๗. คูถปาณกชาดก หนอนท้าช้างสู้
โดย บ้านธัมมะ  22 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 35645

[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 410

๗. คูถปาณกชาดก

หนอนท้าช้างสู้


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 410

๗. คูถปาณกชาดก

หนอนท้าช้างสู้

[๓๐๓] ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญ มาพบกับเราผู้กล้าหาญ อาจประหารได้ไม่ย่นย่อ มาซิช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัว หรือจึงได้หนีไป ขอให้พวกคนชาวอังคะ และมคธะได้เห็นความกล้าหาญ ของเรา และของท่านเถิด.

[๓๐๔] เราจักไม่ต้องฆ่าเจ้าด้วยเท้า งา หรือด้วยงวงเลย เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถ หนอนตัวเน่า ควรฆ่าด้วยของเน่าเช่นกัน.

จบ คูถปาณกชาดกที่ ๗

อรรถกถาคูถปาณกชาดกที่ ๗

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภภิกษุรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า สูโร สูเรน สงฺคมฺม ดังนี้.

ได้ยินว่า ในครั้งนั้นมีบ้านในนิคมแห่งหนึ่ง จากเชตวันมหาวิหารประมาณโยชน์กับหนึ่งคาวุต. ที่บ้านนั้นมีสลากภัตร และปักขิกภัตรเป็นอันมาก. มีบุรุษด้วนผู้หนึ่ง ชอบซักถาม


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 411

ปัญหาอยู่ที่บ้านนั้น. บุรุษนั้นถามปัญหาภิกษุหนุ่ม และสามเณรที่ไปรับสลากภัตร และปักขิกภัตรว่า พวกไหนดื่ม พวกไหนเคี้ยวกิน พวกไหนบริโภค ทำให้ภิกษุ และสามเณรเหล่านั้นไม่สามารถตอบปัญหาได้ ให้ได้อาย. ภิกษุ และสามเณรทั้งหลาย จึงไม่ไปบ้านนั้นเพื่อรับสลากภัตร และปักขิกภัตร เพราะเกรงบุรุษด้วนนั้น. อยู่มาวันหนึ่งภิกษุรูปหนึ่งไปโรงสลากถามว่า ท่านผู้เจริญ สลากภัตร หรือปักขิกภัตรที่บ้านโน้นยังมีอยู่ หรือ เมื่อภิกษุผู้เป็นภัตถุทเทสก์กล่าวว่า ยังมีอยู่ท่าน แต่ที่บ้านนั้นมีบุรุษด้วนคนหนึ่ง คอยถามปัญหา ด่าว่าภิกษุสามเณรที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงไม่มีใครอยากไปเพราะเกรงบุรุษด้วนนั้น จึงกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอจงให้ภัตรที่บ้านนั้นถึงผมเถิด ผมจักทรมานบุรุษนั้น ทำให้หมดพยศ จะทำให้หนีไปเพราะเห็นผมตั้งแต่นั้นเลย. ภิกษุทั้งหลายรับว่า ดีละ จะให้ภัตรที่บ้านนั้น ถึงแก่ท่าน ภิกษุนั้นจึงไปที่บ้านนั้นห่มจีวรที่ประตูบ้าน. บุรุษด้วนเห็นภิกษุนั้น ก็ปรี่เข้าไปหาดังแพะดุ กล่าวว่า สมณะจงแก้ปัญหาของข้าพเจ้าเถิด. ภิกษุนั้นกล่าวว่า อุบาสก ขอให้อาตมาเที่ยวบิณฑบาตในบ้าน รับข้าวยาคูมาศาลานั่งพักเสียก่อนเถิด. บุรุษด้วนเมื่อภิกษุนั้นรับข้าวยาคูแล้ว มาสู่ศาลานั่งพัก ก็ได้กล่าวเหมือนอย่างนั้น. ภิกษุนั้นก็ผัดว่า ขอดื่มข้าวยาคูก่อน ขอกวาดศาลานั่งพักก่อน ขอรับสลากภัตรมาก่อน ครั้นรับสลากภัตรแล้ว จึงให้บุรุษนั้นถือบาตร กล่าวว่า ตามมาเถิด เราจัก


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 412

แก้ปัญหาท่าน พาไปนอกบ้าน จีบจีวรพาดบ่า รับบาตรจากมือของบุรุษนั้น ยืนอยู่. บุรุษนั้นกล่าวเตือนว่า สมณะจงแก้ปัญหาของข้าพเจ้า. ภิกษุกล่าวว่า เราจะแก้ปัญหาของท่าน แล้วผลักโครมเดียวล้มลง โบยตีดังจะบดกระดูกให้ละเอียด เอาคูถยัดปาก ขู่สำทับว่า คราวนี้ตั้งแต่นี้ไป เราจะคอยสืบรู้ในเวลาที่ถามปัญหา ไรๆ กะภิกษุที่มาบ้านนี้. ตั้งแต่นั้นบุรุษด้วนเห็นภิกษุแล้วก็หนี. ครั้นต่อมา การกระทำของภิกษุนั้นได้ปรากฏขึ้นในหมู่สงฆ์. ภิกษุทั้งหลาย จึงประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า ดูก่อนอาวุโส ได้ยินว่า ภิกษุรูปโน้น เอาคูถใส่ปากบุรุษด้วน แล้วก็ไป. พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นจะรุกรานบุรุษด้วนด้วยคูถในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้เมื่อก่อนก็ได้รุกรานแล้วเหมือนกัน แล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.

ในอดีตกาล ชาวอังคะ และมคธทั้งหลาย ต่างก็ไปมาหาสู่ยังแว่นแคว้นของกัน และกัน. วันหนึ่งต่างเข้าไปอาศัยบ้านหลังหนึ่งที่พรมแดนของรัฐทั้งสอง ดื่มสุรา กินปลาเนื้อกันแล้ว ก็เทียมยานออกเดินทางแต่เช้าตรู่. ในเวลาที่ชนเหล่านั้นไปกันแล้ว หนอนกินคูถตัวหนึ่งได้กลิ่นคูถจึงมา เห็นสุราที่เขาทิ้งไว้ตรงที่นั่งกัน จึงดื่มด้วยความกระหาย ก็เมาไต่ขึ้นบนกองคูถ. คูถสดๆ ก็ยุบลงหน่อยหนึ่ง เมื่อหนอนไต่ขึ้นไป. หนอนนั้นก็ร้องว่า


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 413

แผ่นดินทานตัวเราไปไม่ได้. ขณะนั้นเองช้างตกมันตัวหนึ่งมาถึงที่นั้นได้กลิ่นคูถแล้วรังเกียจก็หลีกไป. หนอนเห็นช้างนั้นแล้ว เข้าใจว่า ช้างนี้กลัวเราจึงหนีไป เราควรจะทำสงครามกับช้างนี้ จึงร้องเรียกช้างนั้น กล่าวคาถาแรกว่า :-

ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญ มาพบกับเราผู้กล้าหาญ อาจประหารได้ไม่ย่นย่อ มาซิช้าง ท่านจงกลับมาก่อน ท่านกลัว หรือจึงได้หนีไป ขอให้พวกชาวอังคะ และมคธะได้เห็นความกล้าหาญของเรา และของท่านเถิด.

เนื้อความแห่งคาถานี้ว่า ท่านก็เป็นผู้กล้าหาญมาพบกับเราผู้กล้าหาญ ผู้ไม่ย่อท้อทางความเพียร บากบั่น เป็นนักต่อสู้ เพราะสามารถในทางสู้รบ เหตุใดจึงไปเสียไม่ประสงค์การสงครามเล่า. การประหารกันสักทีเดียว ก็ควรกระทำมิใช่ หรือ. เพราะฉะนั้น ดูก่อนช้าง จงมาเถิด จงกลับก่อน ท่านกลัวตายด้วยเหตุเพียงเท่านั้น จะกลัวหนีไปเทียว หรือ ชาวอังคะ และมคธทั้งหลายผู้อยู่พรมแดนนี้ จงคอยดูความเก่งกาจ ความทรหดอดทนของเรา และของท่าน. ช้างนั้นแผดเสียงร้องได้ฟังคำของหนอนนั้นแล้ว จึงกลับไปหาหนอน เมื่อจะรุกรบหนอนนั้น ได้กล่าวคาถาที่ ๒ ว่า


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 เม.ย. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 414

เราจักไม่ต้องฆ่าเจ้าด้วยเท้า งา หรือด้วยงวงเลย เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถ หนอนตัวเน่า ควรฆ่าด้วยของเน่าเช่นกัน.

เนื้อความแห่งความคาถานั้นว่า เราจักไม่ฆ่าเจ้าด้วยเท้า เป็นต้น แต่เราจักฆ่าเจ้าด้วยคูถจึงสมควรแก่เจ้า ก็ และครั้นช้างกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงกล่าวต่อไปว่า สัตว์กินคูถเน่า ควรตายด้วยของเน่า.

ช้างจึงถ่ายคูถก้อนใหญ่ลงบนหัวหนอนนั้นแล้วถ่ายปัสสาวะรดยังหนอนให้ถึงแก่ความตายในที่นั้นเอง แผดเสียงเข้าป่าไป.

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดก. ตัวหนอนในครั้งนั้นได้เป็นบุรุษด้วนในครั้งนี้ ช้างได้เป็นภิกษุรูปนั้น ส่วนเทวดาผู้เกิดในไพรสณฑ์นั้น เห็นเหตุนั้นโดยประจักษ์ คือ เราตถาคตนี้แล.

จบ อรรถกถาคูถปาณกชาดกที่ ๗