ทรงธรรมหรือเปล่า?
โดย เมตตา  2 ธ.ค. 2567
หัวข้อหมายเลข 49028

[เล่มที่ 43] พ ระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้า 74 - 75

ลักษณะผู้ทรงธรรมและไม่ทรงธรรม

พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมากว่า "เป็นผู้ทรงธรรม" ส่วนผู้ใดเรียนคาถาแม้คาถาเดียวแล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย, ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทรงธรรม" ดังนี้แล้ว ตรัส พระคาถานี้ว่า:-

๓. น ตาวตา ธมฺมธโร ยาวตา พหุ ภาสติ โย จ อปฺปมฺปิ สุตฺวาน ธมฺมํ กาเยน ปสฺสติ ส เว ธมฺมธโร โหติ โย ธมฺมํ นปฺปมชฺชติ.

บุคคล ไม่ชื่อว่าทรงธรรม เพราะเหตุที่พูดมาก ส่วนบุคคลใด ฟังแม้นิดหน่อย ย่อมเห็นธรรมด้วยนามกาย, บุคคลใด ไม่ประมาทธรรม, บุคคลนั้นแล เป็นผู้ทรงธรรม.


[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๓ - หน้าที่ 142

ข้อความตอนหนึ่งจาก ...

อรรถกถาโกสิยเถรคาถา

บทว่า พหุสฺสุโต ความว่า ชื่อว่าเป็นพหูสูต ด้วยอำนาจความเป็นพหูสูตในทางปริยัติ ชื่อว่า พหุสสุตะ เพราะได้สดับสุตตะและเคยยะเป็นต้นมาก และชื่อว่าทรงไว้ซึ่งธรรม เพราะทรงธรรมนั้นนั่นแหละไว้ไม่ให้พินาศไป เหมือนน้ำมันเหลวแห่งราชสีห์ที่เขาใส่ไว้ในภาชนะทองคำ ฉะนั้น.


ท่านอาจารย์: ทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัส จะไม่พ้นจากปรารภแล้วปรารภอีก เพราะแค่นี้หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า? แค่นี้หรือเคารพ? แค่นี้หรือประพฤติตามธรรม? เห็นไหม แล้วจะไม่ปรารภแล้วปรารภอีกได้ไหม?

อ.วิชัย: ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะเข้าใจครับ อย่างการศึกษาพระธรรม บางท่านก็หลายสิบปี แต่ก็ยังรู้สึกว่า เป็นผู้ที่ยังฟังแล้วก็ต้องที่จะนึกถึงธรรมทุกครั้งที่ฟัง แต่ว่าหลังจากนั้น ก็ไม่ได้คิดถึงเลยครับ

ท่านอาจารย์: ทรงธรรมหรือเปล่า? ทุกคำ ความละเอียดลึกซึ้งมหาศาล คิดดู ๔ อสงไขยแสนกัปป์หลังจากที่ฟังคำพยากรณ์ ความละเอียดของธรรมต้องบำเพ็ญพระบารมีเพื่อที่จะรู้ความจริง และเมื่อรู้แล้วตรัสรู้แล้ว ตรัสว่า ธรรมลึกซึ้ง และทุกคำตรัสจากพระโอษฐ์ด้วยพระองค์เอง

พระองค์ทรงเป็นใคร แล้วเราเคารพโดยวิธีไหน? เคารพโดยไม่ฟังเลย ตรัสว่าอะไรก็ตรัสไปอย่างนั้นหรือ?

เพราะฉะนั้น แม้เดี๋ยวนี้ ทุกคำ ที่เรามาสนทนากัน ก็คือปรารภแล้วปรารภอีก เพื่อที่จะให้เข้าถึงความละเอียด ความจริง ความลึกซึ้งของธรรมนั้น นี่แหละ เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ.อรรณพ: เมื่อวานนี้ อ.วิชัย ก็สนทนาอีกครั้งในเรื่องของ ทรงธรรม ผมก็เลยไตร่ตรอง เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าไม่ตั้งต้นแล้วตั้งต้นอีก ปรารภแล้วปรารภอีก จะไปถึงการที่จะทรงธรรม คือมีความเข้าใจที่มั่นคงในความเป็นธรรมในทุกระดับตั้งแต่ระดับขั้นปริยิติ ก็เป็นไปไม่ได้

ท่านอาจารย์ครับ ปรารภแล้วปรารภอีกในขั้นปริยัติที่เป็นเบื้องต้นมีความละเอียดอย่างไรครับ

ท่านอาจารย์: เดี๋ยวนี้เข้าใจธรรมหรือเปล่า? เดี๋ยวนี้เลย พูดถึงเดี๋ยวนี้ อะไรเป็นธรรม?

อ.อรรณพ: สิ่งที่มีจริง

ท่านอาจารย์: เข้าใจหรือยัง?

อ.อรรณพ: ยังไม่ได้รู้แจ้งชัดอย่างนั้นครับ

ท่านอาจารย์: ก็ปรารภอีก

อ.อรรณพ: ครับ

ท่านอาจารย์: เราไม่คิดเอง ข้อผิด ก็คือฟังธรรมแล้วคิดเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่คิดเอง จะเห็นความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธรรมว่า เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างที่พระองค์ได้ตรัสไว้

อ.อรรณพ: ถ้าไม่ปรารภแล้วปรารภอีก ฟังแล้วก็ผ่านไปเลย เช่น ฟังก็ดูดีว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ก็รู้สึกว่าก็ดี

ท่านอาจารย์: ก็เลยไม่ต้องปรารภอีก แล้วจะรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม?

อ.อรรณพ: ไม่รู้จัก และไม่อาจที่จะทรงธรรมไว้ได้

ท่านอาจารย์: เพราะฉะนั้น แต่ละคำไม่คิดเอง เกินวิสัยของผู้ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะคิดเองแต่ละคำที่พระองค์ตรัส

อ.อรรณพ: เพราะฉะนั้น ข้อความนี้ซึ่งเราอาจจะไม่ปรารภแล้วปรารภอีก แม้ในข้อความว่า ปรารภแล้วปรารภอีก นี่คืออย่างไรใช่ไหม? มีข้อความนี้ในพระไตรปิฏกก็ผ่านไป แต่ถ้าในความละเอียดก็ปรารภแล้วปรารภอีกจริงๆ เพราะว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายากที่จะเข้าใจ และธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ก็ยิ่งยากที่จะเข้าใจ

ท่านอาจารย์: ยากแค่ไหน ทรงบำเพ็ญนานเท่าไหร่ กว่าจะได้รับคำพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งว่า ในอนาคตกาลอย่างเช่นพระองค์นี้ อีก ๔ อสงไขยแสนกัปป์ จะได้ตรัสรู้ถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทรงแสดงความจริง ทุกคำ เราก็ได้ยิน แล้วถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป์แล้วยังที่เราได้ยินมา เห็นไหม แค่นี้เราก็ประมาทแล้ว

ขอเชิญอ่านได้ที่..

พระอานนท์เถระเป็นพหูสูต ทรงธรรม [ขุททกนิกาย เถรคาถา]

ขอเชิญฟังได้ที่..

ทรงธรรมคืออย่างไร

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ

กราบยินดีในกุศลจิตของ อ.อรรณพ อ.วิชัย ด้วยความเคารพค่ะ