึ้นซึ่งอกุศลธรรมเป็นโทษเป็นภัยแก่ตนเองโดยส่วนเดียว ตามความเป็นจริงแล้ว แม้เป็นเรื่องจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องพูดไปทุกเรื่อง ก็จะต้องมีการพิจารณาไตร่ตรองด้วยว่า สิ่งนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ละเอียดทีเดียว ไม่ได้สำคัญอยู่ที่คนอื่นจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่อยู่ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนมีการประพฤติเป็นไปตามการสะสม ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ
การพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์นั้น ไม่เป็นประโยชน์ทั้งคนพูด และ คนฟัง แม้จะเพียงเล็กน้อย ก็ไม่มีประโยชน์ จึงไม่ควรพูด แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าสิ่งที่จะพูดนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะพูด ยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การกล่าวธรรม ให้ข้อคิดเตือนใจที่ดีแก่ผู้อื่น เป็นต้น เพราะคำพูดอย่างนี้ เป็นคำพูดที่ประกอบด้วยประโยชน์ และมาจากจิตใจที่ดีงามอีกด้วย ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ความจริง คือ ความจริงไม่ใช่โกหก ความเชื่อคนที่เชื่ออาจเชื่อเรื่องจริงหรือโกหกก็ได้ดังนั้นก็คงมีความจริงที่คนไม่เชื่อเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ใช่ทุกคนที่จะสรุปว่า
"ความจริงที่คนไม่เชื่อ เท่ากับโกหก" ในการศึกษาธรรมะแยกสิ่งที่เป็นจริงและเท็จได้โดยเด็ดขาด ดังนั้น จริงคือจริง เท็จคือเท็จไม่ปนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องพูดแต่ความจริงทั้งหมด
วาจาที่กล่าวควรเป็นวาจาสุภาษิตประกอบด้ววยองค์ ๕ ตามที่ อ.คำปั่นกล่าวในความคิดเห็นที่ 4
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ตามความเป็นจริงแล้ว แม้เป็นเรื่องจริง ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องพูดไปทุกเรื่อง ก็จะต้องมีการ พิจารณาไตร่ตรองด้วยว่า สิ่งนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ หรือ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่ละเอียดทีเดียว ไม่ได้สำคัญอยู่ที่คนอื่นจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่อยู่ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน
ขออนุโมทนากับคำกล่าวนี้ของอาจารย์ครับ สาธุ
คิดว่าเราควรจะพูดในสิ่งที่ถูกต้องและที่เป็นจริงดีกว่า แต่ถ้าพูดความจริงแล้วทำให้ผู้อื่น เดือดร้อนก็อย่าพูดดีกว่า ถ้าเราพูดความจริงแล้วไม่มีใครเชื่อ ก็คงจะไปบังคับให้เขาเชื่อเราก็ไม่ได้ก็ต้องทำใจ สักวันหนึ่งความจริงนั้นก็คงจะปรากฏเองว่าเราพูดความจริง ส่วนคำที่โกหกนั้นพยายามอย่าพูดดีกว่า ถ้าเราโกหกแล้วไม่มีใครจับได้ก็รอดตัวไป แต่ ถ้าเขาจับได้เราจะกลายเป็นคนที่ไม่มีใครเชื่อถือเราเลย แต่ในบางครั้งเราก็จำเป็นต้อง โกหกเพื่อให้ผู้อื่นสบายใจและไม่ให้ผู้อื่นต้องทะเลาะกัน (ในส่วนนี้ก็ขอให้พูดให้น้อยที่สุด)
คนเราเชื่อตามที่ตนเองมีความรู้อยู่ แต่สิ่งที่ไม่รู้นั้นมีอีกมากมาย ดังนั้น เราจึงเลือกเชื่อ ตามที่เรามีความรู้อยู่เท่านั้น สิ่งที่นำเสนอบางทีก็เป็นความรู้ แต่บางทีก็เป็นแค่ความเชื่อ เฉพาะตนเท่านั้น คนอื่นเข้าใจไม่ได้ เขาจึงไม่เชื่อ
ขออนุโมทนาครับ