[เล่มที่ 49] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 37
๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
ว่าด้วยเปรตให้พรแก่ผู้ให้ทานแล้วอุทิศให้ตน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 49]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 37
๕. ติโรกุฑฑเปตวัตถุ
ว่าด้วยเปรตให้พรแก่ผู้ให้ทานแล้วอุทิศให้ตน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะพระเจ้าพิมพิสารว่า :-
[๙๐] เปรตทั้งหลายพากันมาสู่เรือนของตน แล้วยืนอยู่ภายนอกฝาเรือนที่ตรอก และทาง ๓ แพร่ง และยืนอยู่ที่ใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำ ของกิน ของบริโภคเป็นอันมาก เขาเข้าไปตั้งไว้แล้ว แต่ญาติไรๆ ของเปรตเหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เป็นปัจจัย เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ ย่อมให้น้ำและโภชนะอันสะอาด ประณีต สมควรแก่ญาติทั้งหลายตามกาล ดุจทานที่มหาบพิตรทรงถวายแล้วฉะนั้น ด้วยเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้แลจงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเราจงเป็นสุขเถิด ส่วนเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น พากันมาชุมนุมในที่นั้น เมื่อข้าวและน้ำมีอยู่เพียงพอ ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพว่า เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติของเราเหล่านั้นจงมีชีวิตอยู่ยืนนาน การบูชาเป็นอันพวกญาติได้ทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และญาติทั้งหลายผู้ให้ก็ไม่ไร้ผล เพราะในเปต
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 38
วิสัยนั้นไม่มีกสิกรรม ไม่มีโครักขกรรม การค้าขายเช่นนั้นก็ไม่มี การซื้อการขายด้วยเงินก็ไม่มี สัตว์ผู้ทำกาละจะไปในปิตติวิสัยนั้นย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่ญาติหรือมิตรให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ น้ำฝนอันตกลงในที่ดอน ย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้วย่อมยังสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน กุลบุตรเมื่อหวนระลึกถึงอุปการะที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า คนโน้นให้สิ่งของแก่เรา คนโน้นได้ทำอุปการะแก่เรา ญาติมิตรและสหายได้ให้สิ่งของแก่เรา และได้ช่วยทำกิจของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณาแก่เปรตทั้งหลาย ด้วยว่าความร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี ความร่ำไรอย่างอื่นก็ดี ไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย ญาติทั้งหลายย่อมดำรงอยู่อย่างนั้น อันทักษิณานี้แลที่ให้แล้ว เข้าไปตั้งไว้ดีแล้ว ในสงฆ์ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่เปรตนั้นโดย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 39
พลัน สิ้นกาลนาน ญาติธรรมมหาบพิตรได้แสดงให้ปรากฏแล้ว การบูชาอันยิ่งเพื่อเปรตทั้งหลาย มหาบพิตรทรงทำแล้ว และกำลังกายมหาบพิตรได้เพิ่มให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญมีประมาณไม่น้อยมหาบพิตรได้ทรงขวนขวายแล้ว.
จบ ติโรกุฑฑเปตวัตถุที่ ๕
อรรถกถาติโรกุฑฑเปตวัตถุที่ ๕
พระศาสดาเมื่อทรงประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ ทรงปรารภพวกเปรตเป็นอันมาก จึงตรัสพระคาถานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺนฺติ ดังนี้.
ในข้อนั้น มีกถาพิสดารดังต่อไปนี้ :- ในกัปที่ ๙๒ แต่ภัททกัปนี้ ได้มีนครหนึ่ง ชื่อว่า กาสี. พระราชาทรงประนามว่า ชัยเสน ทรงครองราชสมบัติในพระนครนั้น. พระองค์ได้มีพระราชเทวีทรงพระนามว่า สิริมา. พระโพธิสัตว์นามว่า ผุสสะ บังเกิดในพระครรภ์ของพระนางแล้วตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณโดยลำดับ. พระเจ้าชัยเสนเกิดความเห็นแก่ตัวขึ้นว่า บุตรของเราออกมหาภิเนกษกรมเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นของเรา พระธรรมเป็นของเรา พระสงฆ์ก็เป็นของเรา ดังนี้แล้ว ทรงอุปัฏฐากด้วยพระองค์เองทุกๆ กาล ไม่ทรงให้โอกาสแก่ชนเหล่าอื่น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 40
พี่น้อง ๓ คน ผู้ต่างมารดากัน เป็นพระกนิฐภาดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พากันคิดว่า ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมอุบัติเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งมวล มิใช่เพื่อประโยชน์เฉพาะบุคคลผู้เดียว และพระบิดาของพวกเราก็ไม่ย่อมให้โอกาส แก่ชนเหล่าอื่นเลย ทำอย่างไรหนอพวกเราจะพึงได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์. พี่น้องทั้ง ๓ พระองค์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เอาเถิด พวกเราจะทำอุบายสักอย่างหนึ่งให้ได้. พี่น้อง ๓ พระองค์เหล่านั้นได้สร้างสถานการณ์ชายแดน ประหนึ่งว่า เกิดการปั่นป่วน. แต่นั้น พระราชาทรงสดับว่า แถบชายแดน เกิดความปั่นป่วน จึงได้ส่งพระโอรสทั้ง ๓ พระองค์ไปปราบปัจจันตชนบท. พี่น้อง ๓ พระองค์เหล่านั้น ไปปราบให้ปัจจันตชนบท สงบแล้วกลับมา. พระราชาทรงพอพระทัย ได้ประทานพรว่า พวกลูกปรารถนาสิ่งใด ก็จงถือเองสิ่งนั้นเถิด. พี่น้องทั้ง ๓ พระองค์นั้นกราบทูลว่า ข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า. พระราชาตรัสว่า เว้นพระผู้มีพระภาคเจ้านี้เสีย เธอจงเลือกเอาอย่างอื่นเถิด. พี่น้อง ๓ พระองค์นั้นกราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่ต้องการสิ่งอื่น. พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น พวกเธอจงกำหนดเวลามาแล้วถือเอาเถิด. พี่น้อง ๓ พระองค์นั้นทูลขอถึง ๗ ปี พระราชาไม่ทรงอนุญาต. พี่น้อง ๓ พระองค์กราบทูลว่า ขอ ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน จนกระทั่งขอเพียง ๓ เดือน ด้วยประการฉะนี้. ในกาลนั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 41
พระราชาได้ทรงอนุญาตว่า จงถือเอาเถิด.
พี่น้อง ๓ พระองค์นั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับการอยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือนนี้แก่ข้าพระองค์เถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับด้วยดุษฎีภาพ. พี่น้อง ๓ พระองค์นั้นจึงส่งลิขิตไปถึงนายเสมียนในชนบทของตนว่า พวกเราพึงอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือนนี้, ขอท่านจงจัดแจงสัมภาระสำหรับอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกอย่าง เริ่มตั้งแต่วิหารไป. นายเสมียนนั้นได้จัดแจงทุกอย่างแล้ว ส่งลิขิตตอบไป. พี่น้อง ๓ พระองค์นั้นต่างนุ่งผ้ากาสายะ พร้อมกับบุรุษ ๑,๐๐ คน ผู้ทำการขวนขวายได้พากันอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า และภิกษุสงฆ์โดยเคารพ นำไปยังชนบท มอบถวายวิหารให้อยู่จำพรรษา.
บุตรคฤหบดีคนหนึ่งผู้เป็นภัณฑาคาริกของพี่น้อง ๓ พระองค์ นั้น พร้อมด้วยภริยาเป็นผู้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส. เขาได้ถวายทานวัตรแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานโดยเคารพ. นายเสมียนในชนบท พาเขาไปพร้อมกับชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ได้ให้ทานเป็นไปโดยเคารพทีเดียว. ในคนเหล่านั้น ชาวชนบทบางพวกได้เกิดขัดใจกันขึ้น. เขาเหล่านั้นจึงพากันทำอันตรายแก่ทาน พากันกินไทยธรรมด้วยตนเอง และเอาไฟเผา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 42
โรงครัว. ราชบุรุษผู้ปรารถนาแล้วก็พากันทำสักการะแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นำพระผู้มีพระภาคเจ้าไว้เบื้องหน้าแล้วกลับ มาหาบิดาตามเดิม. บรรดาท่านเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วก็ปรินิพพาน. ส่วนราชบุตร เสมียนในชนบท และผู้เป็นภัณฑาคาริกพร้อมด้วยบริษัททำกาละแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์ ตามลำดับ. เหล่าชนผู้ขัดใจกันก็พากันเกิดในนรก. เมื่อชนทั้ง ๒ พวกนั้น จากสวรรค์เข้าถึงสวรรค์ จากนรกเข้าถึงนรก ด้วยอาการอย่างนี้ผ่านไป ๙๒ กัป.
ครั้นในภัททกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ คนผู้ขัดใจกันเหล่านั้นเกิดในพวกเปรต. ในกาลนั้น พวกมนุษย์พากันให้ทานอุทิศเพื่อประโยชน์แก่พวกเปรตผู้เป็นญาติของตนว่า ขอทานที่ให้นี้จงสำเร็จแก่พวกญาติของพวกเราเถิด. เปรตเหล่านั้นได้เสวยสมบัติ. ลำดับนั้น เปรตเหล่านี้ได้เห็นดังนั้น จึงเข้าไปเฝ้าพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พวกข้าพระองค์จะพึงได้สมบัติเห็นปานนี้หรือไม่หนอ? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บัดนี้ท่านยังไม่ได้ แต่ในอนาคตจักมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า โคตม ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จักมีพระราชาทรงพระนามว่า พิมพิสาร, ใน ๙๒ กัปแต่ภัททกัปนี้ พระองค์ได้เป็นญาติของพวกท่าน พระองค์ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้ากลัวจักอุทิศแก่พวกท่าน. พวกท่านจักได้ในกาลนั้น. ได้ยินว่า เมื่อพระ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 43
กัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ พระดำรัสนั้นได้เป็นเหมือนตรัสแก่พวกเปรตเหล่านั้นว่า จักได้ในวันพรุ่งนี้.
ครั้นพุทธันดรหนึ่งผ่านไป พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราทรงอุบัติขึ้นแล้ว. ราชบุตรทั้ง ๓ แม้เหล่านั้น พร้อมด้วยบุรุษ ๑,๐๐๐ คน จุติจากเทวโลกแล้ว เกิดในสกุลพราหมณ์ ในมคธรัฐ พากันบวชเป็นฤาษีตามลำดับ ได้เป็นชฎิล ๓ พี่น้อง ณ คยาสีสประเทศ. นายเสมียนในชนบทได้เป็นพระเจ้าพิมพิสาร คฤหบดีบุตรผู้เป็นขุนคลัง ได้เป็นเศรษฐี ชื่อว่า วิสาขะ. ภริยาของคฤหบดีบุตรนั้นได้เป็นธิดาของเศรษฐี นามว่าธรรมทินนา. ฝ่ายคนนอกนั้นบังเกิดเป็นบริวารของพระราชานั่นเอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ของพวกเราก็ทรงอุบัติขึ้นในโลก ล่วงไป ๗ สัปดาห์ ก็เสด็จมายังกรุงพาราณสีโดยลำดับ ทรงประกาศธรรมจักร ทรงแนะนำตั้งต้นแต่พระปัญจวัคคีย์จนถึงชฎิล ๓ พี่น้อง พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน แล้วได้เสด็จไปยัง กรุงราชคฤห์. ก็ในบรรดาชนเหล่านั้น พระองค์ทรงให้พระเจ้าพิมพิสารผู้เข้าไปเฝ้าในวันนั้นนั่นเอง พร้อมกับพราหมณ์และคฤหบดีชาวอังคะและมคธะ ๑๑๐,๐๐๐ คน ให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. ลำดับนั้น พระราชาทรงนิมนต์ด้วยภัตเพื่อเสวย พระกระยาหารในวันพรุ่งนี้ พระองค์ทรงรับแล้วในวันที่ ๒ อันท้าวสักกะจอมเทพผู้แปลงเพศเป็นมาณพน้อยนำเสด็จไปชมเชย ด้วยพระคาถามีอาทิอย่างนี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 44
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงฝึกพระองค์แล้ว พ้นวิเศษแล้ว มีวรรณะเพียงดังว่าลิ่มทองสิงคี พร้อมด้วยปุราณชฎิลผู้ฝึกตนแล้ว ผู้พ้นวิเศษแล้ว ได้เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ดังนี้.
จึงเสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงรับมหาทานในพระราชนิเวศน์. ส่วนพวกเปรตเหล่านั้นได้พากันยืนล้อมด้วยหวังใจว่า บัดนี้ พระราชาจักอุทิศทานแก่พวกเรา. บัดนี้พระราชาจักอุทิศ.
พระราชาทรงถวายทานแล้ว ทรงพระดำริเฉพาะสถานที่ประทับอยู่ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจะพึงประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ดังนี้ จึงไม่ได้อุทิศทานนั้นแก่ใครๆ. พวกเปรตเมื่อไม่ได้ทานนั้นอย่างนั้น ก็สิ้นหวัง ในเวลากลางคืนจึงพากันส่งเสียงร้องอันน่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง ใกล้พระราชนิเวศน์. พระราชาทรงถึงความสังเวชอันน่าสะพึงกลัว น่าหวาดเสียว เมื่อราตรีผ่านไปจึงได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ได้สดับเสียงเห็นปานนี้, จักมีเหตุอะไรแก่ข้าพระองค์ พระเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่าทรงกลัวเลยมหาบพิตร จักไม่มีความชั่วช้าลามกอะไรแก่พระองค์ดอก อนึ่ง ญาติเก่าก่อนของพระองค์ที่เกิดในพวกเปรตก็มี, ญาติเหล่านั้นหวังจะพบเฉพาะพระองค์แต่ผู้เดียวถึงพุทธันดรหนึ่ง ท่องเที่ยวไปด้วยหวังใจว่า พระองค์ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้ว จักอุทิศแก่พวกเราบ้าง เพราะพระองค์ถวายท่านเมื่อวันวานแล้ว มิได้อุทิศจึงพากันสิ้นหวัง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 45
ส่งเสียงร้องเห็นปานนั้น. พระราชาตรัสถามว่า เมื่อหม่อมฉันถวายทานแม้ในบัดนี้ เปรตเหล่านั้นจะพึงได้รับหรือ พระเจ้าข้า? พระศาสดาตรัสว่า ได้ มหาบพิตร. พระราชากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดรับทานของข้าพระองค์เพื่อเสวยในวันนี้, ข้าพระองค์จักอุทิศแก่พวกเปรตเหล่านั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ด้วยดุษฎีภาพ.
พระราชาเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ ทรงให้จัดแจงมหาทานแล้ว ให้กราบทูลกาลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปยังพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ประทับนั่งบนอาสนะที่บรรจงจัดไว้. เปรตเหล่านั้นไปด้วยหวังว่า วันนี้ พวกเราจะพึงได้อะไรเป็นแน่ ดังนี้ จึงได้พากันยืนอยู่ในที่ต่างๆ มีภายนอกฝาเรือนเป็นต้น. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงการทำโดยที่พวกเปรตเหล่านั้นทั้งหมดมาปรากฏแด่พระราชา. พระราชาเมื่อจะทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก จึงอุทิศว่า ทานที่ข้าพเจ้าให้นี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติเถิด. ในบัดดลนั้นเอง สระโบกขรณีอันดาระดาษด้วยกลุ่มดอกกมลได้บังเกิดแก่พวกเปรต. เปรตเหล่านั้นพากันอาบและดื่มในสระ โบกขรณีนั้น ได้สงบระงับความกระวนกระวาย ความลำบาก และความกระหาย ได้เป็นผู้มีสีดั่งทองคำ. พระราชาถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว และของบริโภคแล้วอุทิศให้. ขณะนั้นนั่นเอง ข้าวยาคู ของเคี้ยวและอาหารอันเป็นทิพย์ก็บังเกิดแก่เปรต เหล่านั้น. เปรตเหล่านั้นพากันบริโภคข้าวยาคูเป็นต้นนั้นแล้ว ก็ได้เป็นผู้มีอินทรีย์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 46
กระปรี้กระเปร่า. ลำดับนั้น พระองค์ได้ถวายผ้า, ที่นอน, และที่นั่ง แล้วอุทิศให้. เครื่องประดับมีชนิดต่างๆ เช่น ผ้า ปราสาท เครื่องลาด และที่นอน เป็นต้น อันเป็นทิพย์ได้บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น. และสมบัติของเปรตเหล่านั้นทั้งหมดนั้นได้ปรากฏแก่พระราชา โดยประการที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานไว้. พระราชาทรง ทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงพอพระทัยยิ่งนัก. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสวยพระกระยาหารแล้ว ทรงห้ามภัตรแล้ว เพื่อจะทรงอนุโมทนาแก่พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้ตรัสติโรกุฑฑเปตวัตถุว่า
เปรตทั้งหลายพากันมาเรือนของตน แล้วยืนอยู่ภายนอกฝาเรือน ที่ตรอก กำแพง และทางสามแพร่ง และยืนอยู่ที่ใกล้บานประตู เมื่อข้าว น้ำ ของกิน ของบริโภคเพียงพอ เขาเข้าไปตั้งไว้แล้ว แต่ญาติไรๆ ของเปรตเหล่านั้นระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เป็นปัจจัย เหล่าชนผู้อนุเคราะห์ย่อมให้น้ำและโภชนะอันสะอาด ประณีต สมควรแก่ญาติทั้งหลายตามกาล ดุจทานที่มหาบพิตรถวายแล้วฉะนั้น ด้วยเจตนาอุทิศว่า ขอทานนี้แลจงสำเร็จผลแก่ญาติทั้งหลายของเรา ขอญาติทั้งหลายของเรา จงเป็นสุขเถิด ส่วนเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น พากันมาชุมนุมในที่นั้น เมื่อข้าวและน้ำมีอยู่เพียงพอ ย่อมอนุโมทนาโดย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 47
เคารพว่า เราได้สมบัติเพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด ขอญาติของเราเหล่านั้นจงมีอายุยืนนาน การบูชาเป็นอันพวกญาติได้ทำแล้วแก่เราทั้งหลาย และญาติทั้งหลายผู้ให้ก็ไม่ไร้ผล เพราะในเปตวิสัยนั้น กสิกรรมและโครักขกรรมไม่มี การ ค้าขายเช่นนั้นก็ไม่มี การซื้อการขายด้วยเงินตราก็ไม่มี สัตว์ทั้งหลายผู้ทำกาละละไปแล้วในเปรตวิสัยนั้น ย่อมยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่ทายกให้แล้ว จากมนุษยโลกนี้ น้ำฝนอันตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทานอันญาติ หรือมิตรให้แล้วจากมนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน ห้วงน้ำใหญ่เต็มแล้วย่อมยังสาครให้เต็มเปี่ยม ฉันใด ทานอันญาติหรือมิตรให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ย่อมสำเร็จผลแก่เปรตทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน กุลบุตร เมื่อหวนระลึกถึงอุปการคุณที่ท่านทำแล้วในกาลก่อนว่า คนโน้นได้ให้สิ่งของแก่เราแล้ว คนโน้นได้ทำอุปการคุณแก่เราแล้ว ญาติมิตรและสหายได้ให้สิ่งของแก่เราและได้ช่วยทำกิจของเรา ดังนี้ พึงให้ทักษิณาแก่เปรตทั้งหลาย ด้วยว่าการ ร้องไห้ก็ดี ความเศร้าโศกก็ดี การพิไรร่ำไรก็ดี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 48
ไม่ควรทำเลย เพราะการร้องไห้เป็นต้นนั้น ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่เปรตทั้งหลาย ญาติทั้งหลายก็คงดำรงอยู่อย่างนั้น อันทักษิณานี้แลที่ให้แล้ว ตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ย่อมสำเร็จเพื่อประโยชน์แก่เปรตนั้นโดยพลัน สิ้นกาลนาน. ญาติธรรม มหาบพิตรได้แสดงให้ปรากฏแล้ว การบูชาอันยิ่งเพื่อเปรตทั้งหลาย มหาบพิตรก็ ทรงกระทำแล้ว และพลังกายมหาบพิตรก็ได้เพิ่มให้แก่ภิกษุทั้งหลายแล้ว บุญมีประมาณไม่น้อย มหาบพิตรก็ได้ทรงขวนขวายแล้วแล.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ได้แก่ ที่ส่วนอื่นของฝา (เรือน). คำว่า ติฏฺนฺติ นี้ เป็นคำกำหนดการยืน โดย ปฏิเสธการนั่งเป็นต้น, อธิบายว่า ยืนอยู่ภายนอกประตูบ้าน กำแพง และฝาเรือน. บทว่า สนธิสงฺฆาฏเกสุ จ ได้แก่ ที่ตรอก ๔ แพร่ง และที่ทาง ๓ แพร่ง. บทว่า สนฺธิ ได้แก่ ตรอก ๔ แพร่ง. เรียก ที่ต่อเรือน ที่ต่อฝา และที่ต่อหน้าต่างก็มี. บทว่า สิงฺฆาฏกา ได้แก่ ตรอก ๓ แพร่ง. บทว่า ทฺวารพาหาสุ ติฏฺนฺติ ได้แก่ ยืนพิงฝา ประตูเมืองและประตูเรือน. บทว่า อาคนฺตฺวาม สกํ ฆรํ ความว่า เรือนของญาติในครั้งก่อนก็ดี เรือนที่ตนครอบครองโดยความเป็น เจ้าของก็ดี ชื่อว่าเรือนของตน เพราะเหตุที่พวกเปรตเหล่านั้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 49
มายังเรือนแม้ทั้งสองชนิดนั้น ด้วยความเข้าใจว่าเรือนของตน ฉะนั้น จึงตรัสว่า มายังเรือนของตน.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่พระราชาถึงพวกเปรตเป็นอันมาก ผู้มีรูปแปลกไม่น่าดู ทั้งดูน่าสะพึงกลัวอย่างยิ่ง ผู้เสวยผลของความริษยาและความตระหนี่ ผู้มายังพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร แม้ตนจะไม่เคยครอบครองอยู่ในกาลก่อน ด้วยสำคัญว่าเป็นเรือนของตน เพราะเป็นเรือนของญาติในกาลก่อน แล้วยืนอยู่ภายนอกฝาเรือนเป็นต้น ด้วยประการอย่างนี้ จึงตรัส คาถาว่า ติโรกุฑฺเฑสุ ติฏฺนฺติ เมื่อจะทรงแสดงซ้ำว่า กรรมที่พวกเปรตเหล่านั้นทำเป็นของโหดร้าย จึงตรัสคาถาที่ ๒ ว่า ปหูเต อนฺนปานมฺหิ ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปหูเต แปลว่า ไม่น้อย คือ มาก, อธิบายว่า เพียงพอแก่ความต้องการ. จริงอยู่ แปลง พ อักษร เป็น ป อักษรก็ได้ เหมือนในประโยคที่มีอาทิว่า ปหุ สนฺโต น ภราติ สัปบุรุษเป็นจำนวนมากย่อมไม่เต็ม (ด้วยความรู้). ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า พหุเก ดังนี้. ก็นั่นเป็นการกล่าวด้วยความเลินเล่อ. บทว่า อนฺนปานมฺหิ แปลว่า เมื่อข้าวและน้ำ. บทว่า ขชฺชโภชฺเช แปลว่า เมื่อของเคี้ยวและของบริโภค. ด้วยคำนี้ ทรงแสดงอาหารทั้ง ๔ ชนิดคือ ของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว และของลิ้ม. บทว่า อุปฏฺิเต แปลว่า เข้าไปตั้งไว้ คือ ตระเตรียมไว้, อธิบายว่า จัดแจงไว้. บทว่า น เตสํ โกจิ สรติ สตฺตานํ ความว่า ใครๆ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 50
จะเป็นมารดา บิดา บุตร หรือหลานก็ตาม ของสัตว์เหล่านั้น คือ ผู้เกิดในเปตวิสัยระลึกไม่ได้. ถามว่า เพราะเหตุไร? ตอบว่า เพราะกรรมเป็นปัจจัย, อธิบายว่า เพราะกรรมคือความตระหนี่ อันต่างโดยการไม่ให้และการปฏิเสธการให้เป็นต้น ที่ตนทำไว้เป็นเหตุ. กรรมนั้นแหละทำให้พวกญาติเหล่านั้นระลึกไม่ได้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงความไม่มีแม้แต่การหวนระลึกของพวกญาติเพราะผลกรรมของพวกเปรต ผู้หวังเฉพาะต่อพวกญาติ ในเมื่อข้าวและน้ำเป็นต้น แม้มีประมาณไม่น้อย ก็มีอยู่อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะทรงสรรเสริญทานที่พระราชาถวายอุทิศพวกญาติผู้เกิดในเปตวิสัย จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า เอวํ ททนฺติ าตีนํ ดังนี้เป็นต้น.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวํ เป็นคำอุปมา. บทว่า เอวํ นั้น เชื่อมความได้ ๒ ประการ คือ บรรดาญาติบางพวก แม้ที่ระลึกไม่ได้ เพราะกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย ญาติบางพวกผู้อนุเคราะห์อย่างนั้น ก็ย่อมให้แก่พวกญาติ และคือพวกญาติผู้อนุเคราะห์ ย่อมให้น้ำและข้าวอันสะอาด ประณีต อันสมควรตามกาลแก่ญาติทั้งหลาย เหมือนทานที่มหาบพิตรถวายแล้วฉะนั้น. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ททนฺติ แปลว่า ย่อมให้ คือ อุทิศให้ มอบให้. บทว่า าตีนํ ได้แก่ ชนผู้เกี่ยวเนื่องกัน ทางมารดาและบิดา. บทว่า เย ได้แก่ ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีบุตรเป็นต้น. บทว่า โหนฺติ แปลว่า ย่อมเป็น. บทว่า อนุกมฺปกา ได้แก่ ผู้ต้องการประโยชน์ คือ ผู้แสวงหาประโยชน์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 51
เกื้อกูล. บทว่า สุจึ ได้แก่ บริสุทธิ์ ชื่นใจ และประกอบด้วยธรรม. บทว่า ปณีตํ ได้แก่ โอฬาร. บทว่า. กาเลน ได้แก่ โดยกาลอันเหมาะสมแก่การบริโภคของพระทักขิไณยบุคคลทั้งหลาย หรือโดยกาลที่เปรตผู้เป็นญาติมายืนอยู่ที่ภายนอกฝาเรือนเป็นต้น. บทว่า กปฺปิยํ ได้แก่ ควร คือเหมาะสม ได้แก่ สมควรเพื่อการบริโภค. ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย. บทว่า ปานโภชนํ แปลว่า น้ำและข้าว. ก็ในที่นี้โดยการแสดงอ้างถึงบทว่า ปานโภชนะ นั้น พระองค์ตรัสถึงไทยธรรมทุกอย่าง.
บัดนี้ เพื่อจะแสดงประการอันเป็นเหตุ ชื่อว่าเป็นอันญาติให้แล้วแก่เปรตเหล่านั้น จึงตรัสกึ่งคาถาเบื้องต้น ด้วยคาถาที่ ๔ ว่า อิทํ โว าตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย ดังนี้เป็นต้น. กึ่งเบื้องต้นแห่งคาถาที่ ๔ นั้น พึงเชื่อมกับกึ่งเบื้องต้นแห่งคาถาที่ ๓ ว่า :-
ญาติผู้อนุเคราะห์ย่อมให้แก่พวกญาติ ด้วยเจตนาอุทิศอย่างนี้ว่า ขอทานนี้แลจงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงได้รับความสุขเถิด.
ด้วย เอวํ ศัพท์นั้น อันมีอาการเป็นอรรถว่า ญาติทั้งหลายย่อมให้โดยประการอย่างนี้ว่า ขอทานนี้แลจงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ไม่ให้โดยประการอื่น เป็นอันชื่อว่า กระทำการแสดงออกถึงอาการที่จะพึงให้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 52
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อิทํ เป็นบทแสดงออกถึงไทยธรรม. บทว่า โว เป็นเพียงนิบาต, เหมือน โว อักษร ในประโยคมีอาทิว่า เยหิ โว อริยา. บทว่า าตีนํ โหตุ แปลว่า จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายผู้เกิดในเปตวิสัย. แต่บางอาจารย์กล่าวว่า โน าตีนํ, อธิบายว่า แก่ญาติทั้งหลายของพวกเรา. บทว่า สุขิตา โหนฺตุ าตโย ความว่า พวกญาติผู้เข้าถึงเปตวิสัยเหล่านั้น เมื่อเสวยผลนี้ คือ จงมีความสุข ได้แก่ ได้รับความสุข.
เพราะเหตุที่กรรมอันบุคคลอื่นกระทำ แม้ในเมื่อพวกญาติกล่าวว่า ขอทานนี้แล จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย ดังนี้ ย่อมไม่ให้ผลแก่คนอื่น ก็สิ่งนั้นที่เขาให้อุทิศอย่างนั้น ล้วนเป็นปัจจัยแก่กุศลกรรมแก่พวกเปรตผู้เป็นญาติ ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงประการที่กุศลกรรมอันบังเกิดผลแก่เปรตเหล่านั้นในที่นั้น คือ ในขณะนั้นนั่นเอง จึงตรัส คำมีอาทิว่า เต จ ตตฺถ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เต ได้แก่ เปรตผู้เป็นญาติ. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในที่ที่พวกญาติให้ทาน. บทว่า สมาคนฺตฺวา ได้แก่ เป็นผู้ประชุมกันในที่นั้นเพื่ออนุโมทนาว่า พวกญาติเหล่านี้ของพวกเราอุทิศทานเพื่อประโยชน์แก่พวกเรา. บทว่า ปหูเต อนฺนปานมฺหิ ได้แก่ เมื่อสิ่งของนั้นที่พวกญาติให้อุทิศตน. บทว่า สกฺกจฺจํ อนุโมทเร ความว่า เชื่อกรรมและผลของกรรม ไม่ละความยำเกรง เป็นผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมบันเทิงใจ ย่อมเบิกบานใจ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 53
เกิดปีติโสมนัสขึ้นว่า ขอทานของพวกเรานี้จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ สุขเถิด.
บทว่า จิรํ ชีวนฺตุ ได้แก่ ขอจงมีชีวิตยืนนาน คือมีอายุยืนนาน. บทว่า โน าตี ได้แก่ ญาติทั้งหลายของพวกเรา. บทว่า เยสํ เหตุ ได้แก่ เพราะเหตุแห่งญาติเหล่าใด คือ เพราะอาศัยญาติเหล่าใด. บทว่า ลภามเส ความว่า ย่อมได้สมบัติเช่นนี้. จริงอยู่ บทนี้เป็นบทแสดงอาการที่พวกเปรตผู้เสวยสมบัติที่ได้ด้วยการอุทิศชมเชยพวก ญาติของตน. จริงอยู่ ทักษิณาย่อมบังเกิดผลแก่พวกเปรตในขณะนั้น ด้วยองค์ ๓ ประการคือ ด้วยตนอนุโมทนา ๑ ด้วยทายกอุทิศให้ ๑ ด้วยการถึงพร้อมด้วยพระทักขิไทยบุคคล ๑. ในองค์ทั้ง ๓ นั้น ทายกเป็นเหตุพิเศษ. เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เยสํ เหตุ ลภามเส ดังนี้เป็นต้น.
บทว่า อมฺหากญฺจ กตา ปูชา ความว่า การบูชาเป็นอันทายกผู้อุทิศให้อย่างนี้ว่า ขอทานนี้แลจงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายเถิด กระทำแก่พวกเรา และทายกเหล่านั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ไร้ผล เพราะให้ผลในสันดานเป็นที่บังเกิดแห่งกรรมอันสำเร็จด้วยการบริจาคนั้นนั่นแล.
ก็ในข้อนี้มีผู้ท้วงถามว่า ก็เฉพาะพวกญาติผู้เข้าถึงเปตวิสัยย่อมได้เหตุสมบัติเท่านั้นหรือ หรือว่าคนอื่นก็ได้. ก็ในข้อนี้ พวกเราไม่จำต้องกล่าว เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้แล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 54
สมจริงดังพระดำรัสที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน (ทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย) ว่า :-
ชานุสโสณีพราหมณ์ทูลถามว่า "ท่านพระโคดมผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าได้นามว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน ย่อมทำบุญด้วยเชื่อว่า ทานนี้จงสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วจงบริโภคทานนี้. ท่านโคดมผู้เจริญ ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วละหรือ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นย่อมได้บริโภคทานนั้นละหรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จในฐานะอันควรแล ย่อมไม่สำเร็จในฐานะที่ไม่ควร.
ชานุสโสณี. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ฐานะที่ควรเป็นไฉน ฐานะที่ไม่ควรเป็นไฉน?
พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ บุคคลนั้นเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมยังอัตตภาพให้เป็นไปในนรกนั้น เขาตั้งอยู่ในนรกนั้นด้วยอาหารของพวกสัตว์นรก ดูก่อนพราหมณ์ นี้แลเป็นฐานะอันไม่สมควร ไม่เป็นที่สำเร็จแห่งทานแก่ผู้สถิตอยู่เลย.
ดูก่อนพราหมณ์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ. เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เขาย่อมยังอัตตภาพให้เป็นไปในกำเนิดสัตว์
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 55
ดิรัจฉานนั้น ตั้งอยู่ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้นด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน. ดูก่อนพราหมณ์ นี้แล ก็จัดเป็นฐานะอันไม่สมควร ไม่เป็นที่สำเร็จแห่งทานแก่ผู้สถิตอยู่เลย.
ดูก่อนพราหมณ์ ก็บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากปาณาติปาต ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกมนุษย์ ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเทวโลกนั้นด้วยอาหารของเทวดา ดูก่อนพราหมณ์ แม้นี้ก็เป็นฐานะอันไม่สมควร ไม่เป็นที่สำเร็จแห่งทานแก่ผู้สถิตอยู่เลย. ดูก่อนพราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ทำปาณาติบาต ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงเปตวิสัย เขาย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในเปตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปตวิสัยนั้นด้วยอาหารของเหล่าสัตว์ผู้เกิดในเปตวิสัยนั้น ก็หรือว่าย่อมยังอัตภาพให้เป็นไปในเปตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปตวิสัยนั้น ด้วยปัตติทานมัย ที่พวกมิตร อำมาตย์ หรือพวกญาติสาโลหิตของเขาเพิ่มให้จากมนุษยโลกนี้, ดูก่อนพราหมณ์ นี้แลเป็นฐานะอันสมควร อันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่ผู้ สถิตอยู่แล.
ชานุสโสณีพราหมณ์. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้วนั้น ย่อมไม่เข้าถึงฐานะอันสมควรนั้นไซร้ ใครเล่าจะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 56
บริโภคฐานะอันสมควรนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดูก่อนพราหมณ์ พวกญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้วแม้เหล่าอื่น ของเขาย่อมเข้าถึงฐานะอันสมควรนั้น ญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้วเหล่านั้นย่อมบริโภคฐานะอันควรนั้น. ชานุสโสณีพราหมณ์. ท่านโคดมผู้เจริญ ก็ถ้าญาติสาโลหิต ผู้ละไปแล้วนั้นนั่นแล ย่อมไม่เข้าถึงฐานะอันสมควรนั้นไซร้ ทั้งญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้ว แม้เหล่าอื่นของเขาก็ย่อมไม่เข้าถึงฐานะอันควรนั้น ใครเล่าจะบริโภคฐานะอันควรนั้น.
พระผู้มีพระภาคเจ้า. ดูก่อนพราหมณ์ นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาสแลที่จะพึงว่างจากญาติสาโลหิตผู้ละไปแล้ว โดยกาลนานเช่นนี้. ดูก่อนพราหมณ์ อนึ่ง ถึงทายกก็ย่อมเป็นผู้ไม่ไร้ผลแล.
บัดนี้ เพื่อจะทรงแสดงความไม่มีเหตุที่พวกผู้เกิดในเปรตวิสัยจะได้รับสมบัติ มีกสิกรรมและโครักขกรรมเป็นต้น อย่างอื่นในเปตวิสัยนั้น และการยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่พวกญาติให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า น หิ ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิ ตตฺถ กสิ อตฺถิ ความว่า ในเปตวิสัยนั้น กสิกรรมที่พวกเปรตจะอาศัยเลี้ยงชีพอย่างสบาย ไม่มีเลย. บทว่า โครกฺเขตฺถ น วิชฺชติ ความว่า ในเปตวิสัยนั้น ไม่ใช่จะไม่มีแต่กสิกรรมอย่างเดียวเท่านั้น ถึงโครักขกรรมที่ พวกเปรตเหล่านั้นอาศัยเลี้ยงชีพอย่างสบายก็ไม่มีเช่นกัน. บทว่า วณิชฺชา ตาทิสี นตฺถิ ความว่า ถึงพาณิชยกรรมอันเป็นเหตุให้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 57
เปรตเหล่านั้นได้รับสมบัติก็ไม่มีเช่นกัน. บทว่า หิรญฺเน กยากยํ ความว่า ในเปตวิสัยนั้น แม้การซื้อขายด้วยเงินตรา อันจะเป็นเหตุให้เปรตเหล่านั้นได้รับสมบัติก็ไม่มีเช่นกัน. บทว่า อิโต ทินฺเนน ยาเปนฺติ เปตา กาลคตา ตหึ ความว่า อนึ่ง เปรตเหล่านั้นย่อมเลี้ยงชีพคือ ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยทานที่ญาติหรือมิตร อำมาตย์ ให้แล้วจากมนุษยโลกนี้อย่างเดียว. บทว่า เปตา ได้แก่ เหล่าสัตว์ผู้เกิดในเปตวิสัย. บทว่า กาลคตา ได้แก่ ผู้จะไปตามเวลาตายของตน. ปาฐะว่า กาลกตา ดังนี้ก็มี. ความว่า ผู้ทำกาละแล้ว คือ ผู้ตายไปแล้ว ได้แก่ ผู้ถึงมรณะ. บทว่า ตหึ ได้แก่ ในเปตวิสัยนั้น.
บัดนี้ เมื่อจะทรงประกาศความตามที่กล่าวแล้ว โดยอุปมา จึงตรัส ๒ คาถาว่า อุนฺนเม อุทกํ จุฏฺํ ดังนี้เป็นต้น. ความ ๒ คาถา นั้น มีอธิบายดังต่อไปนี้ :- ฝนตกลงในที่ดอน คือ ในประเทศที่ดอนย่อมไหลไปตามที่ลุ่ม คือ ย่อมไหลไปตามภูมิภาคที่ลุ่ม ฉันใด ทานที่พวกญาติให้จากมนุษยโลกนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมสำเร็จแก่พวกเปรต คือ ย่อมไม่พรากพ้นไปจากการเกิดผล. จริงอยู่ เปตโลกเป็นฐานะอันสมควร เพื่อการสำเร็จแห่งทานเหมือนที่ลุ่ม เป็นฐานะอันสมควรแก่การไหลไปแห่งน้ำ. สมจริงดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า ก่อนพราหมณ์ นี้แหละเป็นฐานะอันสมควร ซึ่งเป็นที่สำเร็จแห่งทานของผู้สถิตอยู่. อนึ่งทานที่พวกมนุษย์ให้แล้วแต่มนุษยโลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่พวกเปรต โดยนัยดังกล่าวแล้วในก่อน เหมือนห้วงน้ำ คือแม่น้ำใหญ่ เต็มด้วยน้ำที่ไหลมาจากซอกเขา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 58
ห้วงระแหง หนอง และบึงแล้ว ไหลบ่าไปเต็มสาครฉะนั้น.
เพราะเหตุที่เปรตทั้งหลายถูกความหวังครอบงำว่า พวกเราจะได้อะไรสักอย่างจากที่นี้ แม้มายังเรือนของญาติก็ไม่อาจขอร้องว่า ท่านทั้งหลายจงให้สิ่งชื่อนี้แก่พวกเรา ฉะนั้น เมื่อจะทรงแสดงว่า กุลบุตรเมื่อหวนระลึกถึงวัตถุที่ระลึกเหล่านี้ของญาติเหล่านั้น จึงพึงให้ทักขิณา จึงตรัสคาถาว่า อทามิ เม ดังนี้เป็นต้น
คำแห่งคาถานั้นมีอธิบายดังนี้ กุลบุตรเมื่อหวนระลึกถึงสิ่งนี้ทั้งหมดว่า คนโน้นให้ทรัพย์หรือธัญญาหารชื่อนี้แก่เรา คนโน้นถึงความพยายามด้วยตนเอง ได้กระทำกิจชื่อนี้แก่เรา คนโน้นชื่อว่าเป็นญาติเพราะเกี่ยวพันทางฝ่ายมารดาหรือบิดาของเรา คนโน้นชื่อว่าเป็นมิตร เพราะสามารถรักษาด้วยอำนาจความสิเนหา คนโน้นชื่อว่าเป็นสหายเพื่อนเล่นฝุ่นด้วยกันของเรา จึงพึงให้ทักษิณา คือพึงมอบให้ทานแก่เปรตทั้งหลาย. บาลีว่า ทกฺขิณา ทชฺชา ดังนี้ก็มี. แปลว่า พึงให้ทักษิณาแก่เปรตทั้งหลาย. ด้วย บทว่า ทกฺขิณา ทชฺชา นั้น ท่านกล่าวอธิบายว่า กุลบุตรเมื่ออนุสรณ์ คือ หวนระลึกถึงอุปการะที่ญาติกระทำไว้ในกาลก่อน โดยนัยมีอาทิว่า คนโน้นได้ให้เรา. จริงอยู่ บทว่า อนุสฺสรํ นี้เป็นปฐมาวิภัติใช้ในอรรถแห่งตติยาวิภัติ.
เมื่อจะทรงแสดงว่า ก็สัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีทุกขธรรม มีความร้องไห้และความเศร้าโศกเป็นต้น เป็นเบื้องหน้า เพราะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 59
ความตายของญาตินั่นเอง คงดำรงอยู่ ไม่ให้อะไรๆ แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ทุกขธรรมมีความร้องไห้และความเศร้าโศก เป็นต้น นั้นของสัตว์เหล่านั้นเป็นเพียงทำตนให้เดือดร้อนอย่างเดียวเท่านั้น ทุกขธรรมมีความร้องไห้และความเศร้าโศกเป็นต้นนั้น ย่อมไม่ยังประโยชน์อะไรๆ ให้สำเร็จแก่เปรตทั้งหลาย จึงตรัสคาถาว่า น หิ รุณฺณํ วา ดังนี้ เพื่อจะทรงแสดงย้ำถึงทักษิณาที่พระเจ้ามคธถวายว่ามีประโยชน์ จึงตรัสความของคำเหล่านั้นมีอาทิว่า อยญฺจ โข ดังนี้ในภายหลัง.
เพราะเหตุที่พระราชาเมื่อทรงถวายทักษิณานี้ ชื่อว่าแสดงออกถึงญาติธรรม โดยกระทำกิจที่พวกญาติพึงกระทำแก่พวกญาติให้ปรากฏแก่ชนเป็นอันมาก คือทรงกระทำการแสดงออกให้ปรากฏว่า แม้ท่านทั้งหลายก็พึงบำเพ็ญญาติธรรมในญาติทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยอาการอย่างนี้แหละ. อนึ่ง เมื่อพระองค์ทำให้พวกเปรตเหล่านั้นได้รับทิพยสมบัติ ชื่อว่าทำการบูชาแก่เปรตทั้งหลายให้ยิ่ง, เมื่อให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้สำราญด้วยข้าวและน้ำเป็นต้น ชื่อว่าตามเพิ่มให้พลังแก่ภิกษุทั้งหลาย, เมื่อทำจาคเจตนาอันมีคุณมีการอนุเคราะห์เป็นต้น เป็นเครื่องประกอบให้เกิด ชื่อว่าทรงขวนขวายบุญหาประมาณมิได้ ฉะนั้น บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงทำพระราชาให้ร่าเริงด้วยคุณ ตามที่เป็นจริงเหล่านี้ จึงตรัสคาถาสุดท้ายว่า โส าติธมฺโม ดังนี้เป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้า 60
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า าติธมฺโม ได้แก่ การกระทำกิจที่พวกญาติพึงกระทำแก่พวกญาติ. บทว่า อุฬารา แปลว่า ให้แพร่หลายกว้างขวาง. บทว่า พลํ ได้แก่ กำลังกาย. บทว่า ปสุตํ แปลว่า สั่งสมแล้ว. ก็ในคำเหล่านี้ ด้วยคำว่า โส าติธมฺโม จ อยํ นิทสฺสิโต นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอ้างธรรมิกถากะพระราชา. จริงอยู่ การแสดงอ้างในที่นี้ หมายถึงการแสดงญาติธรรม. พระองค์ทรงชักชวนด้วยคำนี้ว่า และทรงกระทำการบูชาแก่พวกเปรตให้ยิ่ง. ก็การสรรเสริญในคำว่า ยิ่ง นี้ เป็น การชักชวนให้ทำการบูชาบ่อยๆ. ทรงให้อาจหาญด้วยคำนี้ว่า และทรงเพิ่มให้พลังแก่ภิกษุทั้งหลาย. จริงอยู่ ในที่นี้การเพิ่มให้พลังแก่ภิกษุทั้งหลาย เป็นการให้อาจหาญโดยการเพิ่มอุตสาหะในการเพิ่มให้พลังแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการอย่างนี้. ทรงให้ร่าเริงด้วยคำนี้ว่า พระองค์ชื่อว่าทรงขวนขวายบุญหาประมาณ มิได้. ในที่นี้ พึงทราบโยชนาอย่างนี้ว่า ก็ในที่นี้ การระบุถึงการประสพบุญ ก็คือการทำให้ร่าเริง โดยการสรรเสริญคุณตามความเป็นจริงของบุญนั้น.
ก็ในเวลาจบเทศนา ธรรมาภิสมัยได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ผู้มีใจสลดด้วยการพรรณนาโทษของการเกิดในเปตวิสัย ผู้เริ่มโดยอุบายอันแยบคาย. แม้ในวันที่ ๒ ก็ทรงแสดงติโรกุฑฑเทศนากัณฑ์นี้แหละ แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ธรรมาภิสมัย เช่นนั้นนั่นแหละได้มีด้วยอาการอย่างนี้ ถึง ๗ วันแล.
จบ อรรถกถาติโรกุฑฑเปตวัตถุที่ ๕