สนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ
ปฏิบัติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ก.ย. ๒๕๕๑
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบ คุณประเชิญคิดยังไงคะ คุณประเชิญกับคุณอรรณพ เคยอธิษฐานอะไรบ้างหรือเปล่า
อ.ประเชิญ จริงๆ ผมก็จะเรียนถามท่านอาจารย์อยู่เหมือนกัน เพราะคำว่า อธิษฐาน ในภาษาไทย กับภาษาในพระไตรปิฎกจริงๆ ต่างกันใช่ไหมครับ ในพระไตรปิฎกที่เป็นบารมี หรืออธิษฐาน ที่ท่านใช้จะต้องเป็นในกุศลเท่านั้น ใช่หรือเปล่าครับ
ท่านอาจารย์ ภาษาไทยเข้าใจว่า หมายถึงขอ เวลาอธิษฐาน ก็คือขอ บางคนอาจจะอธิษฐาน ขอเย็นนี้อย่าให้ฝนตก อะไรอย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมคะ แล้วแต่ว่าจะอธิษฐานอะไร นี่คือภาษาไทยที่เอาภาษาบาลีมาใช้ แต่ตามความหมายเดิม ก็คือความตั้งมั่น ทีนี้การตั้งมั่น มีใครคิดที่จะตั้งมั่นในอกุศลบ้าง คงไม่มีนะคะ
เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิต ซึ่งปกติเป็นอกุศล แล้วก็สามารถที่จะมีปัจจัยที่จะทำให้ตั้งมั่นคงเป็นกุศลขึ้น เพราะว่าจริงๆ แล้ว เกิดมาในภูมิที่มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มีอะไรปรากฎนะคะ ย่อมติด เพราะไม่รู้ความจริงของสิ่งนั้นซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่า เกิดมาก็มีแต่อกุศลมากมาย คงจะไม่ต้องการตั้งมั่นในอกุศลให้มากขึ้นๆ ใช่ไหม แต่ก็เห็นว่า สิ่งที่ดีกว่าธาตุที่เลว แม้เป็นธาตุที่ปานกลาง เป็นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดก็ยังดี
เพราะฉะนั้น การที่มีความเห็นถูก นี่เป็นความเห็นถูก ทำให้ตั้งมั่น มีปัจจัยที่จะทำให้กุศลเกิด ก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิด เพราะว่าทุกคนนี้ อปุญญ คือ อกุศลเป็นเดช มีกำลัง เพราะว่ายังไม่ทันทำอะไรเลย อกุศลก็เกิดแล้ว มีกำลังมากไหมคะ สะสมไว้มาก พร้อมทันที ที่ได้ยินเสียง อกุศลถึงเวลาเกิดได้ก็เกิด โดยไม่รั้งรอเลย
เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นความต่างกันของกุศลและอกุศล ผู้ที่มีปัญญาย่อมเห็นโทษของอกุศล และมีฉันทะ มีสัทธา ที่จะให้กุศลเกิดมากกว่าเพราะฉะนั้น เมื่อมีความตั้งมั่นอย่างนี้ จะกล่าวหรือไม่กล่าว จะขอหรือไม่ขอ จะพูดหรือไม่พูด แต่ความตั้งมั่น ย่อมสำคัญกว่า ไม่ใช่พูด แต่ไม่ค่อยตั้งใจเท่าไรหรอก ก็เพียงแต่อยากจะได้ ก็เลยขอ อย่างนั้นก็มีใช่ไหมคะ แล้วก็ของ่ายๆ ด้วย ขอนั้น ขอนี่ ไม่รู้ว่ามีเหตุจะให้เกิดตามที่ขอหรือเปล่า เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เมื่อวานนี้ มีใครอธิษฐานขอมาฟังธรรมบ้างไหมคะ มีไหมคะ
อ.ประเชิญ โดยภาษาอาจจะไม่มี แต่จริงๆ แล้วก็คือ มีความตั้งใจที่จะมา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจให้ถูกต้องไงคะ ว่าไม่ใช่ขอ แต่เป็นความตั้งมั่นทางฝ่ายกุศล เพราะว่าอกุศลมีปัจจัยที่จะเกิดมาก เพราะฉะนั้น ผลของกุศลทั้งหลาย ที่ไม่ต้องการในการติดข้องในรูป เสียง...โผฎฐัพพะ เพราะว่าไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความเห็นถูกก็ทำให้ผู้ที่เห็นประโยชน์ของธรรม ก็มีความตั้งมั่นยิ่งขึ้น ที่จะได้ฟัง ได้เข้าใจธรรม ขอได้ไหมคะ คุณอรรณพ ตอนกลางคืน กราบพระสวดมนต์แล้วขอหรือเปล่า
อ.อรรณพ ถ้าเป็นการขอด้วยโลภะ จะได้หรือไม่ได้ ก็ขึ้นกับกรรมและการสะสม บางคนเขาก็ขอเพื่อได้งาน ได้ตำแหน่ง จะได้เข้าเรียน จะได้สิ่งที่เขาอยากได้ ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็แล้วแต่จะเป็นไป หรือไม่เป็นไป ตามโลภะ ที่ขอ เพราะฉะนั้น อธิษฐานที่เป็นบารมี ไม่ได้หมายความอย่างนั้น แต่หมายถึงขณะที่มีความตั้งใจมั่น ในการที่จะเจริญกุศล ขณะที่มาฟังธรรม ขณะนี้มีอธิษฐานบารมีบ้างไหม มีในขณะไหน ขณะที่เห็นประโยชน์ ที่มีความตั้งใจมั่น ในครั้งแรกก็คงไม่มั่นเท่าไร เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น กุศลที่สัมปยุตด้วยปัญญา มีกำลังขึ้น ความตั้งมั่น การตั้งใจมั่น จะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้น พอรู้แนวทางที่ถูกต้องก็มีสัทธา มีความมั่นคง ที่จะศึกษา อย่างที่ท่านอาจารย์ถามว่า ตอนกลางคืน จะต้องสวดมนต์ไหว้พระแล้ว ตั้งจิตอธิษฐานโดยการที่จะพูดออกมา หรือพูดในใจยาวๆ ก็ต้องพิจารณาว่าจิตขณะนั้นน่ะ เป็นอะไร เป็นโลภะหรือเปล่า ถ้าเป็นโลภะ จะเป็นบารมีได้อย่างไร เป็นความหวัง ขอ อยากได้
ท่านอาจารย์ หมายความว่า แม้ไม่ต้องพูด แต่มีความตั้งใจมั่น ขณะนั้นก็คือ ความหมายของ " อธิษฐาน " แล้วถ้าจะ เวลานี้ทุกคนต้องมีความตั้งมั่น บางอย่างในใจ ถูกต้องไหมคะ คุณกุลวิไลมีไหมคะ
อ.กุลวิไล เห็นประโยชน์ ของการศึกษาพระธรรม
สาธุ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
อธิษฐาน
ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศลทุกประการและอบรมปัญญา
ขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ สาธุ
หมายความว่า แม้ไม่ต้องพูด แต่มีความตั้งใจมั่น ขณะนั้น ก็คือ ความหมายของ "อธิษฐาน" ....เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ ขออนุโมทนาด้วยนะคะ....
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ